ป้อมขวางรื้อมาตรา112

“บิ๊กป้อม” ตอกฝาโลงยันพลังประชารัฐไม่เอาด้วยแก้ไขมาตรา 112 แน่ “พีระพันธุ์” กางตำรากฎหมายอบรม อัด “ชัยเกษม” บอก ม.112 และ ม.116 มีปัญหาทำไมตอนเรียนหรือเป็นอัยการไม่เคยเอ่ยอ้าง ลั่นจะปกป้อง 2 มาตรานี้ “รปช.-พรรคเล็ก” ประสานเสียงไม่เอาด้วย เพื่อไทยเสียงอ่อยรอผลประชุม 3 พ.ย.

เมื่อวันอังคาร ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เตรียมเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า พรรค พปชร.มีจุดยืนชัดเจนเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ คือต้องดำเนินการเป็นไปตามที่พรรคได้ให้ไว้เกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องอยู่ต่อไป เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ได้สร้างประเทศชาติ พรรค พปชร.ไม่เอาด้วยแน่นอน แต่เราจะรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป เราจะช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ดีกินดี ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ ที่หลายพรรคการเมืองมาเล่นประเด็นนี้กันมากขึ้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ผมไม่ทราบคุณลองไปถามเขาดู” เมื่อถามว่ามีความเป็นห่วงหรือไม่หากอภิปรายในสภาในเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ห่วง ฝ่ายรัฐบาลจะต้องดำเนินการและทุกพรรคต้องร่วมกัน

น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรค พปชร. แถลงผลการประชุม ส.ส.ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้เน้นย้ำจุดยืนของพรรค ว่า พปชร.ยังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการทำงานของพรรคเราพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อสถาบัน ต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เมื่อถามย้ำว่า พรรค พปชร.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ใช่หรือไม่ น.ส.พัชรินทร์ยอมรับว่า ใช่ เราจะไม่แตะมาตรา 112

ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่มีเพียงสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ต้องมีขอบเขตและมีกฎกติกาของการใช้สิทธิเสรีภาพด้วย โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการคิดและการพูด มิฉะนั้นก็จะทำให้เกิดข้อพิพาทวุ่นวายกันทั้งประเทศจนหาข้อยุติไม่ได้ นำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด การเคารพกฎกติกาจึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการเคารพกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกฎกติกาของการใช้สิทธิเสรีภาพให้อยู่ในกรอบของความพอดี ไม่ใช่ใช้สิทธิเสรีภาพเกินเลยจนไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือทำร้ายผู้อื่น หรือทำให้บ้านเมืองเสียหาย

นายพีระพันธุ์โพสต์อีกว่า เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และลำพังแต่ความคิดไม่เห็นด้วยนี้ ไม่อาจทำให้เรามีความผิดและตกเป็นนักโทษตามกฎหมายได้ แต่ถ้าเราลงมือกระทำในสิ่งที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดเมื่อใดแล้ว นั่นคือการทำลายกติกาทำลายประชาธิปไตย ที่ทำให้เราต้องตกเป็นนักโทษและต้องรับโทษตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นเพียงแค่คิดแต่ไม่มีการลงมือกระทำ ก็ไม่มีความผิดอาญาและไม่มีโทษตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีนักโทษทางความคิดในคุกไหนทั้งนั้น

"นักโทษทางความคิดที่อยู่ในคุกจึงไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงการอุปโลกน์ดัดจริตเล่นสำนวนขององค์กรต่างชาติและนักการเมืองสั่วๆ ที่คิดเป็นแค่สร้างกระแสโหนกระแสเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีและความเสียหายของชาติบ้านเมือง กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 เป็นกฎหมายที่เป็นกฎกติกาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งแต่ละประเทศทั่วโลกก็ล้วนมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐเช่นนี้ทั้งสิ้น ต่างแต่ในรายละเอียดและวัฒนธรรมประเพณี เช่น สเปน สวีเดน เดนมาร์ก บรูไน มาเลเซีย ภูฏาน หรือแม้แต่อังกฤษ และอีกหลายๆ ประเทศที่มีระบบกษัตริย์ ก็ล้วนแต่มีกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับมาตรา 112 ของไทยทั้งนั้น” นายพีระพันธุ์ระบุ

สำหรับประเทศที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ใช้ระบบประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในแถบยุโรปก็มีกฎหมายที่เอาผิดจำคุกคนที่ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายประธานาธิบดีเช่นกัน และในบางคดีก็มีโทษมากกว่าโทษตามมาตรา 112 ของเราเสียด้วยซ้ำ แต่ทำไมไม่เห็นมีการเรียกร้องกล่าวหาของประชาชนในสหรัฐและในหลายๆ ประเทศเหล่านั้นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการจำกัดความคิดเห็นทางการเมือง ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักความยุติธรรมของประเทศต้องยกเลิกให้หมด องค์กรต่างชาติที่เข้ามาวุ่นวายในบ้านเราก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งวุ่นวายเรื่องนี้ในประเทศเหล่านั้น แล้วทำไมถึงต้องเข้ามาวุ่นวายแต่กับไทย ประเทศที่มีวันนี้ได้เพราะบรรพกษัตริย์และบรรพบุรุษนักรบของเราแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

นายพีระพันธุ์โพสต์อีกว่า มาตรา 116 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐโดยตรง ความผิดตามมาตรา 116 มี 3 ประการ คือ ต้องเป็นการกระทำเพื่อ 1.ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย 2.ทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และ 3. ทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน หากใครกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นจนบ้านเมืองย่อยยับ แต่คนทำไม่มีความผิด บ้านเมืองจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร คงไม่มีประชาชนที่เป็นพลเมืองดีและเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศคนไหนอยากให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ เพราะฉะนั้น อย่าอ้างสั่วๆ ว่าประชาชนเรียกร้อง เพราะมาตรา 112 และมาตรา 116 ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองหรือความคิดทางการเมืองเลย

“แปลกที่บางคนตั้งแต่เรียนกฎหมายจนสอบได้เนติบัณฑิต ก็เข้าใจและไม่เคยเห็นแย้งกับหลักกฎหมายนี้ พอมารับราชการจนได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตก็ยึดปฏิบัติตามหลักกฎหมายนี้ ไม่เคยพูดไม่เคยแสดงความคิดเห็นสักแอะว่าหลักกฎหมายนี้มันจำกัดความคิดเห็นทางการเมือง ถ้าคิดสั่วๆ แบบนี้จริงๆ แล้วทำไมก่อนหน้านี้ตอนเรียนกฎหมาย ตอนอยู่ในตำแหน่งราชการ จึงไม่แสดงความเห็นออกมา ไม่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 มาตรา 116 เสียตั้งแต่ตอนนั้นล่ะ ทำไมต้องรอมาจนอายุปูนนี้ หรือว่าเมื่อสวมเสื้อพรรคการเมืองแล้วสีน้ำเงินมันหายไปจริงๆ ใครไม่เอามาตรา 112 ไม่เอามาตรา 116 ก็แล้วแต่ แต่ผมเอา และจะปกป้องทั้งสองมาตรานี้ตลอดไป” นายพีระพันธุ์ระบุ

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพียงเพราะผลประโยชน์ และปกป้องการกระทำความผิดของบางกลุ่มหรือพรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น การกระทำเช่นนี้จะทำให้คนไทยที่รักสถาบันหูตาสว่างขึ้นว่าพรรคเพื่อไทยที่แท้ก็คืออีแอบที่เกี่ยวข้องเรื่องการคิดจาบจ้วงก้าวล่วงของม็อบสามกีบและคณะราษฎรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างนั้นใช่ไหม

“ผมสงสัยตั้งแต่สัญลักษณ์ เริ่มเอาสีน้ำเงินออกจากโลโก้ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า สีน้ำเงินในธงชาติไทยหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำไมต้องเอาออก คนไทยที่จงรักภักดีสงสัยมากฝากถามมามากมายว่าตกลงเดี๋ยวนี้คนในพรรคเพื่อไทยไม่รักสถาบันเบื้องสูงแล้วหรือ”

นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 กฎหมายคือกติกาของสังคมในการอยู่ร่วมกัน การกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วจะยกมาแก้ พวกท่านแน่ใจแล้วหรือว่าคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับได้ ท่านต้องการอยู่เหนือกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อสังคมกันแน่

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า พรรคมีจุดยืนชัดเจนที่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะร่วมกับประชาชนปกป้องสถาบัน ถ้ามีการนำประเด็นแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่สภา จะคัดค้านอย่างถึงที่สุดทั้งในและนอกสภา

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ภายหลังการประชุมพรรค ถึงการหารือถึงการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า คนที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งนายชัยเกษมได้อธิบายและให้สมาชิกไปศึกษาแถลงการณ์ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำไปบิดเบือน และเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เรื่องดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่มีเจตนาดี เนื่องจากกระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา ซึ่งเราโฟกัสจุดนี้ ส่วนจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่ ต้องพูดคุยกันหลายระดับ วันที่ 3 พ.ย. หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะประชุมเพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว ส่วนจะเข้าสภาได้หรือไม่ต้องติดตาม ทั้งนี้ เราจะฟังเสียงประชาชนและสังคมให้รอบด้าน ฝ่ายการเมืองเสนออะไรก็ได้ แต่ต้องฟังเสียงสังคมและประชาชน

"เรื่องนี้ไม่เฉพาะฝ่ายค้านหรือพรรคเพื่อไทย แต่ควรจะผลักดันกันทั้งสังคมและรัฐบาลด้วย หากสังคมคิดว่าไม่จำเป็นหรือเห็นว่าควรนำเรื่องเข้าสภาก็ต้องฟัง และยืนยันที่พูดมาตรงนี้ คือการนำไปหารือในที่ประชุม ยังไม่พูดถึงการแก้ไข" นายสุทินกล่าว

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. ยอมรับว่า การผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คงไม่ง่ายแน่นอน คงต้องเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมและ ส.ส. และหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะให้การสนับสนุน เพราะมีการพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ขณะที่เพจศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) โพสต์ข้อความว่า ศปปส.ร่วมกับภาคี​กลุ่ม​ประชาภัก​ดิ์​พิทักษ์​สถาบัน​ กลุ่มกลุ่ม​อาชีวะ​ปกป้อง​สถาบัน​ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 วันพุธที่ 3 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.​ ที่รัฐสภา เกียกกาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รังสิมันต์'แนะ 3แนวทางแก้ปัญหาเมียนมา!

กมธ.ความมั่นคงเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องถกสถานการณ์เมียนมา 'โรม' ชี้ปัญหาในเมียนมาก็เป็นปัญหาของไทย เหตุคนหนีอพยพข้ามแดน ลั่นไทยอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจที่สุด ควรเป็นตัวกลางในการเจรจา