ทีมศก.ตีปี๊บภูมิคุ้มกันดี คลอดมาตรการเพียบ!

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลตีปี๊บ ศก.ไทยภูมิคุ้มกันดี คลอดสารพัดมาตรการฝ่าวิกฤตโควิด-สงครามยูเครน  "สุพัฒนพงษ์" มั่นใจเศรษฐกิจปีนี้ยังโตได้ ชี้มีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง เดินหน้าเต็มสูบพร้อมเปิดประเทศ

ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน  กล่าวในงานเสวนา "ถามมา...ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า" ในหัวข้อ "มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย" ว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังเติบโตไปได้ ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกรัฐบาลก็แก้ปัญหากันต่อไป ความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาของคนไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้เหมือนที่ผ่านมา ยอมรับว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาพลังงานและสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดซึ่งเป็นสินค้าต้นทุนการผลิตต่างๆ ปรับราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี

 “ผมเชื่อว่าวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่รัฐบาลก็ทำเต็มที่ ออก 10 มาตรการดูแลเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังพยายามดูแล หรือกรณีราคาน้ำมัน แม้จะบอกว่าแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็พยายามดูแลให้ดีที่สุด ขณะนี้ไทยรอเวลาการเปิดประเทศ รอเวลาการปรับตัวของประชาชน คนไทยเราบ่นไทยแต่ก็ปรับตัว ไม่ทิ้งกัน ภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว ลดค่าใช้จ่ายลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ไม่พยายามส่งต้นทุนทั้งหมดแก่ภาคผู้บริโภค ไม่ต้องการกำไรเกินควร พยายามพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ซึ่งวันนี้ไทยผ่านวิกฤตมา 2 ปี แต่ยังมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง” นายสุพัฒนพงษ์ระบุ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นร่วมกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต่างๆ สร้างดีมานด์ในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้น จึงทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยไม่ได้รุนแรงมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

รมว.การคลังกล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 นโยบายการคลังกับนโยบายการเงินต้องสอดประสานกัน นโยบายการเงินก็ต้องดูในเรื่องต้นทุนการเงิน การพักชำระหนี้ การเติมเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ส่วนนโยบายการคลัง ก็ต้องมีมาตรการเยียวยา เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน, เราชนะ, คนละครึ่ง ซึ่งเป็นต้นทุนของรัฐบาลที่ไม่มีใครสามารถแบกรับแทนได้ ทำให้จำเป็นต้องมีการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการในการใช้นโยบายการคลัง ดูแลภาคประชาชน ธุรกิจ ซึ่งต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกันหมด และไทยเองก็ไม่ได้สูงที่สุด

โดยเมื่อมองไปข้างหน้า ยังมีต้นทุนอีกอย่างที่เข้ามาผ่านการเติมสินเชื่อเข้าระบบ และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ทั้งธนาคารเอกชนและธนาคารของรัฐ แต่กรณีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะได้เปรียบ เพราะรัฐบาลเข้าไปชดเชยให้ในกรณีหนี้เสีย 30-40% และมีการยกเว้นภาษีให้ในช่วงเวลา 2 ปี ดังนั้นรัฐบาลจะมีต้นทุนในการดูแลประชาชนและธุรกิจรวม 1.5 ล้านล้านบาท และในส่วนที่ลดภาษีให้ ไม่ใช่เฉพาะต้นทุนจากการกู้เงินเท่านั้น

ดังนั้นสิ่งสำคัญกระทรวงการคลังจะต้องเร่งดำเนินการคือ การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ในภาวะที่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ยอมเลือกที่จะเติบโตช้า แต่ว่าเป็นการเติบโตที่มั่นคง โดยมุ่งพัฒนา 3 ด้าน ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ 1.มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลเทคโนโลยี 2.สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2030 และ 3.การสร้างความเข้มแข็งให้ภาคสาธารณสุข

"ทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้การสนับสนุน ทั้งจากการออกมาตรการภาษี การให้สินเชื่อ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลในเรื่องของ Finance Sustainable หรือความยั่งยืนด้านการคลัง ไม่ใช่จ่ายออกเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีรายได้ มีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการ" รมว.การคลังระบุ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการประคองเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการด้านการเงินและการคลัง ผ่านโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" "คนละครึ่ง" เพื่อช่วยค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภค รวมทั้งมาตรการเงินกู้ช่วยเหลือรายย่อย และมาตรการสาธารณสุขเพื่อรักษาชีวิตประชาชน รวมถึงมีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ผ่านโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" เพื่อช่วยการท่องเที่ยว โครงการ "เราชนะ" และเติมเงินในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ

"สิ่งที่รัฐบาลทำคือ การประคับประคองเศรษฐกิจ การดูแลรักษาชีวิตประชาชน และมีการอัดเม็ดเงินลงทุน รักษาการจ้างงาน ซึ่งนโยบายที่ทำต้องดูจังหวะ เวลา และต้องติดตามตลอด และสิ่งที่เกิดขึ้น การใช้โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ ทำให้ประชาชนมีการปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และช่วงที่เดลตาระบาด สามารถดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น ประมาณ 20 ล้านคน" นายดนุชาระบุ

สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นั้น ที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ และเศรษฐกิจพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการผลิตแบบเดิม  แต่จากการวิกฤตโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกรอบ โดยแผนฯ ฉบับที่ 13 กำหนดเรื่องที่ต้องให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น เน้นการวิจัยนวัตกรรม โดยเน้นเรื่องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มีสินค้าใหม่ เกษตรแบบ Smart Farming ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องปรับตัว ปรับสู่ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมบริการ รวมถึงในแผนมีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำ สร้างซัพพลายเชน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค มีกิจกรรมเศรษฐกิจไปภูมิภาค แก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง