‘กล้า-ไทยสร้างไทย’สมาชิกพุ่ง

เปิดข้อมูลพรรคการเมืองล่าสุด  87 พรรค ประชาธิปัตย์ยังแชมป์ สมาชิกมากสุด 9.8 หมื่นคน ส่วนพรรคกล้า-ไทยสร้างไทยแรง สมาชิกแตะหลัก 2 หมื่นแล้ว "ชลน่าน" ยัน รธน.ฉบับแก้ไขกำหนดไว้ชัดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องหารด้วย 100 โวยบัตรใบเดียว เพื่อไทยเสียงตกน้ำ

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ โดยกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองอัปเดตข้อมูลของพรรคการเมืองที่ยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยังดำเนินการอยู่ ข้อมูลวันที่ 28 ก.พ.​ พบว่ามีจำนวน 87 พรรคการเมือง โดยมีพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นจำนวน 3 พรรคการเมือง  ได้แก่ 1.พรรครวมไทยรักชาติ (รทช.) 2. พรรคไทยเป็นหนึ่ง (ทปน.) และ 3.พรรคท้องที่ไท (ท.) รวมจำนวนสมาชิกทั้งหมด 87 พรรค คือ 1,218,368 ราย สาขาพรรคการเมือง 421 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 2,302 ราย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 487 ราย และคณะกรรมการบริหาร 1,136 ราย

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค มีจำนวนสมาชิกมากสุด 98,987 ราย สาขาพรรคการเมือง 19 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 314 ราย, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 60,972 ราย สาขาพรรคการเมือง 5 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 199 ราย

พรรคเพื่อไทย (พท.) มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 62,126 ราย สาขาพรรคการเมือง 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 294 ราย, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 60,677 ราย สาขาพรรคการเมือง 4 สาขา  จำนวนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 220 ราย, พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 37,951 ราย สาขาพรรคการเมือง 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 110 ราย

พรรคกล้า (ก.) มีนายกรณ์ จาติกวณิช  เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 22,960 ราย  สาขาพรรคการเมือง 7 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 55 ราย, พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) มีนายสอิสร์ โบราณ เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 22,704 ราย สาขาพรรคการเมือง 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 6 ราย,   พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มี น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค  สมาชิก 13,112 ราย จำนวนสาขาพรรคการเมือง 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 44 ราย, พรรคประชาชาติ (ปช.) มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 13,112 ราย สาขาพรรคการเมือง 6 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 26 ราย, พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) มีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 12,736 ราย  สาขาพรรคการเมือง 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 55 ราย  

พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) มีนางรัชนี ศิวเวชช รองหัวหน้าพรรคปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรค สมาชิก 9,404 ราย สาขาพรรคการเมือง 5 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 1 ราย, พรรคไทยภักดี (ทภด.) มี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 7,481 ราย สาขาพรรคการเมือง 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 6 ราย, พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีว่าที่ ร.ท.ไกรภพ นครชัยกุล เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิก 3,350 ราย สาขาพรรคการเมือง 3 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 5 ราย 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการถกเถียงวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่.. พ.ศ.... ว่า เรื่องนี้ไม่น่าเป็นประเด็น เพราะเป็นสิทธิของ กมธ.ที่มีสิทธิ์เสนอในมุมของตัวเอง รัฐธรรมนูญมาตรา 91 เขียนไว้ชัดเจนว่า วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะคำนวณอย่างไร โดยให้นำคะแนนจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศมารวมกันหารด้วย 100 ส่วนการคำนวณสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรง จึงไม่มีประเด็นว่าต้องเอา 500 มาเป็นตัวตั้งอีก หรือคำว่าพึงมีที่เราเพิ่งแก้ใหม่ 

  ส่วนจะทำให้เสียงตกน้ำหรือไม่ มันก็เป็นเจตนารมณ์เดิม เมื่อรัฐธรรมนูญถูกแก้ไขเจตนารมณ์นี้ต้องเปลี่ยนไป โดยเป็นการคำนวณที่แยกบัญชีไป ไม่ได้เกี่ยวว่าตกน้ำ-ไม่ตกน้ำ ถามกลับสมัยบัตรเลือกตั้งใบเดียวพรรคเพื่อไทยเสียงตกน้ำไปเท่าไหร่ ซึ่งกติกาทุกกติกาเรายอมรับ เมื่อเปลี่ยนแล้วต้องเป็นไปตามกติกาใหม่ และการเปลี่ยนกลับมาใช้วิธีการนี้ก็มีตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ไม่ต่างกับปี 2554

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันในชั้น กมธ. ถึงสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะให้ใช้สูตรการหารด้วย 500 และ 100 ว่ามีความเป็นไปได้ทั้งสองสูตร และมีเหตุผลทั้งคู่ ซึ่งไม่ว่าจะใช้สูตรใดก็มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันทุกพรรค

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ควรมีจำนวนเงินมาขวางกั้นการเข้าเป็นสมาชิกพรรค ไม่ว่าประชาชนจะมีฐานะร่ำรวยหรือไม่มีฐานะ   ก็จะต้องเกิดความเท่าเทียมกันในการเข้ามีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองโดยการเป็นสมาชิก เงินจำนวน 100 บาท หรือ 2,000 บาทกรณีรายปี อาจจะดูไม่มากสำหรับคนที่มีฐานะ แต่สำหรับชาวบ้านเป็นจำนวนเงินที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง