นายกฯปลื้มขยับเทียร์2 ลุยปราบค้ามนุษย์ให้สิ้น

นายกฯ ปลื้มอเมริกาขยับสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2565 ของไทยเป็น Tier 2 ลุยดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้น หวังทำลายเครือข่ายการค้าชีวิตคนให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย ลั่นการค้ามนุษย์เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นคน อันไม่อาจให้อภัยได้

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha" ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่านครับ เช้าวันนี้ (20 ก.ค.65) ในขณะที่ผมรับฟังและติดตามการอภิปรายในสภาฯ  ผมได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศ โดยเป็นเรื่องที่น่ายินดี และอยากให้เราทุกคนได้ภาคภูมิใจร่วมกัน ถึงผลสำเร็จจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนของประเทศ ในการร่วมกันต่อสู้เพื่อเอาชนะการค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2565 หรือ Trafficking In Person (TIP) Report 2022 ซึ่งประเทศไทยของเราได้รับการปรับอันดับดีขึ้น เป็น Tier 2 จากระดับ Tier 2 Watch List หรือ Tier 2 เฝ้าระวัง เมื่อปีที่แล้ว อันสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของทั้งภาครัฐและเอกชนไทย รวมถึงความร่วมมือกับนานาชาติ ในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของวิกฤตโควิด-19

แต่ประเทศไทยก็ยังคงแสดงความจริงจังจริงใจอย่างต่อเนื่อง เพิ่มการสืบสวนกรณีการค้ามนุษย์ การปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการลงโทษผู้กระทำผิด การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์แห่งใหม่ การจัดทำแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานในการส่งต่อผู้ที่สงสัยว่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ไปยังทีมสหสาขาวิชาชีพ และการระบุตัวเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้มากขึ้น

ในคราวเดียวกันนี้ ได้มีการประกาศรายชื่อ “TIP Heroes” หรือนักสู้ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2022 จำนวน 6  คน โดยคุณอภิญญา ทาจิตต์ จากองค์กรสเตลลามาริส (Stella Maris) สังฆมณฑลจันทบุรี ได้รับเลือกให้รับรางวัลเกียรติยศนี้ด้วย ในฐานะผู้ทำงานด้านการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการประมงไทย มายาวนานกว่า 7 ปี อีกทั้งเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาลักลอบค้าแรงงานเด็ก ด้วยการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนมากกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ในแต่ละปี ตลอดจนให้การช่วยเหลือและร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดีเสมอมา ผมขอแสดงความยินดีและยกย่องในอุดมการณ์เพื่อสังคมของคุณอภิญญาฯ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

สำหรับรายงาน TIP Report ปีนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลด้านการค้ามนุษย์จากประเทศและเขตปกครองต่างๆ รวม 188 แห่งทั่วโลก โดยมี 21 ประเทศที่ได้รับการปรับอันดับสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเพิ่มความพยายามต่อสู้กับการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีอีก 18 ประเทศที่ถูกปรับลดลง ท่ามกลางสถานการณ์ค้ามนุษย์ในโลก ซึ่งยังคงมีผู้คนทั่วโลก เกือบ 25 ล้านคน ที่ตกเป็นเหยื่อ

ทั้งนี้ ผมให้ความสำคัญมากับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด เนื่องจากกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ และที่สำคัญเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นคน อันไม่อาจให้อภัยได้ โดยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา การประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย โดยทางการสหรัฐฯ มีทิศทางที่ “ดีขึ้น” ต่อเนื่องทุกปี ยกเว้นปีที่ผ่านมา 2564 ซึ่งถูกปรับลดลง ก่อนที่จะได้รับการปรับขึ้นมาอีกครั้งในปีนี้

สิ่งสำคัญที่รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการหลอกคนมาค้าบริการ การนำคนไปเป็นทาส การบังคับใช้แรงงาน/แรงงานเด็ก การทำผิดโดยแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตและเผยแพร่วัตถุ สื่อลามก ตลอดจนการนำคนมาขอทาน ด้วยการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว การตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 7 จังหวัดนำร่อง การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย เหยื่อ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม และการเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว-เป็นผู้ทำผิดเสียเองอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งผมมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ และทำลายเครือข่ายการค้าชีวิตคนให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

 กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้เผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2565 ซึ่งไทยได้รับการปรับอันดับขึ้นเป็น Tier 2 ว่า เรื่องนี้เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายของไทย ทั้งส่วนราชการและภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ไทยทำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผลรายงานการจัดอันดับดังกล่าว ถือว่าฝ่ายสหรัฐยอมรับความพยายามของไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ทำได้ดีขึ้น ที่จริงแล้วการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการตรวจคนเข้าเมืองเป็นสิ่งที่หน่วยงานของไทยและหุ้นส่วนต่างๆ ทางภาคประชาสังคมของไทยทำอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ที่สะท้อนอยู่ในรายงานฉบับนี้ถือเป็นกำลังใจให้กับคนทำงาน ซึ่งพวกเราจะทำเต็มที่และต่อเนื่องดียิ่งขึ้นต่อไป

เมื่อถามว่า รายงานดังกล่าวสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ หรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลและทุกหน่วยงานของไทยได้ทำงานร่วมกันกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐในการช่วยกันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อยู่แล้ว

นายธานีกล่าวอีกว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติจำนวนมากขึ้น โดยการค้ามนุษย์และการตรวจคนเข้าเมืองจะไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องเฉพาะสตรีและเด็ก แต่ยังรวมถึงผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งถ้าเราทำให้มีการจดทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้อง และมีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมายตามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่รัฐบาลไทยทำกับประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ได้ในระยะยาว

ด้านนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ในฐานะเลขานุการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดเผยว่า  รายงานดังกล่าวได้ระบุข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จำนวน 14 ข้อ ซึ่งคล้ายคลึงกับปีที่ผ่าน เช่น การเสนอให้ไทยเพิ่มการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีการค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้แรงงานสืบสวนและดำเนินคดีเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และลงโทษผู้กระทำผิดด้วยบทลงโทษที่เหมาะสมเพิ่มความสามารถให้แก่ผู้เสียหาย

โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ในการเดินทางเข้า-ออกสถานคุ้มครอง และเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารได้โดยอิสระ และทบทวนระยะเวลาการอยู่ในสถานคุ้มครองเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะไม่อยู่ในสถานคุ้มครองนานเกินความจำเป็น การบังคับให้มีการจ่ายค่าจ้างอย่างสม่ำเสมอ มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว และให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการถือครองเอกสารประจำตัว และเอกสารทางการเงิน และสัญญาจ้างของตนเอง เป็นต้น

นางพัชรีกล่าวต่อไปอีกว่า ทั้งนี้ ผลการจัดระดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในปี 2565 ที่ถูกยกระดับประเทศไทยจาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” เป็น Tier 2 เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จนทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในหลายด้าน โดยกระทรวง พม.จะได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาผลการจัดระดับ และนำข้อเสนอแนะสำคัญในรายงาน TIP Report ประจำปี 2565 มาพิจารณากำหนดแนวทางและแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพในระยะต่อไป

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.(ปป.) และผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) กล่าวว่า ผลงานการปราบปรามการค้ามนุษย์นี้ ถือได้ว่าเป็นผลงานจากนโยบายและข้อสั่งการของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่ได้สั่งกำชับถึงกรณีดังกล่าวตลอดมา พร้อมต้องขอยกเครดิตให้ภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทาง ศพดส.ตร.และภาคีเครือข่ายต่างๆ จะดำเนินการถึงกรณีดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อจะได้อยู่ในอันดับที่ดีกว่าต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง