นายกฯคนนอกเกิดยาก ‘วิษณุ’ชี้มีบัญชีสำรอง5ชื่อ พท.เดินหน้าดีลพรรคเล็ก

“วิษณุ” เลกเชอร์นายกฯ สำรอง ยันมีแค่ 5  ชื่อเท่านั้นที่เป็นได้ “อภิสิทธิ์-อนุทิน-ชัยเกษม-ชัชชาติ-สุดารัตน์” ชี้คนเปิดประเด็นแค่หิวแสงแล้วสื่อไปขยายวง “อดุลย์” แจงเหตุดัน “บิ๊กป้อม” เพราะเป็นคนหนุนลุงตู่ต้องรับผิดชอบ “เพื่อไทย” ยันเดินหน้าดีลพรรคเล็ก-กลุ่ม 16  สุดอึ้ง! พิเชษฐบอกเป็นมิติการเมืองใหม่ ไม่กลัวถูกขับออก พท.ดาหน้าอัด "อภิสิทธิ์" แตะ "อุ๊งอิ๊ง"

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม ยังคงมีประเด็นการเมืองว่าด้วยนายกรัฐมนตรีสำรอง โดยนายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งคร่ำหวอดในด้านกฎหมายและรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ยังไม่รู้เลยว่านายกฯ สำรองที่พูดๆ กันแปลว่าอะไร และสำรองตอนไหน ตอนนี้หรือหลังเลือกตั้ง  คำพูดคำนี้ทำท่าเหมือนมีคนพูดขึ้นมาก่อน และความหมายคืออะไรไม่ทราบ ต้องไปถามคนที่พูด ซึ่งไม่ต้องไปพูดหรอกว่านายกฯ สำรองหรือไม่สำรอง สุดท้ายเริ่มต้นลำดับที่ 1 คือว่าต้องดูจากบัญชีรายชื่อที่เหลืออยู่และที่มีอยู่ หากไม่เอารายชื่อดังกล่าว ต้องใช้มาตราที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เปิดทางคนนอกบัญชี จะเรียกนายกฯ สำรองหรือไม่สำรองไม่รู้

เมื่อถามว่า ก่อนเป็นนายกฯ สำรองต้องมีนายกฯ  รักษาการก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าใช่ ต้องมีคนใดคนหนึ่งรักษาการ จะว่างเว้นนายกฯ ไม่ได้

ถามอีกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ  เป็นนายกฯ รักษาการคนแรกใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าใช่ ก่อนย้อนถามว่า เหตุใดจึงต้องมีนายกฯ รักษาการ ผู้สื่อข่าวจึงตอบกลับไปว่ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ต้องพ้นจากตำแหน่งกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี  นายวิษณุอธิบายว่า สมมติว่าเกิดมีคำวินิจฉัยว่าเข้า 8 ปี  ถ้าอย่างนั้นผู้เป็นนายกฯ รักษาการก็เป็นไปตามลำดับที่เรียงไว้ คนแรกคือ พล.อ.ประวิตร และคนที่สองคือตนเอง  โดยนายกฯ รักษาการสามารถยุบสภาได้ แต่ไม่เคยทำ  จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องจัดให้เลือกนายกฯ คนใหม่ภายใน 3-7 วัน เหมือนกับการเลือกนายกฯ ครั้งที่ผ่านมา โดยใช้บัญชีที่มีอยู่ นี่แหละคือสำรอง ซึ่งประกอบด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,  นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 5 คนนี้คือ บัญชีสำรอง

ถามว่า หากคนที่อยู่ในบัญชีนายกฯ สำรองต้องการเป็นนายกฯ ต้องไปรวบรวมเสียง ส.ส.ให้มากที่สุดใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่รู้ จะรวบรวมหรือไม่รวบรวมอะไรทั้งสิ้น เพราะกระบวนการคือนายชวนต้องเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อกำหนดว่าถึงเวลาเสนอชื่อนายกฯ จากนั้นก็เสนอขึ้นมาโดยไม่ต้องรวบรวมเลย และคงจะมีคนลุกขึ้นมาเสนอชื่อ 2-3 คนเหมือนครั้งที่แล้ว และมีการลงมติแข่งกัน ใครคะแนนสูงสุดก็ว่ากันไป และไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อคนนอกบัญชีได้

เมื่อถามว่า หากเลือกกันไม่ได้ต้องไปใช้รัฐธรรมนูญ  มาตรา 272 วรรคสอง เพื่อเปิดทางนายกฯ คนนอกได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เลือกได้หรือไม่ได้ก็ต้องมีผู้เสนอ คือ ส.ส. 250 คนเสนอว่าให้ล้มบัญชีที่มีและเอาบัญชีใหม่ และประธานรัฐสภาก็เรียกประชุมรัฐสภา โดยรัฐสภาต้องมีมติ 500 เสียงจาก 750 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เห็นชอบ เมื่อเห็นชอบก็จะมี ส.ส. 50 คนเสนอชื่อ และประชุมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อโหวตทั้งรัฐสภาว่าจะเอาชื่อไหน กระบวนการทำได้แต่ซับซ้อน

เมื่อถามว่า ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะไปถึงจุดนั้นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าววว่า ไม่ตอบว่ายากหรือไม่ยาก คุณฟังแล้วว่ายากหรือง่าย บางคนบอกอาจง่ายนิดเดียวเพราะทำได้ ก็ไปทำเอา แต่ก็จะมีอายุถึงเดือนมีนาคม 2566 เท่ากับอายุของสภา ก็ไม่รู้จะมาพูดทำไมเรื่องนายกฯ สำรอง  สำรองมีอยู่แล้วคือ 5 คนที่บอกไป ใครที่ไม่อยู่ในนี้ไม่ใช่สำรองทั้งนั้น แต่อันนี้จะเรียกสำรอง บอกไม่มีก็ไม่ได้ มันก็มีอยู่แค่นี้ อย่างที่พูดกฎกติกาเป็นอย่างนั้น สำรองถูกต้องตามกฎหมาย

ถามว่า สงสัยหรือไม่ที่ขณะนี้พูดกันมากถึงเรื่องนายกฯ สำรอง หรือเป็นเพราะประเมินกันว่านายกฯ จะถูกพิจารณาเรื่องดำรงตำแหน่ง 8 ปี จนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น  นายวิษณุกล่าวว่าไม่สงสัย เพราะเป็นปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นเสมอ เมื่อไม่มีอะไรทำก็จะเปิดวาทกรรมทางการเมืองออกมาเพื่อให้เกิดความสับสนเล่น ในอดีตยังเคยรู้จักใครบางคนที่อยู่ว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ทำให้สับสนเล่น โดยปล่อยคำพูดอะไรสักคำหนึ่ง และคำพูดนั้นนักข่าวก็พอใจที่จะตะครุบ เพราะว่าแปลกและไม่เคยได้ยิน ที่สุดท้ายก็หายไปกับสายลมและแสงแดด

เปิดเหตุดันก้น 'ประวิตร'

ขณะที่นายชวนกล่าวเรื่องนี้ว่า กฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นจะไปออกนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญนั้นมันไม่มี  ส่วนเรื่องตัวบุคคลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ภายใต้เงื่อนไขของระบบสภาก็ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลที่มีการเสนอขึ้นมาจากเสียงข้างมาก นี่เป็นไปตามหลักที่ผ่านมาอย่างที่เราได้เห็น ซึ่งมาวันนี้ก็ 3 ปี ส่วนที่เหลืออยู่ 1 ปี อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่อาจไปพยากรณ์ล่วงหน้าได้ แต่เราก็เตรียมให้การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีความสมบูรณ์ เพราะงานปีสุดท้ายจะมีค้างอยู่มาก

ด้านนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เข้าพบนายชวนเพื่อเชิญร่วมงาน  30 ปีรำลึกพฤษภาประชาธรรม วันที่ 17 และ 19  พ.ค.นี้ ก่อนให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางให้ พล.อ.ประวิตรมาเป็นนายกฯ ขัดตาทัพว่า เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประวิตรต้องคิดให้ลึกซึ้ง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์สร้างความเสียหายให้ประเทศ และ พล.อ.ประวิตรต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพราะท่านสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าสถานการณ์ปัจจุบันทุกพรรคจะช่วยกันแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยลงมติให้  พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง หรือหาก พล.อ.ประยุทธ์มีสำนึกต่อบ้านเมืองก็ให้ท่านก้าวลงมาเอง ถ้าลงมาแล้วคนอื่นเป็นนายกฯ ซึ่งไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ลำบาก เพราะท่านโจทก์เยอะ สร้างความเสียหายมามาก วิธีที่ให้ พล.อ.ประวิตรนั่งนายกฯ สำรอง พล.อ.ประยุทธ์จะปลอดภัย

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านมอบให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ดีลกับพรรคเล็กและพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) เพื่อรวบรวมเสียงล้มรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ยิ่งใกล้วันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ยิ่งชัดเจนว่าฝ่ายค้านไม่ได้เน้นเนื้อหาอภิปราย ไม่เคยตระหนักถึงการทำหน้าที่ให้สมศักดิ์ศรี สุดท้ายก็คงจะซ้ำรอยเหมือนกับการอภิปรายในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ที่เน้นวาทกรรมมากกว่าข้อเท็จจริง ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกจากได้เห็นธาตุแท้ของฝ่ายค้าน

นายธนกรยังตอบโต้นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรค พท.ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีรัฐบาลแบบเผด็จการ ทำให้ประเทศเสื่อมว่า ประเทศไทยรู้จักคำว่ารัฐบาลเผด็จการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายจาตุรนต์แล้ว และเผด็จการถึงขั้นกลายเป็นสภาผัวเมียด้วยซ้ำ จึงทำให้ประเทศเสื่อมมาตั้งแต่วันนั้น

อึ้ง! มิติการเมืองใหม่

ส่วนนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม  พรรค พท. กล่าวถึงความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า พรรคเพื่อไทยได้นัดหารือกับนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. และมีนายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ นายดล เหตระกูล รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนาร่วมด้วย โดยพรรคเล็กได้สอบถามความพร้อมเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งได้บอกไปว่าพร้อมมาก มีเรื่องใหญ่หลายเรื่อง  เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์, เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว, เรื่องท่อส่งน้ำอีอีซี โดยหัวหน้ากลุ่ม 16 เป็นบอร์ดการประปา โดยในวันที่ 4 พ.ค. ตนเองและกลุ่ม  16 นัดทานข้าวเย็น ขณะนี้นายพิเชษฐและนายมนูญยืนยันนัดหมายมาแล้ว ยืนยันว่ามีความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล สามารถน็อกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้แน่

               “งานนี้ถ้ายื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วจะยุบสภาไม่ได้ มั่นใจว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่รีบยุบสภาหนีไปก่อนอาจจะตายกลางสภาได้” นายยุทธพงศ์ระบุ

ถามถึงการนัดทานข้าวกับ ร.อ.ธรรมนัส นายยุทธพงศ์กล่าวว่านัดแน่นอน ยังมีอีกหลายนัด ยังนัดทานข้าวกับฝั่งรัฐบาลอยู่เป็นระยะๆ การนัดทานข้าวเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนกันเรื่องบ้านเมือง ไม่ได้เสียหายอะไร

ขณะที่นายพิเชษฐกล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่ม 16 และพรรคเล็กช่วงนี้เพื่อต้องการต่อรองราคาล้มรัฐบาลว่า ไม่มีเรื่องดังกล่าว เพราะการยกมือโหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นทุกอย่างอยู่ที่ข้อมูล ซึ่งกลุ่ม 16 พร้อมตอบรับคำเชิญของ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  คาดว่าจะนัดหมายกันภายในช่วงสัปดาห์นี้ก่อนเปิดสมัยการประชุมสภา ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของนักการเมือง ที่ต้องการเรียกความศรัทธาและความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่รัฐสภา  ถ้าฝ่ายค้านมีข้อมูลและทำหน้าที่เข้มแข็งในการตรวจสอบรัฐบาลทุกเม็ด ก็เท่ากับว่าเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ  ในฐานะ ส.ส.แม้จะอยู่ฝั่งรัฐบาล แต่เพื่อประโยชน์ของประเทศก็พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฝ่ายค้าน ซึ่งผลการลงมติโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นการชี้วัดข้อมูล ถือเป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อประเทศ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ  เพื่อให้รัฐบาลไม่กล้าทำอะไรที่เป็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องทำเพื่อประเทศ และระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงการคลังที่เปรียบเสมือนเป็นกระเป๋าตังค์ประเทศ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการอนุมัติโครงการต่างๆ

 “นี่เป็นมิติใหม่ของผู้แทนประชาชนที่ต้องการเรียกความเชื่อมั่นกลับสู่รัฐสภา ในการทำหน้าที่ดูแลงบประมาณประเทศจะทำลวกๆ ไม่ได้ เราจึงเห็นด้วยกับการไปพบฝ่ายค้าน” นายพิเชษฐกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่พุ่งเป้าไปที่นายสันติ พร้อมพัฒน์  รมช.การคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร.จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ เพราะก็เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค  นายพิเชษฐกล่าวว่า ผู้แทนต้องสังกัดพรรคการเมือง หากเขาขับออก เขาก็อยู่ไม่ได้เอง ไม่สนใจเรื่องตัวบุคคล  เพราะสนใจประเทศและประโยชน์ประชาชนมากกว่า ไม่เลือกข้างถ้าเขาทำไม่ถูกต้อง หากขับออกก็ไปหาพรรคใหม่ได้ ไม่เสียหายอะไร ถ้าข้อมูลฝ่ายค้านตรงกับตนเองก็พร้อมยกมือโหวตไม่ไว้วางใจ

ด้านนายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล รองโฆษกพรรค ศท.โพสต์เฟซบุ๊กว่า พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรค ศท.ได้ออกมายืนยันว่า ไม่มีแนวความคิดขัดขวางการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งจับมือกับฝ่ายค้าน พรรคเล็กเพื่อโค่นล้มรัฐบาลแต่อย่างใด ในส่วนข่าวที่ออกมานั้นเป็นความเห็นของส่วนบุคคล ซึ่งพรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยืนยันว่าพรรคจะไม่ไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการตามที่มีข่าวออกมา อีกทั้งไม่ได้สนับสนุนเรื่องนายกฯ คนนอก  พรรคมุ่งเน้นทำหน้าที่ในการส่งเสริมแนวทางตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าพรรคมีนโยบายชัดเจนจะทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ไม่ขัดแย้ง  สันติ ตรงไปตรงมา และไม่มีดีลลับอะไรทั้งสิ้น

เพื่อไทยดาหน้าโต้อภิสิทธิ์

วันเดียวกัน ยังคงมีประเด็นตอบโต้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  (ปชป.) ที่วิจารณ์พรรค พท.ก้าวไม่พ้นจากครอบครัวชินวัตร โดยนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ​ ชินวัตร​ อดีตนายกฯ ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ว่า "อยากจะพีอาร์ตัวเอง เพื่อกลับมากอบกู้พรรคจากเรื่องหื่น เรื่องฉาว ของรองหัวหน้าก็ทำไป อย่ามาใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือเลย" 

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พท.ทวีตข้อความเช่นกันว่า "แปลกใจเห็นข่าวนายอภิสิทธิ์ แสดงความห่วงใยพรรคเพื่อไทยว่าก้าวไม่ข้ามชินวัตร เกรงรัฐประหารจะเกิดซ้ำ อย่ากังวลเลย ห่วงและปัดกวาดพรรคท่านก่อนเถิด ปัญหารองหัวหน้าถูกกล่าวหา ฉาวโฉ่ ยังไม่จบ และยังเรื่องที่พรรคท่านเป็นจำเลยชักนำเกิดรัฐประหาร จนประเทศแย่ยังไม่เคลียร์"

นายจาตุรนต์กล่าวเช่นกันว่า หากมองว่าเป็นการพูดเพื่อไม่ให้คนเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งก็พอเข้าใจได้ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือการพูดอย่างนี้เป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตย และสนับสนุนเผด็จการและการรัฐประหาร ในหลักการประชาธิปไตยมีด้วยหรือที่หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีพฤติกรรม หรือการกระทำที่เป็นลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัวให้พวกพ้อง หรือไปทำอะไรที่ฝืนกับหลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมายจะเป็นความถูกต้องชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ถ้ามีพฤติกรรมอย่างนั้นจริง ทำไมไม่ใช้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการกับรัฐบาลนั้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวโต้นายจาตุรนต์ว่า หวังว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ของนายจาตุรนต์เกิดจากการอ่านแค่พาดหัวข่าว ไม่ใช่จงใจบิดเบือนสิ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ เพราะได้พูดอย่างชัดเจนว่าการที่ประชาชนจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่อาจมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นั้นไม่ได้เป็นปัญหา เพราะทุกคนต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนอยู่แล้ว แต่เตือนว่าถ้า น.ส.แพทองธารบริหารประเทศแล้วนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้บุคคลในครอบครัวและพวกพ้อง ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ตลอดจนกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหลาย รวมทั้งองค์กรอิสระ ก็อาจเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารเหมือนกับในอดีตได้ โดยไม่เคยแสดงความคิดเห็นว่าการรัฐประหารในสถานการณ์นั้นจะมีความชอบธรรม เช่นเดียวกับทั้งในปี 2549 และโดยเฉพาะในปี 2557  ไม่เคยเรียกร้องหรือยอมรับว่าการรัฐประหารมีความชอบธรรม ในทางตรงกันข้ามได้พยายามเสนอทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงการรัฐประหารตั้งแต่เดือน มี.ค.57 อีกทั้งพยายามโน้มน้าวตัวแทนของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลในขณะนั้นให้แสวงหาทางออก จนถึงนาทีสุดท้ายก่อนการรัฐประหาร  แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

“ผมไม่ได้มีส่วนได้เสียทางการเมืองในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีแนวคิดหวนกลับเข้าสู่การเมืองในเร็วๆ นี้ ส่วนที่กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยว่าก้าวไม่พ้นครอบครัวชินวัตรนั้น  เป็นการสะท้อนความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากที่มองเห็นว่า พรรคมีบุคลากรมากมาย รวมทั้งนายจาตุรนต์ ที่อยู่ในสถานะที่จะนำพาพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองได้มากขึ้น” นายอภิสิทธิ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง