ตรึงดีเซล32บ. ‘กุ้ง-หมู-เนื้อโค’ ราคาพุ่งขึ้นอีก

กบน.ต่อเวลาตรึงดีเซล 32 บาท/ลิตรอีกสัปดาห์ จากราคาจริงอยู่ที่ 38 บาท รับราคาตลาดโลกยังคงสูง เผยธนาคารออมสิน-กรุงไทยเสนอเงื่อนไขปล่อยกู้ มั่นใจมีเงินกู้เข้ามาเดือน มิ.ย. พร้อมศึกษาแนวทางปรับลดสูตรผสมดีเซลเหลือ B3 “ธ.ก.ส.” แจง พ.ค.นี้ราคา "กุ้ง-หมู-เนื้อ"  ยังทะยานต่อ รับส่งออกพุ่ง แถมอานิสงส์ผ่อนคลายมาตรการโควิดเปิดประเทศกระทุ้งความต้องการบริโภคเพิ่ม สวนทางราคาปาล์มน้ำมันดิ่งจากผลผลิตล้นตลาด

เมื่อวันจันทร์ นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้คงราคาดีเซลในสัปดาห์นี้ไว้ที่ 32 บาทต่อลิตร โดยกองทุนอุดหนุนอยู่ที่ 11.35 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพให้ประชาชน จากราคาจริงอยู่ที่ 38 บาทต่อลิตร ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง เห็นได้จากราคาดีเซล ณ วันที่ 6 พ.ค.65 อยู่ที่  160.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 “มั่นใจว่าจากสภาพคล่องที่กองทุนมีประมาณ 12,932  ล้านบาท ยังเพียงพอในการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ หลังรัฐบาลมีนโยบายให้ปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นแบบมีการอุดหนุนครึ่งหนึ่งของราคาที่ปรับขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งประเมินทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง หลังยุโรปผ่านพ้นฤดูหนาวเป็นปัจจัยหลัก กบน.จึงมีมติให้คงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ไว้ที่  32 บาท/ลิตร ซึ่งประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน (วันที่ 8 พ.ค.65) ติดลบ 66,681 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 33,258 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 33,423 ล้านบาท” นายวิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีการติดตามสถานการณ์สู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่จะมีผลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการพิจารณาปรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศขึ้น/ลงเป็นรายสัปดาห์อีกครั้งในวันที่ 16  พ.ค.65 หากในแต่ละรอบสัปดาห์ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง ก็จะมีการปรับเงินอุดหนุนและปรับเพดานราคาลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันต่อไป

นายวิศักดิ์กล่าวอีกว่า การพิจารณาของ กบน.ดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง 10 มาตรการลดค่าครองชีพประชาชน โดยให้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.65 หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง โดย กบน.ได้พิจารณาปรับราคาน้ำมันดีเซลครั้งแรกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 เป็นต้นมา สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้อุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศนั้น ขณะนี้ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยมีความสนใจและยื่นข้อเสนอการปล่อยกู้มายังกองทุนแล้ว เชื่อว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน พ.ค.นี้ และมีเงินเข้ามาในกองทุนเดือน มิ.ย.ได้ตามที่กำหนดไว้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซลลงมาอยู่ที่ B3 จากปัจจุบันอยู่ที่ B5 มั่นใจจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ          

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค.65 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่  8,546-8,719 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.08-3.14%, ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาอยู่ที่  11,904-12,130 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.61-3.55% เนื่องจากภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ประเทศผู้นำเข้ามีความต้องการข้าวเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และใช้เป็นสินค้าทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัว ส่งผลให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ส่วนข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,793-8,830 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.20-0.62% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 9.62-9.69 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.28-1.06% ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 62.27-63.34 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.61-2.34% มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.40-2.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.84-5.04%

กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 153.55-155.51 บาท/กก.  ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.02-2.31% เนื่องจากภาวะต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงกุ้งลง ขณะที่ความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้น  และการผ่อนคลายมาตรการโควิดส่งผลดีต่อการบริโภคกุ้งในประเทศ, สุกร ราคาอยู่ที่ 93.43-95.83 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.11-6.78% เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสุกรเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาสภาพอากาศร้อนทำให้สุกรเจริญเติบโตช้า ผลผลิตเนื้อสุกรออกสู่ตลาดน้อย และโคเนื้อ ราคา 100-105 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน  0.32–5.34% เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายออิดิ้ลฟิตรีหลังการถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ปาล์มน้ำมัน ราคา 9.63-9.75 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 1.11-2.33% เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.65) อยู่ที่ 5.75 ล้านตัน คิดเป็น 32.73% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดต่อปี นอกจากนี้ตามนโยบายรัฐมีการปรับสัดส่วนไบโอดีเซลจาก 7% เหลือ 5% ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มสูงขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง