สั่ง‘ปารีณา’พ้นสส. ศาลชี้รุกป่าผิดจริยธรรมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดไป

ศาลฎีกาพิพากษา "ปารีณา" ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.-บุกรุกป่าสงวน ไม่ยอมส่งมอบคืน ชี้มีพฤติการณ์เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ส.ส. สั่งพ้นตำแหน่ง ส.ส.-เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี เจ้าตัวโอดไม่เหลืออะไรแล้ว! เศร้าตัวชาไม่มีสภาให้ไป ไม่มีไก่ให้เลี้ยง ตกงาน 100% ดีดตัวออกกลุ่มไลน์ ส.ส.พปชร. "ทนาย" ยังหาช่องอุทธรณ์  "ปิยบุตร" ค้านศาลประหารชีวิตทางการเมือง ติง 3 นิ้วอย่าสะใจต้องถอนพิษ รธน.60

ที่ศาลฎีกา สนามหลวง วันที่ 7เมษายน ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม และขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี

วันนี้ น.ส.ปารีณาไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงทนายความเป็นตัวแทนเดินทางมาฟังคำพิพากษา

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องสรุป ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ ที่ผู้คัดค้านที่ดิน 29 แปลง มีเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ และมีทรัพย์สินที่ยื่นไว้กับ ป.ป.ช.กว่า 163 ล้านบาท จึงไม่ได้ผู้ยากไร้ที่ทำกิน เป็นผู้ขาดคุณสมบัติครอบครองที่ดินเขตปฏิรูปตั้งแต่แรก การกระทำของผู้คัดค้านถือว่าไม่รักษาเกียรติภูมิของชาติ เป็นการจัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม มีพฤติการณ์เสื่อมเสียอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ

ขณะที่ผู้คัดค้านคัดค้านว่า ได้เข้าครอบครองที่ดินตั้งแต่ปี 2484 ก่อนที่มีการประกาศเป็น พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวน ในปี 2507 โดยนายทวี ไกรคุปต์ บิดา ได้ซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านผู้มีสิทธิ์มาทำฟาร์มสัตว์เลี้ยงและปลูกพืชโดยบิดาได้ยกที่ดินให้ผู้คัดค้านดูแลกิจการ เพื่อนำเงินไปเลี้ยงดูบิดาตั้งแต่ 2555 ผู้คัดค้านไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน จึงไม่มีเจตนาบุกรุก เผ้าถางป่า และกรมป่าไม้ไม่เคยปักหมุดเขตป่าสงวนว่ามีพื้นที่เริ่มตั้งแต่แนวใด

ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ส.ส. ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงฯ ข้อ 17 ประกอบข้อ 3 ข้อ 27 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านครอบครองที่ดิน 665 ไร่ 1 งาน 53 ตร.ว. เป็นพื้นที่สีส้ม โดยไม่มีเอกสารสิทธิใด ขณะที่ที่ดินบริเวณโดยรอบมียื่นขอออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 หลายแปลง อีกทั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ กรณีจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ย่อมต้องทราบว่ามีการปฏิรูปที่ดินเช่นเดียวกับคนอื่น ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย.62 สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ ประกาศให้มีการยื่นขอปฏิรูปที่ดินอีกครั้ง โดยเอกสารการยื่นขอปฏิรูปที่ดินกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกร และไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ จะจัดสรรที่ดินให้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ ซึ่งผู้คัดค้านก็ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เพราะมีที่ดินมากกว่าคนอื่น การเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินอาจมีผลให้ผู้คัดค้านสูญเสียที่ดินได้ และการที่ผู้คัดค้านครอบครองที่ต่อจากบิดา โดยรู้ว่าเป็นที่เกษตรกรรม มีเจตนาไม่ส่งคืนเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรและเลี่ยงการเข้ากระบวนการปฏิรูปมาตลอด จนมีการตรวจสอบ ผู้คัดค้านจึงคืนที่ดินให้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ข้อเท็จจริงหาใช่สมัครใจส่งมอบเองตามที่อ้าง ประกอบกับผู้คัดค้านเป็น ส.ส. 4 สมัย ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับที่ดินเขตปฏิรูป การครอบครองที่ดินของจำเลยยังเป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่นไม่สามารถได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินได้ คนทั่วไปจะแคลงใจว่าเหตุใจผู้คัดค้านจึงสามารถครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปได้หลาย 100 ไร่

สั่งพ้น ส.ส.-ตัดสิทธิ์ตลอดไป

เมื่อตรวจสอบสถานะผู้คัดค้านมีรายได้จากการเป็น ส.ส. 4 สมัย ใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่ในรัฐสภา ไม่ใช่เกษตรกรอาชีพ มีกรรมสิทธิ์ที่ดินของตัวเองหลาย 10 แปลง และมีที่อยู่อาศัยคนละพื้นที่กับที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินเขตปฏิรูปโดยทราบว่าไม่มีคุณสมบัติและไม่มีเอกสารสิทธิ ส.ส.ย่อมไม่ควรปฏิบัติ การกระทำของผู้คัดค้านเสื่อมเสียเกียรติ และมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ข้อ 17 ที่ต้องรักษาชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่ของส.ส. และไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ แม้ต่อมาจะส่งคืนที่ดินทั้งหมดก็ไม่ทำให้การฝ่าฝืนจริยธรรมฯ ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไม่เกิดขึ้นได้ ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่านำรายได้จากการทำเกษตรในที่ดินเขตปฏิรูปมาเลี้ยงดูบิดา ซึ่งเป็นหลักศีลธรรมนั้น เห็นว่าการเลี้ยงดูบิดาต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และคนทั่วไปก็มีหน้าที่ไม่ต่างจากผู้คัดค้าน

พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ 25 มี.ค.64 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และ พ.

ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง ทั้งนี้ คำพิพากษาให้มีผลทันที และให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป

ภายหลัง น.ส.ปารีณาได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ทราบคำพิพากษาแล้วและน้อมรับทุกกรณี  แต่ขอเวลาทำใจก่อนจะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เพราะขณะนี้ตนไม่พร้อมที่จะพูดถึงเรื่องนี้

นายทิวา การกระสัง ทนายความของ น.ส.ปารีณา กล่าวยอมรับผลของคำพิพากษา แต่ยืนยันว่า น.ส.ปารีณาไม่ได้บุกรุกที่ป่าสงวนตั้งแต่แรก แต่เป็นการรับที่ดินต่อจากบิดา โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดิน ส.ป.ก. เนื้อที่ 610 ไร่ การตัดสินวันนี้ ไม่สามารถทำให้ น.ส.ปวีณาเป็นนักการเมืองได้ ถือเป็นราษฎร แล้วต้องพักผ่อนไปอีก 10 ปี ส่วนที่ระบุว่ามีการตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดไปนั้น ต้องดูว่าคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคุณสมบัติอะไร เช่น เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติการเลือกตั้ง และหากถูกตัดสิทธิ์ลง ส.ส. ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ แต่ทั้งนี้หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ น.ส.ปารีณาก็มีโอกาสกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ก็ได้ไปพักผ่อนเช่นเดียวกับนายสิระ เจนจาคะ ทั้งนี้ อยากให้รู้ว่าที่ผ่านมา น.ส.ปารีณาโดนมาเยอะ นี่คือผลของผู้กล้า ที่ตายกลางสนามรบ เป็นเรื่องปกติ แต่วีรบุรุษไม่เคยตายกลางสนามรบ ซึ่งนี่คือการเมืองไทย

นายทิวากล่าวอีกว่า เรื่องของคดี ก็ต้องดูว่าตามกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ ไปยังที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะลองยื่นอุทธรณ์ดู ซึ่งในส่วนของคดีอาญาทางการเมืองทั่วไปสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ในกรณีผิดจริยธรรมเป็นการพิพากษาคดีแรก จึงต้องศึกษาดูข้อกฎหมายก่อนว่าจะใช้ระเบียบเดียวกันหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ศาลพิพากษา น.ส.ปารีณาให้พ้นตำเเหน่ง ส.ส. ปรากฏว่าในไลน์กลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้มี ส.ส.เข้ามาให้กำลังใจ น.ส.ปารีณา จนกระทั่งเวลา 10.21 น.  น.ส.ปารีณาได้ดีดตัวเองออกจากไลน์กลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไปแล้ว

"เอ๋" โอดตกงาน 100%

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อ น.ส.ปารีณา ตั้งแต่รู้ผลคำพิพากษา  แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จนกระทั่งเวลา 13.45 น. น.ส.ปารีณาให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ด้วยเสียงสั่นเครือว่า “ตอนนี้ยังไม่เจอใคร ยังไม่ได้คิดอะไร ตอนนี้ตัวชา กำลังทำใจอย่างเดียว ไม่ต้องทำพื้นที่แล้ว  เพราะเหมือนคนตกงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสภาให้ไป ไม่มีไก่ให้เลี้ยง ไม่เหลืออะไรแล้ว”

นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี ในฐานะหัวหน้าภาค 7 (กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และเพชรบุรี) พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จ.ราชบุรี แทน น.ส.ปารีณา ยืนยันว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แน่นอน เพื่อรักษาพื้นที่ แต่ทั้งนี้ต้องรอนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาก่อน ส่วนตัวผู้สมัคร ส.ส. เท่าที่ทราบขณะนี้มีการเตรียมเอาไว้แล้ว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า พรรคพปชร.เคารพคำตัดสินของศาล และเราเชื่อว่า น.ส.ปารีณายอมรับคำตัดสินของศาลเช่นเดียวกัน พวกเราทุกคนเห็นใจ น.ส.ปารีณา ในฐานะที่เคยทำงานร่วมกันมา เป็น ส.ส.ที่มีคุณภาพ ตั้งใจทำเพื่อพี่น้องประชาชน และเชื่อว่าไม่ได้มีเจตนาจะทำความผิด พวกเราทุกคนเป็นกำลังใจให้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในคดีกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงต่อไป เพราะศาลตัดสินตามข้อกฎหมาย ถ้ามีคดีคล้ายคลึงกันเกิดขึ้น ก็มีโอกาสที่จะรับโทษอย่างเดียวกัน

เมื่อถามถึงกรณีบางฝ่ายมีความเห็นว่าศาลไม่ควรจะตัดสินโดยใช้เรื่องจริยธรรม เพราะควรตัดสินเกี่ยวคดีอาญา และคดีแพ่ง นายวิษณุกล่าวว่า “พูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายเป็นคนให้ศาลตัดสิน” เมื่อถามว่าหากจะแก้โทษตลอดชีวิต ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ คงต้องไปว่ากันในอนาคต ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในทวิตเตอร์ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้กรณีนักการเมืองละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงไปให้ศาลฎีกาตัดสินและมีโทษประหารชีวิตทางการเมือง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง 1.มาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ เป็นเรื่องภายในองค์กร ต้องให้แต่ละองค์กรกำหนดและชี้ขาดกันเอง หน่วยงานอื่นๆ เขาก็ทำกันเอง ลงโทษกันเอง 2.มาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช่เรื่องเกณฑ์ทางกฎหมาย ไม่ใช่ถูกหรือผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเหมาะสม จึงไม่ควรให้ศาลชี้ขาด ลงโทษ 3.โทษสูง การตัดสิทธิสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ไม่ควรมี นี่คือการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง ประหารชีวิตทางการเมือง รธน. 60 เอามาใช้สองกรณีคือ ติดคุกเพราะคอร์รัปชัน และละเมิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งผู้ร่างเที่ยวเอาไปโฆษณาว่านี่คือ “รธน. ปราบโกง” แต่จริงๆ แล้วการโกงก็ยังมี และเพิ่มขึ้น ส่วนช่องทางนี้ก็เอาไว้เล่นงานนักการเมืองกันไปมา

 "ผมจึงไม่เห็นด้วยกับกรณีศาลฎีกาตัดสินคุณปารีณา และเสนอว่าเราไม่ควรดีใจกับเรื่องแบบนี้ ตรงกันข้าม เราควรรณรงค์ชี้ปัญหาพิษภัย รธน.60 และต่อสู้กับ “นิติสงคราม”" นายปิยบุตรระบุ

นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า น.ส.ปารีณาไม่ต้องจ่ายเงินคืนสภา เนื่องจากทางสภาไม่ได้จ่ายเงินเดือนและเงินอื่นๆ ให้กับ น.ส.ปารีณา ตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 25 มี.ค.64 แล้ว ซึ่งถือว่าเราปฏิบัติตามคำสั่งของศาล

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงขั้นตอนการจัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างว่า ขั้นตอนเป็นไปตามแนวทางเดิม โดย กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 45 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง (วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา) ซึ่งขั้นตอนต่อไปทาง ครม.จะทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่าง เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับแล้ว ทาง กกต.จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและวันรับสมัครเลือกตั้งต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงคิว 'พปชร.' เป็นเจ้าภาพนัดกินข้าวพรรคร่วมฯ 'เศรษฐา' ขออย่าโยงปรับ ครม.

'เศรษฐา' บอก ถึงคิว พปชร. เป็นเจ้าภาพนัดกินข้าวพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังไม่ได้นัดมา ขออย่าโยงเอี่ยวปมปรับ ครม. ยันไม่มีปัญหาพรรคร่วมฯ พูดคุยกันดี เมินแรงกระเพื่อม ย้ำยึดผลงาน