กลุ่ม16ชู‘บิ๊กตู่’ยาว เพื่อไทยยืมจมูก‘ธรรมนัส’หายใจอ้างประชาชนเจ็บแค้น!

เพื่อไทยจ่อยืมจมูก "ธรรมนัส" หายใจ เปิดทางส่งประเด็นซักฟอก  ถ้าไม่ซ้ำกันมีเฮ! ออกทีเซอร์ประโคม เอาทุกความเจ็บแค้นและเสียงประชาชนเข้าสภา 19-22 กรกฎาคมนี้ พร้อมกันทั่วประเทศ ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน 3 ป. และอีก 8 รัฐมนตรี อาจมีคนต้องไปให้การในชั้นศาล ขณะที่ก้าวไกลไม่ปลื้ม "ธรรมนัส" ขอเอี่ยว พรรคเล็กกลับลำให้ "บิ๊กตู่" อยู่ยาว ก่อนพบ "บิ๊กป้อม" 18 ก.ค.

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา   เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ขณะนี้ทั้งเนื้อหาและผู้อภิปรายมีความพร้อมหมดแล้ว โดยผู้อภิปรายในส่วนของพรรค พท.มี 26 คน ซึ่งพรรค พท.มีความพร้อม 100% เหลือแค่ลงสนามอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้ทั้ง 26 ขุนพลได้ซ้อมแล้ว โค้ช เทรนเนอร์วางแผนหมดแล้ว เราพร้อมลงสนาม ส่วนจะสอยรัฐมนตรีคนไหนร่วงได้บ้างนั้น ขอให้ฟังการอภิปราย

ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดว่าจะมีรัฐมนตรีร่วงประมาณกี่คน หัวหน้าทีมจะร่วงเลยหรือไม่ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยตอบว่า  หัวหน้าทีมคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกลุ่ม 3 ป. และมีนั่งร้านอีก 8 รัฐมนตรี ฉะนั้นในส่วนหัวตามยุทธการเด็ดหัว เรามีความมั่นใจมาก จากข้อมูลที่ได้มาอภิปรายนั้น จะชี้ให้เห็นเหตุและผลที่ไม่สามารถอยู่ต่อได้แล้ว

นายประเสริฐเผยว่า กรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ยังไม่ได้ประสานมา   ขอให้มีประเด็น หากมีการประสานมาจะมีการนำเข้ากรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน  และจะดูว่าจะมีประเด็นที่จะอภิปรายร่วมกัน เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เป็นประเด็นที่ซ้ำกับที่เราเตรียมไว้ ซึ่งเราจะช่วยกันทำงานให้ ซึ่งถามว่าทันหรือไม่ สำหรับคนที่จะอภิปรายเขาก็คงเตรียมพร้อมมาแล้ว เหลือแต่มาดูเรื่องรายละเอียดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่มีการประสานมา

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการลงมติ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคได้เก็บข้อมูลทำงานอย่างเต็มกำลัง เชื่อว่า การอภิปรายครั้งนี้ประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ และ การอภิปรายครั้งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตอบ เพราะพี่น้องประชาชนจับตาดูอยู่

กรณีที่มีกระแสข่าวว่าอาจมีงูเห่าเพิ่มขึ้นนั้น นายสมคิดเชื่อว่า ไม่น่ามีแล้ว เพราะประชาชนคงไม่ยอมแล้ว ที่ไปแล้วก็ไม่ว่ากัน ส่วนที่ยังอยู่ก็ต้องสู้กันต่อไป ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ตัดสินใจร่วมฝ่ายค้านจะเป็นพลังที่จะช่วยให้ฝ่ายค้านได้คะแนนเพิ่มขึ้น และขอส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมรัฐบาล หากฟังคำอภิปรายแล้วมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

"ก็ไม่แน่ว่ารัฐบาลจะรอดหรือไม่ เพราะอยู่ที่การอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่าเป็นช่วงปลายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องระวังตัวเอง เพราะต้องไปตอบคำถามประชาชนในสนามเลือกตั้ง ถ้ายังเข้าข้างรัฐบาลอย่างไม่มีเหตุผล พรรคการเมืองนั้นก็เตรียมตัวตายในสนามเลือกตั้ง"

รองประธานวิปรัฐบาลบอกว่า การอภิปรายจะมุ่งเน้นไปที่ความล้มเหลวของรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะรับปากประชาชนแล้วทำไม่ได้ นอกจากนี้ 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้เลย อีกทั้งการบริหารประเทศมีความไม่โปร่งใส การทำงานของรัฐบาลให้การช่วยเหลือพรรคพวกมาตลอด ซึ่งอยากให้ประชาชนรอฟังการอภิปรายของฝ่ายค้าน

เสียงร้องไห้ปนคับแค้นใจ

นอกจากนี้ ไม่ประหลาดในการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ใช้พื้นที่กองทัพเป็นสถานที่ต่อรองทางการเมือง เพราะทำมาตลอด และที่มาของรัฐบาลมาจาก คสช. ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับฝ่ายทหารมากกว่าประชาชน เห็นได้จาก ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นทหาร ตำรวจ เป็นข้าราชการเกษียณ ไม่ต่างจากพรรคข้าราชการในสภา หากจะให้ทหารออกจากการเมืองคงยาก

"รัฐบาลสามารถครอบงำเสียงในสภาได้ สามารถสั่งได้ตามใจ ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็พร้อมที่จะตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อเริ่มตั้งต้นกันใหม่ หากไม่แก้ตรงนี้ ประเทศเดินหน้าไม่ได้แน่" นายสมคิดกล่าว

 วันเดียวกัน เพจพรรคเพื่อไทยได้เผยแพร่คลิปในการเตรียมความพร้อมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลทั้ง 11 คน ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. พร้อมกับเขียนข้อความว่า ได้ยินมั้ย...เสียงร้องไห้ปนคับแค้นใจของประชาชน?

ใครผู้ใดทำประชาชนเจ็บแค้น ยากจน ปล้นภาษีไปบำเรอตัวเอง ใครผู้นั้นเตรียมรอการเปิดเผย และครั้งนี้อาจมีคนต้องไปให้การในชั้นศาลต่อไป

ทีมเพื่อไทยพร้อมแล้ว กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย เราจะเอาทุกความเจ็บแค้นและเสียงประชาชนเข้าสภา 19-22 กรกฎาคมนี้ พร้อมกันทั่วประเทศ ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน 3 ป. และอีก 8 รัฐมนตรี เตรียมตัวดีๆ

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคจะพุ่งเป้าอภิปรายรัฐมนตรีจากกลุ่ม 3 ป. และ 2 พรรคร่วมรัฐบาล โดยในวันที่ 19 ก.ค. จะจัดหนักพรรคภูมิใจไทย คนแรก คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. เกี่ยวกับเรื่องกัญชา และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค ภท. เรื่องพฤติกรรมการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ลำดับต่อไปที่ล็อกเป้าคือ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป.

 “สำหรับรัฐมนตรีกลุ่ม 3 ป. จะมีประเด็นหลายเรื่องหลากมิติ โดย พล.อ.ประยุทธ์จะเกี่ยวกับเรื่องภายในกองทัพ วงการตำรวจ ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน และการเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อประชาชน"

นายชัยธวัชกล่าวว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. จะเป็นแกนนำหลักในการอภิปราย ซึ่งจะอภิปรายเป็นคนสุดท้ายของพรรค และอภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ รับรองว่ามีเรื่องและประเด็นให้น่าสนใจทุกวัน จึงอยากให้พี่น้องประชาชนเฝ้าติดตาม พรรค ก.ก.จะทำงานอย่างเต็มที่

ก้าวไกลเตรียมไว้ 14 คน

เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะแบ่งเวลาให้พรรคเศรษฐกิจไทยร่วมอภิปรายหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เคยหารือกันเรื่องนี้ และคิดว่าในวันที่ 18 ก.ค.นี้ จะไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ด้วย เพราะทุกอย่างถูกวางแผน และจัดคิวการอภิปรายไว้ลงตัวหมดแล้ว

ด้านนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะวิปพรรค ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้แบ่งเวลาและวางคิวผู้อภิปรายไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับพรรค ได้เตรียมผู้อภิปรายอย่างน้อย 14 คน รวมทั้งยังเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูลเป็นอย่างดี โดยนายพิธาจะเป็นผู้นำในครั้งนี้ และจะอภิปรายเป็นคนสุดท้ายของพรรค สุดท้ายแม้มือในสภาจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ล้มรัฐบาลหรือล้ม พล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่ก็จะทำให้สังคมได้เห็นถึงหลักฐานหลายอย่าง ซึ่งเราไม่สามารถบอกรายละเอียดตอนนี้ได้ และไม่สามารถระบุว่าผู้อภิปรายจะเป็นใครบ้าง จึงอยากให้พี่น้องประชาชนติดตามการอภิปราย

เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะแบ่งเวลาให้พรรคเศรษฐกิจไทยร่วมอภิปรายหรือไม่ นายพิจารณ์กล่าวว่า การที่พรรคร่วมฝ่ายค้านขอเวลาจากรัฐบาลนั้น เกิดจากการรวบรวมความต้องการของแต่ละพรรคว่าต้องการเวลาเท่าใด ถ้าจะให้เวลา ก็ต้องแบ่งเวลาจากแต่ละพรรคการเมือง ดังนั้นจึงไม่มั่นใจว่าจะมีเวลาให้พรรคเศรษฐกิจไทยหรือไม่

ที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อชาติไทย จ.อำนาจเจริญ นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทยและเลขานุการ ส.ส.กลุ่ม 16 กล่าวถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นัดพบ ส.ส.กลุ่ม 16 ว่า วันที่ 17 ก.ค.65 ได้รับการประสานงานในกลุ่ม ส.ส.16 และ พล.อ.ประวิตร มีการนัดพบกันที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ กทม. ซึ่ง ส.ส.กลุ่ม 16 จะไปทุกคน เพื่อไปรับฟังท่าที ทิศทางการเมืองจะไปในทิศทางใดของ พล.อ.ประวิตร ซึ่ง ส.ส.กลุ่ม 16 จะไปรับฟังอย่างเดียว จะไม่มีการเสนอแนะอะไรทั้งสิ้น เมื่อรับทราบข้อมูลแล้ว จากนั้นจะมีการประชุมหารือกันใน ส.ส.กลุ่ม 16 จนตกผลึก เพื่อกำหนดทิศทางการเมืองของ ส.ส.กลุ่ม 16 ต่อไป

ส่วนที่มีข่าวว่าวันที่ 18 ก.ค. ร.อ.ธรรมนัสนัดพบกับ ส.ส.กลุ่ม 16 นั้น นายคฑาเทพเผยว่า ยังไม่ได้รับการประสานมา เห็นแต่ในข่าวตามสื่อมวลชน และยังไม่มีมติ ส.ส.กลุ่ม 16 ว่าจะไปตามนัดหรือไม่ ซึ่งจะต้องรอผลการนัดพบกับ พล.อ.ประวิตรในวันที่ 17 ก.ค. ว่าจะมีท่าทีออกมาอย่างไร รวมถึงรอผลสรุปจากการประชุมหารือของ ส.ส.กลุ่ม 16 เสียก่อน เมื่อมติออกมาแล้วก็จะกำหนดทิศทางของ ส.ส.กลุ่ม 16 ได้ว่าจะไปร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส หรือทำงานร่วมกับรัฐบาลจนครบวาระ

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายคฑาเทพกล่าวว่า จะต้องติดตามข้อมูลรายละเอียดของฝ่ายค้านอย่างใกล้ชิด จนวันสุดท้าย (22 ก.ค.65) จากนั้น ส.ส.กลุ่ม 16 จะนำข้อมูลการอภิปรายของฝ่ายค้าน ทั้ง 4 วันมาประมวลพิจารณาจนตกผลึก เป็นมติของ ส.ส.กลุ่ม 16 ซึ่งจะโหวตตามมติของ ส.ส.กลุ่ม 16 ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

พลิก!ให้'บิ๊กตู่'อยู่ครบวาระ

"ส.ส.กลุ่ม 16 มีเสียงอยู่ 16 บวก 2 รวม 18 เสียง หมายความว่า ส.ส.กลุ่ม 16 ลงมติก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม เป็นวันยกมือจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนผู้ถูกอภิปรายจำนวน 11 คน ส่วนที่มีมติของแกนนำก่อนนั้นคือโหวตคว่ำนายกฯ เพราะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ผ่าน คงต้องรอมติของทุกคนก่อน รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงบางคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย" 

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ  ตนมองว่าน่าจะผ่าน เพราะคะแนนเสียงรัฐบาลมีมากกว่าฝ่ายค้าน ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงบางคนอาจโหวตไม่ผ่าน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จะทำหน้าที่นายกฯ ต่อไปจนครบวาระ และมีการเลือกตั้งปี 2566

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของพรรคเศรษฐกิจไทย  และกลุ่ม 16 ขู่โหวตล้มรัฐมนตรีบางคน มองว่ามีนัยทางการเมืองอะไรหรือไม่ ว่า ไม่ขอแสดงความเห็น และเห็นว่าไปร่วมงานวันเกิดของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส.ส.ชลบุรี และผู้อำนายการพรรค พปชร.ที่ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา และนายสุชาติก็บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่า จะสามารถคุมเสียงในสภาให้โหวตผ่านรัฐมนตรีทั้ง 11 คนหรือไม่ นายนิโรธยืนยันว่า ผ่านหมด และเชื่อมั่นว่าเสียงโหวตจะเกินครึ่งทุกคน แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขว่ามีเสียงเท่าใดได้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีแต่ละคนคงได้คะแนนไม่เท่ากันทุกคน เพราะคะแนนเป็นไปตามธรรมชาติ

ถามถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่เปิดโอกาสให้พรรคเศรษฐกิจไทยร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ประธานวิปรัฐบาลชี้ว่า พรรคเพื่อไทยคงได้รับสัญญาณอะไรบางอย่าง ทั้งที่ทีแรกยังออกมาตีกันอยู่เลย ถึงกับปรามาสว่าเป็นเห็บเป็นเหา คิดว่าดีเอ็นเอของพรรคเศรษฐกิจไทยไม่ใช่ฝ่ายค้าน แต่เป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะแยกมาจากพรรคพลังประชารัฐ เนื้อแท้เป็นรัฐบาล การจะไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ดีเอ็นเอเรียงกันไม่ได้

ซักว่าจะพูดคุยกับพรรคเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ช่วยโหวตหรือไม่ นายนิโรธตอบว่า ตอนที่นายไผ่ ลิกค์ เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทยลาออกจากวิปรัฐบาล ได้โทร.หาตน และบอกว่าจะขอออกไปทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสบายใจ เพราะบางครั้งต้องโหวตไปตามเสียงสนับสนุนของคนในพื้นที่ภาคเหนือที่มีการผลิตสุราพื้นบ้านเยอะ โดยโหวตผ่านกฎหมายสุราก้าวหน้า ตรงข้ามกับมติวิปรัฐบาล นอกจากนี้นายไผ่ยังบอกกับตนว่าหากมีอะไรจำเป็นและสำคัญให้โทร.ประสาน รวมถึงการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ซึ่งก็คงจะทำเป็นครั้งๆ แต่ต้องรอดูท่าทีพรรคเศรษฐกิจไทยก่อนการโหวตในวันที่ 23 กรกฎาคม ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ไม่มีอะไรน่ากังวล

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าการบริหารประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของรัฐบาล มุ่งแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาโควิด-19 ปัญหาผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาความขัดแย้งของคนในประเทศได้เป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายนั้น ต่างเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างครบถ้วน ดังนั้น เชื่อว่าไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ขอให้ฝ่ายค้านอย่าอภิปรายนอกประเด็น หรืออภิปรายในเรื่องอดีตที่เคยได้ชี้แจงไปแล้วหลายรอบ เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย หรือนำข้อมูลที่ไม่ได้ผ่านการตรวจมาก่อน ได้ยินแต่เขาเล่าว่าแล้วก็รีบนำมาอภิปราย ซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดการประท้วงวุ่นวายจนต้องเสียเวลาของสภาไปโดยเปล่าประโยชน์

 “ขอให้ฝ่ายค้านรู้จักเคารพกติกา เคารพข้อบังคับของสภาด้วย ไม่ใช่จ้องแต่จะเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อหาเรื่องตีกินไปเรื่อยจนประชาชนสับสน ขอให้ทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ งัดหลักฐานที่ว่าเป็นไม้เด็ดออกมาอภิปรายให้ได้เห็นว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่อภิปรายเรื่อยเปื่อยแล้วจบแบบมวยล้มต้มคนดูเหมือนที่ผ่านมา” นายธนกรกล่าว

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ได้เตรียมชี้แจงในคำถามที่คิดว่าตอบได้ ยกเว้นจะมีเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่อยากพูดตรงนั้น แต่พร้อมที่จะชี้แจง ส่วนคาดการณ์ว่าฝ่ายค้านจะเน้นเรื่องใดหรือไม่นั้น ตนก็ดูไปตามญัตติ เพราะต้องดูจากญัตติเป็นหลัก ส่วนการอภิปรายจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องไปดูที่การอภิปรายจริง แต่การอภิปรายจะต้องอยู่ในขอบเขตของญัตติ หากจะไปอภิปรายนอกเหนือจะเป็นปัญหาเรื่องข้อบังคับการประชุมได้ เพราะระเบียบข้อบังคับการประชุมก็เปิดโอกาสให้เขียนญัตติไว้แล้วตั้งแต่ต้น

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่า ได้เรียกประชุม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค.นี้ เวลา 13.30 น. เพื่อพิจารณาญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. และจะมีการลงมติในวันที่ 23 ก.ค.นี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการทำหน้าที่ตามปกติของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่ามีการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายทุจริต ทำผิดกฎหมาย และมีการบริหารราชการแผ่นดินที่ขาดตกบกพร่องหรือไม่ อย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องชี้แจงแสดงเหตุผลว่าการทำงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างที่ฝ่ายค้านอภิปรายหรือไม่ ถือเป็นความสวยงามของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

ไม่น่ามีปัญหาอะไร

นายองอาจกล่าวอีกว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีรัฐมนตรีถูกอภิปราย 3 ท่านคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อดูจากเนื้อหาในญัตติที่จะอภิปรายทั้ง 3 ท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกอภิปรายสามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้ ส.ส.ในสภาเข้าใจได้ไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนที่ฝ่ายค้านจะนำเรื่องเก่าที่เคยอภิปรายไปแล้วมาอภิปรายอีก ก็สามารถทำได้ คงอยู่ที่ดุลพินิจของฝ่ายค้านที่จะพิจารณา

สำหรับเรื่องการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ขณะที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองย้ายขั้วสลับข้างของหลายพรรคการเมือง จะส่งผลกระทบอะไรกับรัฐบาลหรือไม่นั้น นายองอาจกล่าวว่า การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไม่น่าส่งผลกระทบอะไรต่อรัฐบาล เชื่อว่าเสียงของ ส.ส.ซีกรัฐบาลในสภาจะทำให้การลงมติในสภาผ่านพ้นไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีการกำชับอะไรกันเป็นพิเศษในการลงมติ คงจะมีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันในการประชุม ส.ส.ของพรรคในวันที่ 18 ก.ค. ทั้งหมดขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ส่วนมากก็ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า  ได้ส่งหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ค.นี้ เนื่องจากเว็บไซต์สภาฯ ระบุว่า ญัตติดังกล่าวมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กับคณะ รวม 186 คน โดยมีเอกสารที่ระบุว่าญัตติดังกล่าวมาจากเลขรับที่ 7/2565 วันที่ 15 มิ.ย.2565

นายเรืองไกรกล่าวว่า จำนวน 186 คนจึงสะดุดตา เพราะตามสำเนาญัตติเดิมซึ่งเป็นฉบับลายมือชื่อตามเลขรับที่ 7/2565 มี ส.ส.เข้าชื่อรวมเพียง 182 คน แต่ในฉบับพิมพ์กลับมีจำนวนรวม 186 คน เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบพบว่า รายชื่อที่เพิ่มมา 4 คนเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย คือ นายศักดา คงเพชร, นายวันนิวัติ สมบูรณ์, นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล และ นายกิตติ สมทรัพย์

นายเรืองไกรกล่าวว่า เรื่องนี้แปลกและน่าสงสัย เพราะการยื่นญัตติมีการลงเลขรับไปแล้วที่จำนวน 182 คน ซึ่งฝ่ายสภา จะตรวจสอบรายชื่อต่อไปว่าครบตามจำนวนหรือไม่ มีซ้ำกันหรือไม่ ถ้ารายชื่อซ้ำก็ตัดออก แต่กรณีนี้ทำไมมีเพิ่ม 4 คน

"ญัตติครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องขอข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวกับญัตติดังกล่าวที่เป็นฉบับลงลายมือชื่อมาตรวจสอบต่อไป หากมีความไม่ชอบ ก็จะส่งให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย" นายเรืองไกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง