วิษณุชี้ศาลเมินบันทึกกรธ.

"บิ๊กตู่" เผ่นแน่บ หนีสื่อโยนคำถามวาระ 8 ปีรายวัน ขณะที่ "วิษณุ" ชี้ชัดบันทึก กรธ.มีน้ำหนักน้อย ไม่เป็นมติที่ประชุม เชื่อศาลเขี่ยทิ้ง ไม่ใช้ประกอบการพิจารณา มุ่งตีความตามหลักการ ขณะที่ "เสรี-สุพจน์” กางรัฐธรรมนูญ 60 ฟาดกัน 

เมื่อวันจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 09.00 น. โดยมีกำหนดการเวลา 09.30 น. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 1/2565 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล แต่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่เปลี่ยนสถานที่การประชุมไปยังห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้าแทน รวมถึงกำหนดการประชุมในเวลา 13.30 น. ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ก็ได้มีการแจ้งย้ายสถานที่ประชุมไปที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้าเช่นเดียวกัน

 โดยทั้ง 2 วงการประชุมงดช่างภาพเข้าบันทึกภาพ  ซึ่งก่อนหน้านี้ให้เข้าไปรอในห้องประชุมแล้ว ท่ามกลางการจับตาของสื่อมวลชนที่รอสอบถามประเด็นร้อน การประชุมสภาล่มและปมการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ซึ่งปกติหากประชุมที่ตึกภักดีบดินทร์จะมีการตั้งจุดให้สัมภาษณ์สื่อด้วย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น ให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้พูดไป ถ้าตนพูดไปแล้ว ถ้าเกิดถูกขึ้นมาจะกลายเป็นการชี้นำ เมื่อถามว่า  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้หลุดพูดออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถอยู่ต่อได้อีก 2 ปี นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้หลุดออกมาหรอก สามารถพูดกันได้ทุกวัน ถ้าหลุดออกมาอาจพูดว่าอยู่ต่อได้ 6 ปี หรือ 4 ปี  ซึ่งมันมีอยู่ 3 สูตร ถ้าเริ่มนับปี 2557 ก็จะหมดวาระปีนี้  ถ้าเริ่มปี 2560 ก็หมดวาระปี 2568 และถ้านับปี  2562 ก็หมดวาระปี 2570 ก็รู้กันอยู่แค่นี้แหละแล้วจะตอบอย่างไร ทุกคนก็ไม่รู้

เมื่อถามว่า บันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มีน้ำหนักบ้างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากบันทึกของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นปกติจะเป็นบันทึกขณะ กำลังร่างสดๆ ร้อนๆ แต่กรณีนี้เราต้องไปดูการประชุมครั้งที่ 500 นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้วปี 2560 แล้วค่อยมานั่งประชุมกัน เพื่อทำตำราขึ้นมา 1 เล่ม นั่นคือบันทึกการประชุม ฉะนั้นน้ำหนักจึงมีบ้างแต่ก็น้อย เพราะผู้ที่พูดเป็นผู้ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีจุดอ่อนที่คนอื่นๆ 10-20 คนไม่ได้พูดอะไร และก็ไม่ได้เป็นมติ และต่อมามีการทำเป็นหนังสือ ซึ่งเป็นการทำหลังเหตุการณ์   แต่ถ้าทำระหว่างประชุมมันจะมีน้ำหนัก เพราะนี่คือเจตนารมณ์

 “นี่ผ่านไปแล้ว 1 ปี ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว แล้วค่อยมาทำ และไอ้ที่พูดๆ กันในประชุมครั้งที่ 500 เขาทำรูปเล่มออกมา 1 เล่ม เรียงมาตรา และแต่ละมาตราก็จะบอกเจตนารมณ์ มันไม่มีข้อความที่พูดอยู่ในมาตรา 158  เลย ก็แปลว่ามีการพูดกัน แต่พอเขียนไม่ได้เขียน ส่วนที่ผู้เอาความเห็นไปอ้างอิง ผมไม่รู้ตอบไม่ได้” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความตามบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  2560 ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ปล่อยให้ศาลเป็นคนตี แต่เขาไม่ตีตามหนังสืออยู่แล้ว เขาใช้ตามหลัก

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า สุดท้ายก็จะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนั้นจะเป็นคำตอบสุดท้ายว่าจะเป็นอย่างไร

ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องการยื่นพิจารณานายกรัฐมนตรีจะอยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งคำว่าติดต่อกันมีความหมายมาก โดยจะต้องตอบ 8 ปีย้อนหลังด้วย เพราะไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใดมายกเว้นว่าไม่ให้นับย้อนหลัง หากไม่ให้นับย้อนหลังจะต้องมีบทเฉพาะกาลเขียนไว้ให้ชัด

 “ฉะนั้นสิ่งที่เราพิจารณาอยู่ในขณะนี้คือ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมลงชื่อกันผ่านนายชวน ประธานสภา ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 2 และขอให้ศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 17 ส.ค.นี้" นพ.ชลน่าน ระบุ

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับวัน นพ.ชลน่านก็ยิ่งให้สัมภาษณ์เหมือนหมอดู เหมือนนักคาดเดามากกว่าการเป็นนักการเมืองเข้าไปทุกที อย่างไรก็ตาม การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเป็นสิทธิที่ฝ่ายค้านสามารถดำเนินการได้ แต่การวินิจฉัยเป็นอำนาจของศาล การจะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายค้านที่จะมาตัดสิน และหากศาลตัดสินอย่างไรก็ขอให้เคารพคำตัดสินด้วย

ด้านนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากพลเอกประยุทธ์ยังคงเอาสีข้างเข้าถู โดยไม่สนใจกฎหมาย ทำตัวเหนือกฎหมาย ถึงเวลานี้ขอส่งสัญญาณไปยังรัฐมนตรีร่วมคณะว่า ตั้งแต่วันที่ 24  สิงหาคมเป็นต้นไป หากเกิดอะไรขึ้นคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องรับผิดชอบ หากมีการตัดสินใจผิดพลาดภายใต้รัฐบาล ที่ไม่ชอบธรรม ปลายทางอาจเดินทางสู่คดีอาญาและอาจส่งผลให้ติดคุกได้

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ต้องนับตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 170 วรรค 2 ไม่ใช่นับเวลาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือฉบับอื่นๆ ส่วนบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 นั้น เป็นเรื่องการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว  ปี 2557 ทำหน้าที่ต่อไปเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี  2560 ไม่เกี่ยวกับการนับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ  ส่วนความเห็น กรธ.บางคนที่เสนอความเห็นไว้อย่างไร จะขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 170 วรรค 2 และมาตรา 158 วรรค 4 ไม่ได้ ดังนั้นระยะเวลาดำรงตำแหน่งต้องนับ 8 ปี นับแต่วันประกาศแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 คือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป

นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ กล่าวว่า  รัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดไว้ว่าห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ซึ่งเจตนารมณ์ของการห้ามมิให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ นั่งอยู่ในตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ สาระสำคัญเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ

“ทั้งนี้เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์รู้ถึงกฎเกณฑ์ กติกา การห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีมาตั้งแต่ชั้นยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะผู้ยกร่างทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการคัดสรรมาเอง ด้วยระยะเวลาการครองตำแหน่ง โดยไม่คำนึงว่าบุคคลผู้นั้นจะเข้ามาดำรงตำแหน่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใด หรือมาครองตำแหน่งด้วยวิธีการใด หากวิธีการนั้นอยู่ภายใต้การปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลผู้ครองตำแหน่งนายกฯ ที่มาจากการโปรดเกล้าฯ ย่อมอยู่ภายใต้เงื่อนเวลาการครองตำแหน่ง 8 ปี” นายสุพจน์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง