ปตท.จัดหาLNGเพิ่มล้านตัน ยันไม่พบสินค้าฉวยขึ้นราคา

กพช.ไฟเขียว ปตท.จัดหา LNG สัญญาระยะยาว 1 ล้านตัน/ปี เพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ นายกฯ กำชับ กกพ.กำกับดูแลให้โปร่งใส  "พาณิชย์” เผย 7 วันหลังติดตามห้าง-ร้านค้าปลีกค้าส่ง-ตลาดสด 2 พันแห่งทั่วประเทศ ยันสินค้ามีเพียงพอ ไม่พบฉวยขึ้นราคา

ที่ห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 5/2565 ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาข้อเสนอการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลังงานขณะนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคำนึงถึงหลักการ ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งหมด  โดยขอให้ทุกคนได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจ มีเหตุผลในการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน พร้อมย้ำว่าสิ่งสำคัญในวันนี้คือการขับเคลื่อนไปสู่การประหยัดพลังงาน ที่จะเกิดผลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และส่งผลกับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยกันประหยัดพลังงานด้วย

นอกจากนี้ นายกฯ ยังกล่าวถึงข้อเสนอการจัดหาก๊าซ LNG ของ ปตท. เป็นการลดความเสี่ยงในการจัดหา LNG ในอนาคต และเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้ติดตามผลกระทบต่อราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในประเทศในอนาคต เพราะการนำเข้าก๊าซจะเกิดขึ้นในปี 2569 ในขณะที่ความผันผวนด้านราคาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจจะสิ้นสุดลงแล้ว หรืออาจจะมีต่อไปก็ได้ ดังนั้นจะเสี่ยงไม่ได้ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมทั้งขอให้ กกพ.กำกับดูแลการจัดหา LNG ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี

ด้านนายสุพัฒนพงษ์เปิดเผยว่า สถานการณ์พลังงานในปัจจุบันมีความผันผวนค่อนข้างมาก มีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากการพัฒนาโครงการผลิต LNG แหล่งใหม่และการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยมีปริมาณจำกัด ความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังมีความยืดเยื้อ รวมถึงความไม่สงบทางการเมืองในประเทศเมียนมา ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้ประเทศมีการผลิตและจัดหาก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่ลดลง โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดจร ประกอบกับประเทศไทยยังต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ

โดยที่ประชุม กพช.ได้มีมติเห็นชอบให้ ปตท.จัดหา LNG สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี โดยนำต้นทุนการจัดหารวมเข้าไปคำนวณเฉลี่ยในราคา Pool โดยจะเริ่มส่งมอบ LNG ตั้งแต่เดือน ม.ค.2569 เป็นระยะเวลา 15-20 ปี และ กพช.ได้มอบหมายให้ กกพ.เป็นผู้กำกับดูแลให้ราคา LNG ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กพช.กำหนด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติและเป็นทางเลือกแก่ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ โดยมีการเปรียบเทียบราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นกับค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2565 กับปัจจุบัน ที่ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นปรับลดลง แต่ค่าการตลาดปรับสูงขึ้นนั้นว่า จากแนวทางการพิจารณาค่าการตลาดอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานนั้น ในการพิจารณาค่าการตลาดควรดูในภาพรวมของทุกชนิดน้ำมัน เพราะสถานีบริการไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพียงชนิดเดียว และไม่ควรเปรียบเทียบค่าการตลาดเป็นรายวัน เนื่องจากราคาเนื้อน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวันตามราคาตลาดโลก

 “หากจะพิจารณาค่าการตลาดน้ำมัน ควรจะดูในภาพรวมของผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่าย ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งทางภาครัฐได้มีการศึกษากรอบค่าการตลาดซึ่งควรอยู่ที่ 2 บาท และ +/- ได้ 0.40 บาทต่อลิตร ซึ่งหากพิจารณาค่าการตลาดตั้งแต่วันที่ 1-6 ก.ค.2565 ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกประเภท ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลจะอยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งก็อยู่ในกรอบที่ภาครัฐกำหนด" นายสมภพกล่าว และว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้ติดตามสถานการณ์และใช้หลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นให้กับประชาชน

วันเดียวกัน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าทั่วประเทศ ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา จำนวนกว่า 2,000 แห่ง ทั้งการตรวจสอบในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกค้าส่งและตลาดสด พบว่าด้านปริมาณสินค้า มีสินค้าที่จำเป็นในการครองชีพเพียงพอ และไม่พบผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำชับให้พาณิชย์จังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยเน้นย้ำให้ร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายสินค้าให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หรือจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควรโดยเด็ดขาด หากพบการกระทำผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด ที่ต้องเข้าไปกำกับดูแลเครื่องชั่ง การบรรจุหีบห่อ โดยให้เน้นการตรวจสอบการบรรจุก๊าซหุงต้ม และหัวจ่ายปั๊มน้ำมัน เพื่อดูแลผู้บริโภค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง