พอใจปชช.ยังสวมแมสก์ 1ก.ค.รักษาโควิดตามสิทธิ

"บิ๊กตู่" ดีใจ ปชช.ยังใส่หน้ากากป้องกัน ไม่ต้องกลัวถูกบูลลี่ สธ.ชี้แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตายน้อยลง รับโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ทำวัคซีนทุกยี่ห้อประสิทธิภาพลด แต่ยังป้องป่วยหนักได้ ยันเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง-สูงอายุ สปสช.เผย 3 ปีโควิดควักงบ 150,000 ล้านบาท ชี้ไทยพ้นระบาดใหญ่ตั้งแต่ 1 ก.ค. รักษาตามสิทธิ เล็งยกเลิกแจก ATK ร้านขายยา

เมื่อวันพุธ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,569 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,569 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,569 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,984 ราย อยู่ระหว่างรักษา 23,029 ราย อาการหนัก 665 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 300 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14 ราย เป็นชาย 4 ราย หญิง 10 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,520,220 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,466,557 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,634 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 550,643,002 ราย เสียชีวิตสะสม 6,353,680 ราย

ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES FOR STRONGER THAILAND โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า หลายประเทศชื่นชมประเทศไทยสามารถบริหารจัดการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตนนั่งฟังก็เก็บไว้ในใจที่ต่างชาติชื่นชม เพราะเขาก็เจอสถานการณ์หนักกว่าเรา แต่ทำไม่ได้แบบเรา สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วในประเทศไทย คือความร่วมมือ ไม่ใช่ตนทำคนเดียว แต่เป็นความร่วมมือของทุกคน

“วันนี้ดีใจที่เห็นหลายคนยังไม่ถอดหน้ากากอนามัย ซึ่งตอนให้ใส่ไม่อยากใส่ และพอให้ถอดไม่อยากถอดแล้ว แต่ท่านบังคับคงไม่ไหว ถ้าไม่อยากเป็นก็ขอให้ใส่ ไม่ต้องกลัวจะถูกบลูลี่ว่ายังใส่หน้ากาก เพราะคนพูดติดไปเยอะแล้ว” นายกรัฐมนตรีระบุ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจทุกหน่วยงานไทยมีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบให้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 โดยยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass หรือ COE ของชาวต่างชาติ โดยได้กำชับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมระบบ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เหมาะสม สิ่งสำคัญต้องขอความร่วมมือจากประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ด้วยการเว้นระยะห่าง ล้างมือ และยังคงแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเสมอ

วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังอยู่ในการควบคุมได้ แม้แนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอำเภอเมือง ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิด และเริ่มมีสัญญาณพบผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง แต่ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ดังนั้นจึงต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงคือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว รวมทั้งพิจารณาใช้ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (LAAB) ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอจากการฉีดวัคซีน สำหรับผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่มีประวัติการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ได้ให้จังหวัดติดตามข้อมูลและเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาภูมิคุ้มกันตามแนวทางที่กำหนด เพื่อยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตและค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คาดว่าการติดเชื้อที่มีการรายงานทั่วโลก 550 ล้านคน ไม่ใช่ตัวเลขติดเชื้อจริง เนื่องจากบางคนไม่แสดงอาการ จึงคาดการณ์ว่าน่าจะมีตัวเลขผู้ป่วยสูงกว่ารายงานประมาณ 7-8 เท่า ส่วนในประเทศไทย แนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจริง หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนการระบาดช่วงสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับตัวเลขผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบ ผู้เสียชีวิต ซึ่งจะสะท้อนสถานการณ์ว่าจริงๆ แล้วโรครุนแรงหรือไม่ ระบบสาธารณสุขรองรับได้หรือไม่ โดยอัตราเสียชีวิตของโควิดอยู่ที่ 0.07% เทียบกับไข้หวัดใหญ่ อยู่ที่ 0.1% ดังนั้นโควิดยังถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าอีกหลายๆ โรค

ส่วนการพบโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ต้องยอมรับทุกครั้งที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพวัคซีนทุกชนิดเป็นธรรมดา อัตราป้องกันการติดเชื้อย่อมลดลง แต่ในส่วนอัตราป้องกันการป่วยหนักรุนแรง แม้ลดลงแต่ก็ยังป้องกันได้ดีอยู่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง โดยคนที่ควรรับคือคนกลุ่ม 608 คนที่ทำงานพบปะคนจำนวนมาก แพทย์ ตำรวจ ทหาร คนเหล่านี้จำเป็นต้องรับวัคซีนป้องกัน

ทั้งนี้ สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนปฏิบัติตัวหลังพ้นการระบาดใหญ่ คือ 1.ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ควรรับทุกๆ 4 เดือน 2.แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่การสวมหน้ากากอนามัยถือว่ายังมีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่รวมกับคนหมู่มาก

นพ.โอภาสยังกล่าวถึงแนวทางการฉีด Evusheld  (อีวูชีลด์) ของแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันแบบสำเร็จ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุมัติไปแล้วนั้นว่า กรมควบคุมโรคได้จัดซื้อแล้ว เบื้องต้นจำนวน 2 แสนโดส แต่ไม่ได้เพิ่มงบประมาณเพื่อจัดซื้อ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงสัญญากับทางบริษัทผู้ผลิตเพื่อเปลี่ยนจากวัคซีนมาเป็นยาดังกล่าวแทน ส่วนการนำไปใช้นั้น คณะกรรมการวิชาการในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้นำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันคือ ผู้ป่วยโรคไต ผู้เปลี่ยนไต ฟอกไต และเนื่องจากเป็นยาใหม่ จึงมีข้อเสนอว่าให้ทำการศึกษาด้วย

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากที่ไทยพ้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 (Post-Pandemic) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ก็ทำให้การรักษาพยาบาลของประชาชนจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งหากเมื่อมีการเจ็บป่วยก็ให้รักษาพยาบาลตามสิทธิรักษาเดิมที่มีอยู่คือ การไปใช้บริการในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หากเห็นสมควรว่าจะต้องส่งตัวต่อตามระบบ โรงพยาบาลจะประเมินและส่งต่อเอง เพราะเนื่องจากถือว่าการป่วยโควิด ต่อไปก็จะเหมือนกับการเจ็บป่วยแบบไข้หวัดธรรมดา

“แต่เดิมการระบาดของโควิด ช่วงแรกมีประชาชนป่วยมาก ทำให้หน่วยงานรัฐต้องระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ทำให้เมื่อป่วยโควิด สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ หรือการเกิดฮอสพิเทล แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มดีขึ้น ก็ต้องมีการปรับระบบเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะโรคไม่ได้รุนแรงเหมือนเดิมอีกต่อไป” ทพ.อรรถพร ระบุ

ทพ.อรรถพรกล่าวด้วยว่า สำหรับค่ารักษาพยาบาลจากโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ใช้งบประมาณมากกว่า 150,000 ล้านบาท และในการประชุมบอร์ด สปสช. วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เตรียมพิจารณาเรื่องการแจกชุดตรวจ ATK ในร้านขายยาว่า สมควรยกเลิกหรือขยายต่อหรือไม่ เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค การตรวจ ATK ให้ทำต่อเมื่อมีอาการป่วยเท่านั้น ไม่ต้องมีการตรวจบ่อยครั้งเหมือนในอดีต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง