บทพิสูจน์9 ปี เส้นทางศาสตร์พระราชา สร้างทางรอดในทุกวิกฤต

ภาพ โคก หนอง นา โมเดล 9 ปี  โชว์ความสำเร็จในการทำตามศาสตร์พระราชา

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”(ตามรอยพ่อฯ) เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางตามเป้าหมายครบ 9 ปี นับตั้งแต่พ.ศ. 2556-2564 ที่ทางมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ร่วมมือกันนำแนวคิดในการนำศาสตร์พระราชา หรือ โคก หนอง นา โมเดล มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเผยแพร่ ต่อยอด  เผยแพร่แนวคิดเและวิธีการสู่เกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ สร้างพื้นฐานความศรัทธา  เพื่อนำไปสู่การลงมือปฏิบัติในการดำเนินชีวิตจริง   เป็นความสำเร็จเชิงประจักษ์  เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระดับประเทศต่อไป  

ตลอดระยะเวลา 9 ปี   ได้มีผู้เข้าอบรมและดูงานในศูนย์ฯของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ดำเนินงานในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำป่าสักจำนวนกว่า 489,984 คน และพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำอื่นๆ อีกกว่า 820,000 คน รวมกว่า 1,300,000 คน สู่การ สร้างครู และวิทยากร ในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในลุ่มน้ำป่าสักจำนวน 124 คน และพื้นที่นอกลุ่มน้ำป่าสักอีก 9 คน รวม 133 คน และสร้างศูนย์การเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ จำนวน 11 แห่ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก 8 แห่ง และนอกพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักจำนวน 3 แห่ง รวมถึงศูนย์เรียนรู้ดูงานอีกกว่า 70 แห่ง

ย้อนรอยภาพการร่วมมือร่วมใจที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท เชฟรอนฯ

การทำกิจกรรมในโค้งสุดท้ายของโครงการฯ ภายใต้แนวคิด “9 ปีแห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน” ได้พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่ของคนมีใจที่ทำแล้วเห็นผล แตกตัวไปทั่วไทย อาทิ เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี จ. นครราชสีมา และ โคกหนองนา โปรดปัน จ.พระนครศรีอยธุยา

นอกจากนั้น ประกาศบทสรุปความสำเร็จของโครงการฯ โดยประมวลผลผ่านการเสวนา ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีทร์ จ.สระบุรี ศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกในโครงการฯ  อีกทั้งยังมีกิจกรรมเสวนา ร้านค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปและผัก ผลไม้จากเกษตรกร ผลผลิตจากการลงมือทำตามศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมลูนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า โครงการฯ ได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนั้น 3 ปีแรก จึงต้องสร้างตัวอย่างความสำเร็จให้คนอื่นได้เห็น และเกิดความศรัทธาในศาสตร์พระราชา ในการลงมือแก้วิกฤตในแถบลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งมีการจัดการน้ำยากที่สุด ในทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน วัด โรงเรียน หรือพื้นที่อื่นๆก็สามารถนำไปประยุกต์ร่วมด้วยได้ ในระยะที่ 2  ชาวบ้านที่ทำสำเร็จจึงต้องพัฒนาเป็นครูหรือวิทยากร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการชวนชาวบ้านมาทำ เป็นหลักการแตกตัวทั่วไทย เกิดการป้อนความรู้ และเผยให้เห็นความจริงในการดำรงชีวิตพอเพียง ไม่ใช่เพียงแค่การทำเกษตร หรือแค่การทำโคก หนอง นาเท่านั้น เพราะศาสตร์พระราชาคือการนำแนวทางมาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตในพื้นที่ด้วย

ในระยะที่ 3 เป็นผลของสำเร็จที่เราได้เห็นการเปลี่ยนของสวนที่เข้าร่วมโครงการฯ เจ้าของสวนมีพลังสู่การเป็นผู้สอนให้เห็นเชิงประจักษ์ และการมีศูนย์การเรียนรู้ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลไปถึงในระดับนโยบายที่รัฐจะเล็งเห็นความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณพัฒนาแนวทางโคก หนอง นาโมเดล แม้ว่าจะครบวาระ 9 ปี แต่ศาสตร์พระราชายังคงอยู่ได้ แม้ในภาวะโควิด19 หรือในภาวะที่เกิดสงคราม ซึ่งอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นการขับเคลื่อนองค์ความรู้ยังคงดำเนินต่อไป


ในปีที่ 9ของโครงการตามรอยศาสตร์พระราชา โคกหนองนาโมเดลนี้   บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  ที่ให้การสนับสนุนโครงการนับตั้งแต่เริ่มแรก ได้ประกาศว่าจะเป็นปีสุดท้ายของการสนับสนุนโครงการ  ประเด็นนี้ ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการในปีต่อไป หรือการก้าวสู่ปีที่ 10 อาจมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เข้ามาสานต่อโครงการตามศาสตร์พระราชา

อาทิตย์ กริธพิพรรธ์ จากเชฟรอนฯ องค์กรหลักที่สนับสนุนยาวนาน

อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ระยะเวลา 9 ปี โดยที่ผ่านมา ของการเผยแพร่ศาสตร์พระราชา ได้เห็นผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของโครงการฯ ที่ได้เข้าไปช่วยในการให้ความรู้ สร้างตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับคนกว่าล้านคนทั่วประเทศ ทั้งการอนุรักษ์ การอยู่ร่วมกับป่า การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ สู่การสร้างแหล่งเรียนรู้ยั่งยืน รวมถึงการสร้างศูนย์กลางการแบ่งปันความรู้ออนไลน์ คือ การจัดทำบทเรียน คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรามชาติ ในรูปแบบบทความและวีดีทัศน์ เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวม 14 บท เพื่อให้ผู้สนใจได้สามารถนำองค์ความรู้ไปลงมือทำเองได้

“ตามระยะเวลา 9 ปี บริษัทก็มีบริบทที่เปลี่ยนไป เราก็ยังคงจะสนับสนุนทางออนไลน์ เพื่อช่วยในการสื่อสารและติดต่อระหว่างเครือข่ายให้เดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะมีปัญหาตลอดในแต่ละระยะเวลา โดยเฉพาะครูผู้สอนไม่เพียงพอ เพราะกว่าจะก้าวมาเป็นครูได้จะต้องใช้เวลาถึง 5 ปี  ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าโครงการฯก็ยังสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวของมันเอง นั่นคือความสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการฯ แล้ว” อาทิตย์ กล่าว

เสวนาเล่าเรื่องราวความสำเร็จในช่วง 9ปี


ในเวทีเสวนา นำความสำเร็จจากการทำการเกษตรตามศาสตร์พระราชา มาเล่าสู่ สะท้อนภาพ 9ปีที่ผ่านมา ของโครงการ เริ่มจาก

บุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีทร์อ.เมือง จ.สระบุรี คนมีใจปี 1  เล่าด้วยความภูมิใจว่า ด้วยความพยายามของพ่อที่จะขุดหนองน้ำความลึก 8 เมตร เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นในการทำเกษตร ในพื้นที่ 20 ไร่ แต่ในช่วงแรกยังไม่เข้าใจหลักการศาสตร์พระราชา ยังขายผลผลิตเพื่อกำไร เพื่อใช้หนี้  ส่วนตนทำงานก็มีหนี้หลายแสนจนต้องกลับมาบ้านและตัดสินใจเข้าอบรมหลักศาสตร์พระราชา ซึ่งทั้งตนและพ่อก็ได้นำความรู้มาปรับพื้นที่ของตน สามารถปลดหนี้ได้ จนความเข้าใจและความรู้ที่มีนำไปสู่การสอนคนอื่นๆ ที่บ้านก็เป็นฐานศูนย์การเรียนรู้ ทำให้เกิดประโยชน์ เป็นพลังให้เครือข่ายคนมีใจ ในการลงมือทำด้วยความศรัทธา สร้างความสามัคคี และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  

คลองไส้ไก่ องค์ประกอบสำคัญของการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง

ศิลา ม่วงงาม ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชน บ้านหินโง่น อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ คนมีใจปี 2 เล่าว่า ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ในอดีตชาวบ้านนิยมปลูกข้าวโพด จนเกิดเขาหัวโล้น เกิดการชะล้างของหน้าดินเมื่อฝนตก ไฟป่า และน้ำท่วมใหญ่ จึงหาแนวคิดในการแก้ปัญหาโดยการเข้าอบรมศาสตร์พระราชา และเผยแพร่ในหมู่บ้าน จากเดิมที่มีการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา แค่ 2 ราย ปัจจุบันมีคนทำเพิ่มขึ้นมากถึง 3-4 เท่า ปัจจุบันสองฝั่งถนนมีไม้ผลขึ้นเต็ม 2 ข้างทาง เช่น ทุเรียน เงาะ ส้มโอ เป็นต้น และชาวบ้านยังปลูกไม้ยืนต้นมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมทำฝายชะลอน้ำ 89 สายถวายพ่อ ผมมีความตั้งใจจะสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป เพราะได้เห็นประจักษ์แล้วว่า ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน

กรองกาญจน์ ศิราไพบูลย์พร เจ้าของไร่ไฮ่เฮา อ.งาว จ.ลำปางคนมีใจปี 7 กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่บ้านแม่ฮ่าง จ.ลำปาง มีครัวเรือนที่หันมาทำโคก หนอง นา บนพื้นที่สูงเพิ่มขึ้นเป็น 30 กว่าแปลง ทำกันจริงจังมาก มีการเวียนกันเอามื้อทุกๆ สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง มีการทำแท็งก์น้ำในแต่ละจุดของแต่ละแปลง เพราะเป็นพื้นที่สูงการจัดการน้ำยาก ทุกแปลงจึงจำเป็นต้องมีแท็งก์น้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อการเกษตร และตอนนี้ขยับมาทำพื้นที่ที่สุโขทัยด้วย ซึ่งจะเป็นการขยายผลสู่ลุ่มน้ำยม มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามรอยพ่อฯ ทั้งที่เป็นพื้นที่ของตัวเองและการร่วมเป็นเครือข่ายสนับสนุนและส่งต่อองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ลงมือทำตามต่อไป

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร และ อาทิตย์ กริธพิพรรธ์ เยี่ยมชมร้านค้าเครือข่ายโครงการฯ



พิรัลรัตน์ สุขแพทย์ 
ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก ผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 8 สามัคคี อ.เมือง จ.ลพบุรี คนมีใจ ปี 3 กล่าวว่า ในการสืบสานศาสตร์พระราชาเรายังทำอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการรวบรวมเครือข่ายคนมีใจขับเคลื่อนเป็นระดับภาค และระดับประเทศต่อไป โดยจะทำแบบใกล้ชิดกว่าเดิม มีการประชุมวางแผนงานบ่อยขึ้น มีการลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องมากขึ้น มีการจัดทัพแบบกระชับองค์กร เพื่อเข้าถึงปัญหาและแก้ไขในทุกจุดอย่างรวดเร็ว มีการดึงคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น

พลังคนสร้างสรรค์โลก ตามรอยพ่อของแผ่นดินปีที่9

พลเอกธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า เลขานุการคณะทำงานศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ อ.เมือง จ.ลพบุรี คนมีใจ ปี 4 กล่าวว่า หลังจากที่ร่วมกิจกรรมกับโครงการตามรอยพ่อฯ แล้ว ได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชามากขึ้น เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในยามเกิดโรคระบาดหรือเกิดวิกฤตภัยต่าง ๆ ประชาชนเห็นความสำคัญของความพอเพียงและนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในศาสตร์พระราชาตามแนวทางที่พระองค์สอนและได้ลงมือทำในพื้นที่ตนเอง 10 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีความตั้งใจที่จะสืบสานงานของพระองค์ให้กับหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ คือ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ในฐานะเลขานุการอีกด้วย

แสวง ศรีธรรมบุตร ปราชญ์แห่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี คนมีใจ ปี 5 กล่าวว่า หลังจากที่เข้าร่วมโครงการตามรอยพ่อฯ มี เครือข่ายที่เกิดขึ้น 20 กว่าครัวเรือน ทำโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาทุกครัวเรือน จนเดี๋ยวนี้ไม่ต้องซื้อของกินของใช้ เอามารวมกันแลกเปลี่ยนกัน อีกความภูมิใจของผม คือ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนไม่เอางานเอาการ ให้กลับใจลุกขึ้นมาลงมือทำตามศาสตร์พระราชา หลังจากเขามาดูงานที่แปลงของผม จนปัจจุบันพื้นที่ที่เขาทำกลายเป็นศูนย์และเป็นครอบครัวต้นแบบ ตัวเขาเองก็กลายเป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปแล้ว

นาเขียวขจี จากโมเดล โคก หนอง นา 

บัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน คนมีใจ ปี 6 กล่าวว่า ศาสตร์พระราชาได้ช่วยแก้ปัญหาปากท้องให้ ชาวบ้านลดการปลูกข้าวโพดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ได้รับพื้นที่ป่าของอุทยานคืนมา 3,000 กว่าไร่ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เมื่อก่อนชาวบ้านต้องเตรียมเงินไว้ปีละประมาณ 5,000 บาท เพื่อซื้อข้าวกิน แต่ปัจจุบันพื้นที่ทำกิน 3-5 ไร่ของพวกเขาก็สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ มีข้าว มีปลา มีผักกิน ไม่ต้องเสียไปเงินซื้อ ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้ เหลือก็แบ่งปันกันในชุมชน ชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจนอดอยาก


ปราณี ชัยทวีพรสุข
 ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เจ้าของสวนฝันสานสุขคนมีใจ ปี 8 กล่าวว่า ตั้งใจจะสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาได้ทุกวิกฤตจริง พื้นที่ของตัวเองมี 18 ไร่ ทำโคก หนอง นา ไว้นานแล้ว มีต้นไม้เยอะ มีน้ำเหลือเฟือ ลูกชายเป็นคนรุ่นใหม่เคยบ่นว่าแม่อายุเยอะแล้วกลับมาเหนื่อยอะไรตรงนี้ แต่ต่อมาหลังจากเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่แม่ทำ และมีความคิดที่จะให้แม่ทำต่อไป ขอทำงานเก็บเงินซักพัก แล้วจะกลับมาสานต่อ ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เริ่มเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ

กิจกรรมปลูกต้นไม้ หรือ เอามื้อสามัคคี ปีก่อนๆ

สุณิตา เหวนอก เจ้าของพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี อ.จักราช จ.นครราชสีมา คนมีใจ ปี 9  กล่าวว่า ตนมีพื้นที่ 6 ไร่ ได้จัดสรรปันส่วนทำโคก หนอง นา เพราะตนเชื่อว่าหลักศาสตร์พระราชาจะทำให้เรามีอยู่มีกินอย่างพอเพียง แม้ว่าในช่วงแรกครอบครัวจะไม่เห็นด้วย แต่หลังจากทำมาแล้วกว่า 1 ปี ผลผลิตที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งให้ครอบครัวได้ทาน ไม่เพียงแค่นั้นยังได้แบ่งให้เพื่อนบ้านอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเกษตรกรรอบข้างจะหันมาให้ควาสนใจ และทำตามหลักศาสตร์พระราชา ส่วนตนก็จะบ่มเพาะแนวคิดและองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาให้กับคนรุ่นใหม่ อยากจะเป็นหนึ่งตัวอย่างของคนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำด้วยความศรัทธา

ปฎิบัติการตามรอยศาสตร์พระราชาฯ จะยังคงดำเนินต่อไปในปีที่10 ภายใต้การสนับสนุนของผู้สนับสนุนรายใหม่  โดยเชื่อว่าการสายต่อ จะนำไปสู่การขยายผลแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โคก หนองนา โมเดล  ไปสู่ประชาชนอีกหลายล้านคน  สร้างทางรอดให้กับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจบีบรัด วิกฤตโรคระบาด วิกฤตสงคราม ที่ส่งผลกระทบถ้วนทั่วคนทั้งโลกในขณะนี้  และสร้า่งความมั่นคงในการดำเนินชีวิตในทุกระดับผู้คน

ผลผลิตจากเครือข่าย ที่นำมาออกร้านฯในโอกาสครบปีที่9ของโครงการและปีสุดท้ายภายใต้การสนับสนุนของบริษัท เชฟรอนฯ


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ด้อมส้มวัยดึก' ดิ้นพล่าน! แขวะโคกหนองนาขึ้นเวทียูเอ็น อ้างข้อมูลสุดมั่วหวังด้อยค่า

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Somyot Pruksakasemsuk ว่า เศรษฐา ทวีสิน ไปประชุมระหว่าง 18-26 กย.ที่นิวยอร์ค โดยจะเสนอเรื่องโคกหนองนาเป็นความภูมิใจในเรื่องลดโลกร้อนแต่โคกหนองนา

'ศูนย์ราชการบุรีรัมย์' ผุด 'โคกหนองนาโมเดล' ต้นแบบแห่งความพอเพียง

ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผุดไอเดียสร้าง "โคก หนอง นา โมเดล" ศูนย์ราชการ เป็นต้นแบบแห่งความพอเพียง ขับเคลื่อนขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

'หมอวรงค์' ชู 5 โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ย้ำจุดยืน 'ปราบโกงได้ก็แก้จนได้'

'หมอวรงค์' เยี่ยมชมโครงการเศษฐกิจพอเพียง อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ตามนโยบายปฎิวัติเกษตรกรรม ชู 5 โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร น้ำ ไฟฟ้า ถนน อินเตอร์เน็ต และปุ๋ย ย้ำจุดยืน 'ปราบโกงได้ก็แก้จนได้'