เร่งช่วยปชช.ภัยมู่หลาน บิ๊กป๊อกบินลง‘เชียงราย’

“บิ๊กตู่” สั่งทุกองคาพยพช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุมู่หลานให้เร็วที่สุด “บิ๊กป๊อก” เตรียมลงเชียงรายมอบของช่วยเหลือ “ปภ.” แจงสังเวยชีวิต 1 ราย 2 จังหวัดยังจมบาดาล “เชียงราย-น่าน” กรมชลประทานเผย 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยายังรับน้ำได้ 13,215 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามผลกระทบจากพายุมู่หลาน ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่รวม 11 จังหวัด 30 อำเภอ 77 ตำบล 410 หมู่บ้าน และยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน และพิษณุโลก รวม 25 อำเภอ 70 ตำบล 391 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,885 ครัวเรือน แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยนายกฯ สั่งการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ประสานจังหวัดที่ประสบภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยทหาร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยากต่อการสัญจรเข้าถึงและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ให้เร่งช่วยเหลือออกมาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด

“นายกฯ ยังขอให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณริมน้ำโขง จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่าผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงขงเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ในช่วงวันที่ 14-18 ส.ค.2565” นายธนกรกล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.เชียงรายและน่าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัดให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว และยังได้กำชับ ปภ.ประสานจังหวัดและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนภัย การเผชิญเหตุ การอพยพ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบภาวะฝนตกหนักอย่างเต็มกำลัง โดยเน้นดูแลด้านการดำรงชีพและความปลอดภัยของประชาชน

มีรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์เตรียมเดินทางลงพื้นที่มอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 15 ส.ค.นี้

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานผลกระทบจากพายุมู่หลาน  ว่าทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่รวม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก นครพนม เลย และปราจีนบุรี 34 อำเภอ 109 ตำบล 609 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5,477 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย) ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงรายและน่าน รวม 5 อำเภอ 18 ตำบล 98 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,074 ครัวเรือน สถานการณ์ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัดที่ประสบภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

ปภ.ยังได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำที่ยังท่วมใน 2 จังหวัดว่า จ.เชียงรายมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย รวม 5 ตำบล บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 666 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จ.น่าน มีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าวังผา, อ.ภูเพียง และ อ.เวียงสา รวม 13 ตำบล บ้านเรือนประชาชนได้รับ 408 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังในเขตพื้นที่อำเภอเมืองฯ

                    ขณะที่เพจเฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,348 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.94 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น การควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตราประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนมีระดับน้ำทยอยเพิ่มสูงขึ้นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ   บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนาต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

สำหรับปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 14 ส.ค. (เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,656 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวมกันประมาณ 223.38 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีกกว่า 13,215 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แม่น้ำปิง ณ ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด 6 บาน เพื่อระบายน้ำออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ และไม่ให้เกิดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งระดับน้ำลดลงและเริ่มทรงตัว เนื่องจากไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ แต่ยังคงมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ส่วนที่มณฑลทหารบกที่ 37 และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดรถครัวสนาม พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน ออกทำการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยการประกอบอาหารปรุงสุกใหม่แจกจ่ายมอบให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนที่พักอาศัยในพื้นที่ อ.แม่สาย นอกจากนี้ยังร่วมกับฝ่ายปกครองและหน่วยงานต่างๆ วางกำลังช่วยเหลือชาวบ้านตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการแจกจ่ายอาหารและน้ำดื่ม และช่วยเหลือชาวบ้านในบางจุดที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ รวมทั้งเตรียมร่วมกันทำความสะอาดตามชุมชนและตลาดทุกแห่งครั้งใหญ่ต่อไป ส่วนพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย พบว่าแม่น้ำกกที่เข้าท่วมบ้านเรือนริมฝั่งในเขตเทศบาลนครเชียงราย และแม่น้ำจันที่ท่วม ต.แม่จัน และ ต.ป่าตึง ได้ลดระดับลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเนื่องจากสภาพอากาศยังครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง