แจงยิบมาตรการ คลังยังแข็งแกร่ง รัฐมีงบฯเพียงพอ

“สุพัฒนพงษ์” นำทีม ศก.แจงมาตรการช่วย ปชช.จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน รับใน 3 เดือนหากไม่คลี่คลายจะเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต “อาคม” ยันเสถียรภาพการคลังมั่นคง “ปลัดพลังงาน” เผยมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน วงเงินกว่า 4.5 หมื่นล้าน  โฆษกรัฐบาลโต้ "ส.ส.ก้าวไกล" เลิกมโน ย้ำรัฐมีงบเพียงพอ ชี้ 10 มาตรการบรรเทาผลกระทบระยะสั้นต่อยอดสู่แผนระยาว

ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 มีนาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธานการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โดยนายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้แถลง 10 มาตรการ โดยวันนี้จะเป็นการชี้แจงในรายละเอียด จะเป็นการออกมาตรการราย 3 เดือน รัฐบาลพยายามทำสุดความสามารถเพื่อให้สามารถเยียวยาช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ซื้อช่วงปลายปีมีการส่งสัญญาณผ่านราคาพลังงานที่ค่อนข้างผันผวน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการตรึงราคาพลังงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  

"เดิมคิดว่าราคาพลังงานสูงเกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในการเร่งการผลิต และจะเข้าสู่ปกติในช่วงเดือนมีนาคม จากสงครามที่เกิดขึ้น แบ่งเป็นขั้ว เกิดการกีดกันทางการค้า ทำให้ราคาสินค้าสูง ทำให้เกิดความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และคิดว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง และคิดว่าในอีก 3 เดือน จะเกิดความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากไม่คลี่คลายจะเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งนี้ รัฐบาลออกมาตรการระยะสั้น 3 เดือน ที่จะประคับประคองประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจะต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทยไว้ และย้ำว่าในยามวิกฤตประเทศจะต้องมีความเข้มแข็งทางการเงิน" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ด้านนายอาคมกล่าวว่า สิ่งที่สามารถพยุงรายได้ของประชาชนในประเทศ คือภาคเกษตรและการค้าขายชายแดน ซึ่งขณะนี่เองการค้าขายชายแดนยังไม่มีปัญหา โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 รายได้จะมาจากการส่งออกและแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ อย่างการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 กับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไม่ได้หยุดชะงัก แต่ยอมรับว่าจีดีพีของประเทศนั้นมาจากปริมาณและราคา ซึ่งหากดูในเรื่องปริมาณนั้นไม่มีปัญหา แต่ราคาอาจมีการปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของอาหารและพลังงานซึ่งมีผลกระทบมาจากต่างประเทศ ขณะที่เสถียรภาพทางการคลัง โดยตัวเลขล่าสุดใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ อัตราเงินคงคลังอยู่ที่ 400,000 ล้าน ที่ลดลงไปบ้าง แต่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้สภาพคล่องอยู่ที่ 400,000 ถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเพียงพอ มีความมั่นคง มีเสถียรภาพเพียงพอ ยอมรับว่าลดลงบ้าง ซึ่งเกิดจากการกู้เงินเข้ามาใช้จ่าย และขณะนี้การกู้เงินในปี 2565 ยังไม่ถึง 700,000 ล้านบาท ในส่วนของโครงการผูกพันยังคงดำเนินการตามปกติ

ขณะที่เสถียรภาพทางด้านราคา หากดูอัตราเงินเฟ้อ จะสังเกตได้ว่ามีการกระโดดขึ้นมาในช่วงเดือนมกราคม 3% และกุมภาพันธ์ 5% ไปถามให้รู้เรื่องพลังงานและอาหารสด จะเพิ่มขึ้นมาเพียง 0.5 % ในเดือนมกราคม และ 0.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือจะต้องมีการประเมินติดตามอย่างใกล้ชิด และระยะ 3 เดือน ประเด็นสำคัญคือต้องมุ่งเป้าไปในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน ขณะด้านเงินสำรองระหว่างประเทศมีความเข้มแข็งอยู่ในระดับกว่า 200,000 ล้านบาท โดยข้อมูลล่าสุดเงินสำรองอยู่ที่ 245,000 ดอลลาร์

นายอาคมกล่าวอีกว่า ส่วนเสถียรภาพทางการเงินมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีความเป็นห่วงเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องดูในเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะมีการประชุมช่วงปลายเดือนนี้ แต่สภาพคล่องในส่วนของภาคเอกชนและระบบธนาคารพาณิชย์ จะมีสภาพคล่องอยู่ที่ 2.5 ถึง 3 ล้านล้านบาทในระบบ ส่วนการประมาณการรายได้ปี 2565 นั้นน่าจะเป็นไปตามเป้า

ขณะที่นายสุชาติกล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย เพื่อลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 นอกจากนี้ นายจ้างจำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท  ส่วนประเด็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้เร่งรัดติดตามการดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นจัดการประชุมพิจารณาในเดือน ส.ค.-ก.ย.65 โดยในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอ ครม.พิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ด้านนายกุลิศกล่าวถึงมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงานว่า การช่วยเหลือด้านพลังงานมีหลายมาตรการ หนึ่งในนั้นคือการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร ในเดือนเม.ย.65 จากนั้นในเดือนพ.ค.-มิ.ย.65 รัฐจะช่วยจ่ายราคาส่วนที่เพิ่ม 50% หรือช่วยคนละครึ่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะภาคขนส่ง สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน โดยมีงบประมาณที่ภาครัฐช่วยเหลือ รวมประมาณ 43,602-45,102 ล้านบาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่ารัฐบาลเงินหมดหน้าตัก 10 มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนจึงเป็นแบบกะปริบกะปรอยแก้ขัด และส่วนใหญ่เป็นการต่ออายุมาตรการเดิม ว่า น.ส.ศิริกัญญาไม่ควรมโนหรือใช้จินตนาการไปเรื่อย เพราะสิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่คิดเองเออเองแทบทั้งสิ้น  มาตรการช่วยเหลือประชาชนนั้น ส่วนใหญ่ต้องใช้งบประมาณ ดังนั้น หากเงินหมดหน้าตักอย่างที่กล่าวอ้าง ก็คงจะไม่มีเงินมาดำเนินการไปนานแล้ว มาตรการบางเรื่องอาจทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้บ้าง แต่ก็ต้องยอม เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ส่วนการต่ออายุมาตรการเดิมนั้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง

"มาตรการทั้ง 10 ข้อจะเกิดผลดีกับประชาชนไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตในระยะสั้น ก่อนที่จะมีการต่อยอดไปสู่มาตรการระยะกลางและระยะยาวที่รัฐบาลวางแผนไว้ต่อไป" นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง