บัตรเลือกตั้งใช้คนละสี

เคาะบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.สีต่างกัน เวทีเสวนานโยบายผู้ว่าฯ กทม.ด้านสังคมหนุนกระจายงบฯกลางผู้ว่าฯ กว่า 1.4 ล้านให้เขต ลงพัฒนาชุมชน ​ขณะที่ "วิโรจน์” ชูเมืองหลวงรัฐสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ “เอ้” งัดนโยบายอินเทอร์เน็ตฟรี ชูญี่ปุ่นโมเดล​ พร้อมเปิดป้ายหาเสียง 3 มิติ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.65 นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) กล่าวถึงข้อซักถามของผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เกี่ยวกับสีของบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ว่า ยืนยันว่าสีของบัตรเลือกตั้งทั้งสองแบบจะแตกต่างกันแน่นอน โดยเบื้องต้นถ้าผู้สมัครเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครไม่ถึง 10 หมายเลข ขนาดของบัตรเลือกตั้งจะเท่ากับกระดาษขนาด A5 ถ้ามากกว่านี้จะเป็นกระดาษขนาด A4 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจำนวนผู้สมัคร ส.ก.ในแต่ละเขตเข้าใจว่าจะใช้บัตรเลือกตั้งเป็นกระดาษขนาด A5  ส่วนผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ มากถึง 31 หมายเลข ดังนั้นบัตรเลือกตั้งจะเป็นกระดาษขนาด A4

นายสำราญกล่าวว่า ส่วนสีของบัตรเลือกตั้ง เมื่อทาง กกต.กลางประกาศกำหนดแล้ว สามารถเผยแพร่ให้ผู้สมัครรับทราบได้ แต่รายละเอียดของบัตรจะไม่สามารถเผยแพร่หรือเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความสุจริตและเที่ยงธรรม ขณะเดียวกันทาง กกต.กทม.จะต้องกำหนดตราหรือเครื่องหมายเพื่อประทับลงในบัตรเลือกตั้ง ซึ่งจะกำหนดขึ้นมาเป็นรูปแบบพิเศษเพื่อป้องกันการนำบัตรชนิดอื่นมาใช้แทน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเร็วๆ นี้ ทาง กกต.จะนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาประกาศสีของบัตรเลือกตั้ง รูปแบบลักษณะ ขนาด และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการจัดพิมพ์ และขอย้ำว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามบุคคลที่เป็นข้าราชการการเมือง ส.ส. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มาช่วยผู้สมัครหาเสียง ดังนั้น อยากให้บุคคลเหล่านี้ระมัดระวังเพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมาย

ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์​ จัดเวทีสาธารณะ​ "เสนอไป​ เสนอมา...นโยบายสังคม​ ของผู้ว่าฯ กทม.​ เสียงผู้หญิง​ 2.3 ล้าน​ ชี้ขาด... ใครคือ​ผู้ว่าฯ กทม." โดยนายสกลธี​ ภัททิยกุล​ ผู้สมัครผู้ว่า​ราช​การกรุงเทพ​มหานคร​ หมายเลข​ 3 กล่าวตอนหนึ่งว่า​ อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม คือการจัดสรรงบประมาณ​ ย้อนหลังกลับไปช่วง​ 5-10 ปีที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาสังคมของ กทม.เป็นผู้ดูแลเรื่องสังคม​ ได้งบประมาณ​ 200 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น​ ซึ่งไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์​จากงบประมาณ​ทั้งหมดที่ กทม.ได้รับ​ ซึ่งการที่เราดูแลเรื่องสังคมอาจจะไม่ได้เห็นภาพ​เหมือนเราสร้างตึกสร้างถนน​ แต่มีผลที่สามารถแปลงเป็นมูลค่าเงินได้​ ถ้าตนได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.​ งบประมาณส่วนนี้จะต้องปรับปรุง อีกทั้ง​บางกิจกรรมสามารถให้ภาคเอกชนทำแทนได้ ​แต่ติดขัดกฎหมาย​ งบประมาณ​ 8 หมื่นล้านบาทดูมากก็จริง​ แต่ส่วนใหญ่เป็นงบจ้างงาน​ และไม่สามารถจะเพิ่มค่าจ้างได้

นายสกลธีกล่าวอีกว่า​ หลายนโยบายของตนจะเอื้อไปทางผู้สูงอายุ​เป็นหลัก​ เช่น​ ศูนย์สาธารณสุข​ของ กทม.​ ควรจะปรับให้เป็นสมาร์ท​คลินิก​ โดยใช้ระบบ​Telemedicine เพื่อทำให้การเดินทางของผู้สูงอายุสะดวกมากยิ่งขึ้น​ รวมถึงระบบที่จะคอยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน​ เช่นนาฬิกาที่ติดกับผู้สูงอายุที่จะคอยแจ้งได้ว่าชีพจรปกติตก​ หรือมีอาการหรือไม่​ โดยเจ้าหน้าที่ของ กทม.จะสามารถเข้าหาได้เลย​ เป็นการช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องมีคนมาคอยดูแลเสียเวลาทั้งวัน​ ส่วนการจ้างงานผู้สูงอายุ​ กทม.สามารถทำเป็นโครงการต่างๆ เพื่อจะเอื้อผู้สูงอายุที่กำลัง​ สามารถที่จะทำกิจกรรมง่ายๆ ในชุมชน

นายสกลธี​กล่าวอีกว่า​ ส่วนคนพิการตนได้ดำเนินการหลายอย่าง​เต็มที่​ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองคนพิการ​ หน่วยงานรัฐหรือเอกชน​ ถ้าไม่อยากส่งเงินเข้ากองทุนต้องจ้างงานคนพิการ​ 1% ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดที่จ้างเงินถึง​ 1% สมัยตนเป็นรองผู้ว่าฯ พยายามผลักดันตรงนี้แล้วประสบความสำเร็จ​ โดยได้ของบจ้างงานคนพิการไปกว่า 300 ตำแหน่ง​ นอกจากนี้โรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการซึ่งเราก็ทำสำเร็จก่อนที่จะลาออกเช่นกัน​ และสิ่งสำคัญคือเราได้ทำเว็บ​ไซต์​หางานให้คนพิการได้สำเร็จเพื่อให้บริษัทต่างๆ รับไว้เข้าทำงาน​

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน​ ขวัญเมือง​ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข​ 6 กล่าวว่า​ เรื่องผู้สูงอายุเราให้ความสำคัญ​ ได้ริเริ่มให้มีรถตู้รับ-ส่งผู้สูงอายุ 30 คัน​ 3 จุด​ ที่รามคำแหง​ หนองแขม​ และพระราม​ 3 ซึ่งอนาคตจะปรับเป็นรถพลังงานสะอาด​ส่วนสวัสดิการผู้สูงอายุ​ นอกจากนี้ มีการส่งยาถึงบ้าน มีระบบพบแพทย์ภายใน​ 60 นาที​ ซึ่งทำระบบนี้มาตั้งแต่​ 2 ปีที่แล้ว​ นอกจากนี้เราเพิ่มสวัสดิการการซ่อมแซมบ้านให้กับผู้ที่ประสบภัยต่างๆ ในชุมชน​ ​เป็น​ 3 หมื่นบาท​ จาก ​2 หมื่นบาทต่อหลังคาเรือน ส่วนเรื่องการศึกษาของเด็กที่ผ่านมา ​กทม.​ได้รับเงินวันละ​ 20 บาทต่อหัว​ สำหรับค่าอาหารเด็กอนุบาล​และเด็กประถม​ เมื่อตนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จึงได้เสนอต่อสภา กทม. ขอเพิ่มเป็น​ 40 บาท​ ซึ่งจะเป็นแบบนี้ตลอดไป​ รวมถึงเพิ่มการเรียนหลักสูตร​ 2 ภาษาให้ทั้งอังกฤษและจีน​ ทำไปแล้ว​ 155 แห่ง​

ด้านนายวิโรจน์​ ลักขณา​อดิศร​ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.​ หมายเลข​ 1 พรรคก้าวไกลกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของ กทม.​คือเราตกอยู่ภายใต้มายาคติบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม​ เช่น ถ้าอยากรวยต้องขยัน​ แต่ข้อเท็จจริงคือเราเจอคนที่ขยันจนไม่มีเวลาพักผ่อน​ ขยันยังไงก็ยากจน​ คนสู้แล้วตายสู้แล้วจนมีเยอะแยะ​ การปล่อยให้คนจนเมืองต้องดิ้นรนอยู่ภาวะระบบนิเวศ​ที่ไม่เป็นธรรม​ โอกาสจะงอกเงยมันยากมาก​ แล้วเมืองนี้ก็หากินกับคนที่สู้แล้วรวย​หนึ่งในล้านเอามาโฆษณา​เพื่อหลอกให้คนกระโดดลงไปในแม่น้ำ​ ซึ่งมีคนล้มตายกันหมด​ ดังนั้นทำไมนโยบายของเราเมืองที่คนเท่ากัน​จึงเป็นการเพิ่มสวัสดิการ​ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุ​ เราจะเพิ่มจาก​ 600 เป็น 1,000 บาท หรือเด็กแรกเกิดถึง​ 6 ปี ​เราให้เพิ่มเติมจาก​ 600 เป็น​ 1,200 บาท​

"ถ้าเมืองเมืองนี้ดูแลพ่อแม่เราได้ดีกว่านี้​ ผมสามารถวิ่งตามความฝันได้​ ผมสามารถทำงานได้ ​คนที่ทำงานสักวันก็ต้องแก่​ ถ้าเรารู้ว่าเมืองเมืองนี้จะดูแลเราในยามแก่ได้ดี​ ผมวิ่งตามความฝันได้เต็มที่​ ซึ่งเป็นจุดเบื้องต้นที่สุดที่จะสร้างเมืองสวัสดิการ​ ไม่ใช่การสงเคราะห์​ และถ้าเราทำได้​ มันจะไม่มีผู้ว่าฯ หน้าไหนไปลดสวัสดิการตรงนี้ได้อีก​ และกดดันให้รัฐบาลทำรัฐสวัสดิการ​ 3,000 บาทให้กับทุกคน​ ทุกจังหวัด​ ถ้าไม่เริ่มที่ กทม.มันไปต่อที่อื่นไม่ได้" นาย​วิโรจน์กล่าว และว่า​ เราต้องกระจายงบประมาณ​รวมศูนย์ และงบกลางผู้ว่าฯ​ 1.4 หมื่นล้าน​ เพราะไปที่สำนักงาน​เขต​ ถ้ากระจายงบประมาณอย่างถูกต้องเราจะทำโปรเจ็กต์อะไรก็สามารถทำได้ เพราะงบประมาณถูกกระจายลงไปในชุมชนหมดแล้ว​ ไม่ต้องร้องขอ​ ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เปลี่ยนแปลงสังคม การแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอย​อยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจประชาชน​ ซึ่งตนไม่ได้หมายความว่าจะขายได้เสรีทั้งหมด​ แต่ต้องให้ประชาชนคุยกันว่าจะวางกติกากันอย่างไร​

ด้านนายสุชัชวีร์​ สุวรรณสวัสดิ์​ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ​หมายเลข​ 4 พรรคประชาธิปัตย์​ กล่าวว่า​ ตนต้องการเปลี่ยน กทม.ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัยต้นแบบของอาเซียน​ นโยบายของตนคือคน กทม.ต้องใช้อินเทอร์​เน็ต​ฟรี​ เพราะเป็นรากฐานสำคัญของความเท่าเทียม​ และเป็นจุดเชื่อมโยงของทุกๆ อย่าง​ วันนี้เด็กเรียนออนไลน์​ หรือทำงานที่บ้านเราก็ต้องจ่ายเงิน​ ที่น่าเห็นใจผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตามลำพัง​ สิ่งที่กลัวคือเรื่องเหตุฉุกเฉิน​ เพราะฉะนั้นอินเทอร์​เน็ต​ฟรีทำให้สามารถรายงานเหตุ​ฉุกเฉินได้ทัน ตนอยากให้ กทม.เป็นประหนึ่งโตเกียว ที่เราอยากจะไปเที่ยวกัน ​ ทุกคน ไปโรงพยาบาล​ของรัฐใกล้บ้านได้​ นโยบายของตนชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนชีวิตคน​ หยุดปัญหาซ้ำซาก

นายสุชัชวีร์กล่าวอีกว่า​ นโยบายเงินเต็มบ้านงานเต็มเมือง​ กองทุนการสร้างงาน​ 2 พันชุมชน ปีละ​ 6 แสนบาทต่อชุมชน สามารถจ้างงานได้ถึง​ 5 หมื่นอัตรา​แล้วงาน ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนได้โอกาสเป็นอันดับแรก​ในการเข้ามาช่วยดูแลเด็กเล็ก​ ดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน​​ เพราะฉะนั้นกทม.ไม่เฉา​ ชีวิตเปลี่ยนทำงานแลกได้เงิน​ ส่วนเรื่องเด็กเล็กขอประกาศนโยบายว่า​ตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯ ที่อุดหนุน​ 0-6 ปี​ อย่างเสมอภาค​ และถ้วนหน้า​ นอกจากนี้เรื่องสตรี​ต้องปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียนว่าการล่วงละเมิดทางเพศ​เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้​  นอกจากนี้ต้องการตั้งสภาผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุได้มาร่วมบริหารจัดงบประมาณด้วยตัวเองได้ถูกจุด​ ไม่ลงไปที่เขต​ เพราะนโยบายที่เขตออกไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุในแต่ละเขตได้ตรงจุด​

ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวป้ายหาเสียงแบบใหม่ โดยกล่าวว่า ช่วงหลังจากนี้ตั้งใจจะระดมติดป้ายแบบใหม่นี้ โดยกำชับไม่ให้ขวางทางเดินประชาชน ซึ่งหลายคนก็คงจะเคยเห็นป้ายหลายๆ แบบออกมาแล้ว ย้ำว่าหลักการไม่ให้ขวางทางเดินเท้าและขวางการจราจร ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำป้ายหลายขนาด ซึ่งป้ายเวอร์ชัน 3 ด้านแนวใหม่นี้ถือเป็นครั้งแรก และเก็บไว้จะมาเปิดตัววันเกิดพรรคในวันเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้ติดป้ายจำนวนจำกัด เพราะไม่อยากให้รกเกินไปจนกีดขวางทางเดิน พร้อมย้ำว่าการทำป้ายขนาดดังกล่าวไม่ได้ลอกเลียนใคร เพราะพรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาตั้งแต่ปี 2562 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรอเปิดตัววันเกิดพรรค 6 เม.ย.

เมื่อถามถึงกรณีที่ป้ายหาเสียงที่โดนกรีดก่อนหน้านี้ กังวลว่าป้ายใหม่นี้จะถูกกรีดอีกหรือไม่ นายสุชัชวีร์กล่าวว่า ก็กังวลเหมือนกัน เพราะเราทำป้ายแล้วก็ไม่อยากให้รื้อทำใหม่ ขนาดนี่เป็นป้ายไม่รู้ใครทำ แล้วถ้าเกิดกับคน แสดงว่ากรุงเทพฯ ปล่อยไว้ไม่ได้ กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยน เพราะกรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัย กล้องกว่า 6 หมื่นตัวเป็นตาฟาง ต้องปรับปรุงเพื่อดูแลประชาชน และไม่ใช่แค่ตน  แต่ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับใครก็ตาม  อยากวิงวอนเพราะการเลือกตั้ง เหมือนแข่งขันกีฬา ต้องเป็นไปตามกฎกติกามารยาท ส่วนจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายหรือไม่นั้น ก็อยากทำเหมือนกัน แต่จับมือใครดมไม่ได้ ซึ่งต้องปรึกษาทีมกฎหมายของพรรค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง