BA.4-BA.5ยึดเมืองกรุง สธ.ชี้ป่วยน้อยพุ่ง10เท่า

ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,995 ราย เสียชีวิตอีก  18 ราย กรมวิทยาศาสตร์ฯ เผยสายพันธุ์ BA.4-BA.5  ส่อเค้าครองตลาด กทม.สูงสุด เตรียมแพร่ไปต่างจังหวัดตามวัฏจักร กรมควบคุมโรครับยอดผู้ป่วยสีเขียวเพิ่ม 10  เท่าหลังผ่อนคลายมาตรการ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,995 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 4,532,100 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,148 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 24,818 ราย โดยมีอาการหนัก 677  ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 293 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 18  ราย รวมเสียชีวิตสะสม 30,718 ราย

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงสถานการณ์เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19  ว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการถอดรหัสพันธุกรรมทุกสัปดาห์  ซึ่งตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.-1 ก.ค.ได้ถอดรหัส 946 ตัวอย่าง  เป็นการติดเชื้อโอมิครอน 100% ขณะที่สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.1 มี 1.1% BA.2 มี 47.3% BA.4 และ  BA.5 มี 51.7% โดยการตรวจในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ พบว่ามี 46 ตัวอย่างเป็น BA.1 จำนวน 21.7% และ BA.4-BA.5 จำนวน 78.3%

 “หากดูรายสัปดาห์จะเห็นว่าเริ่มต้นกว่า 6% เมื่อ 2  สัปดาห์ก่อน แล้วมาเป็น 44.3% และมาเป็น  51.7%  เป็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยสัปดาห์นี้ความชันของกราฟค่อยๆ เพิ่มไม่ได้กระโดดเหมือนสัปดาห์ก่อน ฉะนั้นคาดว่า BA.4 และ BA.5 จะครองตลาดการติดเชื้อในไทย เพราะพบผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ทุกเขตสุขภาพ เว้นเขต 3, 8 และ 10 โดยพบมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร” นพ.ศุภกิจกล่าว

 “มาตรการส่วนบุคคลยังจำเป็น แม้ไม่ได้บังคับสวมหน้ากากอนามัยแล้ว แต่ควรเป็นสุขนิสัยส่วนบุคคล และต้องมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอ” นพ.ศุภกิจกล่าว

เมื่อถามว่า มีเคสเสียชีวิตในสายพันธุ์ BA.4 และ  BA.5 แล้วหรือยัง นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่ม BA.4 และ BA.5 เพราะข้อมูลเสียชีวิตในปัจจุบันยังเป็น BA.2 แต่ต้องเข้าใจว่าการเสียชีวิตจะทอดเวลาออกไปหลังจากที่มีการป่วยรุนแรง ฉะนั้นตอนนี้ยังบอกข้อมูลไม่ได้ แต่ถ้าเก็บต่อไปก็จะเห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งตอนนี้พบ BA.4 และ BA.5 มากในกรุงเทพฯ แต่ตามธรรมชาติไวรัสจะขยับออกไป อย่างแรกๆ เจอในผู้เข้ามาในประเทศ ที่มาเจอในกรุงเทพฯ จากนั้นก็จะระบาดไปต่างจังหวัด

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ  แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยไม่รุนแรง หรือเรียกว่าผู้ป่วยสีเขียว และคาดว่าอาจมีจำนวนมากกว่า 10 เท่าของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงเน้นการติดตามสถานการณ์และรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตเป็นหลัก เพื่อนำมาวิเคราะห์หรือกำหนดแนวทางมาตรการต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยปัจจุบันมีการครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 10% ของจำนวนเตียงทั้งหมด

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แม้ยังไม่ถึง 60% แต่หากพิจารณาในรายจังหวัดจะพบว่า มีหลายจังหวัดที่มีผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี,  สมุทรปราการ และภูเก็ต ขอความร่วมมือจังหวัดที่ยังมีความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้นต่ำกว่าเป้าหมาย ช่วยกันรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการรับมือกับโรคโควิด-19 ที่จะปรับมาเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไปในอนาคต

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้  สธ.จัดเตรียมเวชภัณฑ์ บุคลากร และสถานที่ให้มีความพร้อมเพียงพอ และขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง ร่วมกันเฝ้าระวังโควิด-19 เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในกลุ่มที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง