นายกฯเบาใจโควิดขาลง เร่งทำแผนโรคประจำถิ่น

ไทยติดเชื้อ 6.2 พันราย เสียชีวิต 53 คน นายกฯ ยันรัฐบาลเดินหน้าเต็มที่รับเปิดประเทศ หลังสถานการณ์โควิดเบาลง แนะทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมสู่โรคประจำถิ่น

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,230 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,210 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,198 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 12 ราย, มาจากเรือนจำ 16 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 11,132 ราย อยู่ระหว่างรักษา 80,002 ราย อาการหนัก 1,481 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 715 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 53 ราย เป็นชาย 30 ราย หญิง 23 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 47 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,337,568 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,228,370 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,196 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 517,739,822 ราย เสียชีวิตสะสม 6,278,010 ราย

 สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,144 ราย, บุรีรัมย์ 236 ราย,  ขอนแก่น 235 ราย, สุรินทร์ 209 ราย, สมุทรปราการ 193 ราย, ชลบุรี 185 ราย,  นครราชสีมา 175 ราย, อุบลราชธานี 148 ราย, นนทบุรี 136 ราย และร้อยเอ็ด 122 ราย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ก็เบาบางลง ได้รับคำชื่นชมจากหลายประเทศ หลายองค์กร เราจะทำอย่างไรให้สามารถเปิดประเทศ เปิดกิจการ จัดงานต่างๆ ได้ ไปสู่ความเป็นปกติใหม่ เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวทางที่ประกาศไว้ว่า ล้มแล้วต้องลุกให้ไว และก้าวให้ทัน ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการหลายอย่างเพื่อสนับสนุนการเปิดประเทศ

ทางด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกฯ เสนอแนะทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น ภายหลังที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโควิด-19 เห็นชอบประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทั่วประเทศ สอดคล้องสถานการณ์โลก รวมถึงสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อปอดอักเสบ ใส่เครื่องหายใจ และผู้เสียชีวิตในประเทศ มีแนวโน้มที่ลดลง ทำให้ขณะนี้มีจังหวัดที่เข้าสู่ระยะทรงตัวแล้ว 23 จังหวัด และจังหวัดที่สถานการณ์ดีขึ้นอยู่ในระยะขาลง 54 จังหวัด ทั้งนี้ เพื่อการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและประชาชน ให้ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ โดยเน้นให้ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการ 2U คือ Universal Prevention ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกันเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต่อไป

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรงเรียนในหลายๆ พื้นที่จะทำการเปิดการเรียนการสอนเป็นแบบ On-site ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เด็กๆ ต้องเปลี่ยนการดำเนินชีวิตจากการเรียนออนไลน์กับผู้ปกครองที่บ้านที่มีความยืดหยุ่นเป็นเวลานาน ในการเปิดภาคเรียนเด็กๆ ต้องตื่นเช้าเพื่อไปโรงเรียน เข้าระบบการเรียนการสอนที่เป็นเวลามากขึ้น อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ปกครองหลายท่านอาจจะกังวลในเรื่องของความปลอดภัยเมื่อลูกต้องไปโรงเรียน จึงควรเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนออกจากบ้าน โดยสวมหน้ากากอนามัย แนะให้ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เตรียมอุปกรณ์การเรียนและของใช้ส่วนตัวเพื่อจะได้ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากลูกหลานมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก ควรหยุดเรียนทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคเพิ่มขึ้น และลดการแพร่กระจายเชื้อ ทางโรงเรียนต้องเคร่งครัดมาตรการสาธารณสุขเพื่อลดความเสี่ยงโควิดในโรงเรียน เน้นย้ำให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่าง คัดกรองวัดไข้ ก่อนเข้าโรงเรียน ลดการแออัด และความสะอาดในโรงเรียน การล้างมือหลังสัมผัสปุ่มสัมผัส ลูกบิดประตู และรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และสำรวจตรวจสอบตนเองจะช่วยให้เด็กไปโรงเรียนอย่างมีความสุข และปลอดภัยห่างไกลโรคโควิด-19 ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนโควิด-19 ก่อนไปโรงเรียน ตามคำแนะนำของแพทย์

 ที่ จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในเดือน พ.ค.นี้ คนโคราชจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นเข็มกระตุ้นให้ได้ร้อยละ 50 เพื่อประกาศเป็นโรคประจำถิ่นทั้งจังหวัด สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบผู้ป่วยรายใหม่ 172 ราย ผล ATK 1,379 ราย รวม 1,551 ราย  เสียชีวิต 3 ราย รวมมีผู้ป่วยรักษาอยู่ 25,555 ราย หายแล้ว 122,689 ราย เสียชีวิตรวม 223 ราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง