โต้‘พรก.คํ้ากู้’ภาระคลัง จ่ออุ้มค่าไฟอีก4เดือน

"สุพัฒนพงษ์" แจง พ.ร.ก.ค้ำประกันเงินกู้อุ้มกองทุนน้ำมัน แก้ปัญหาเร่งด่วน สบายใจได้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง "คลัง" การันตีไม่กระทบฐานะ ไม่ให้กู้ครั้งเดียว 1.5 แสนล้าน จ่อต่ออายุมาตรการลดค่าไฟกลุ่มเปราะบางถึงสิ้นปี

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หารือวาระลับ และมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ..... และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้าน เป็นที่เรียบร้อยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องหารืออย่างเข้มข้น และเร่งหามาตรการช่วยเหลือ ทั้งนี้ เป็นไปตามปกติของวิธีการเสนอกฎหมายที่เป็น พ.ร.ก. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก็มีผลบังคับใช้ โดยสามารถกู้เงินได้ทันที ขณะนี้เมื่อยังอยู่ในสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา ต้องนำเสนอเข้าไปให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาด้วย ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การหาเงินมาช่วยเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศแล้ว ดังนั้นเพื่อให้กองทุนน้ำมันได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ต่อไป ต้องเร่งทำเรื่องนี้โดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามทุกวิถีทางแล้วในการสร้างสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน จนมาเป็น พ.ร.ก.ฉบับนี้ 

เมื่อถามว่า การกู้เงินของกองทุนน้ำมันจะกู้เต็มกรอบวงเงินที่ผ่าน ครม. วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นรายละเอียด แถมเป็นวาระลับที่คุยใน ครม. คงบอกทั้งหมดไม่ได้ แต่เชื่อว่าการกู้เงินคงไม่ได้กู้เงินทันทีเลยในครั้งเดียว ซึ่งกองทุนน้ำมันจะมีแผนการกู้เงินทีละก้อนอยู่แล้ว ซึ่งต้องทยอยกู้ตามความเหมาะสม เพื่อใช้ทั้งหนี้เดิม และสำรองเอาไว้ใช้ในช่วงต่อไป ส่วนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังประเมินออกมาแล้วว่า สามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่กระทบกับวินัยการเงินการคลัง

"การกู้เงินของกองทุนน้ำมันทั้งหมด ก็ถือเป็นหนี้สาธารณะ จะไปซ่อนหรือไปหลบไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนสบายใจได้ว่ากระทรวงการคลังได้ดูแลเรื่องนี้อย่างดี และคำนวณตัวเลขออกมาเหมาะสม ในรายละเอียดเบื้องต้นของการกู้เงิน ล่าสุด กระทรวงการคลังได้สรุปออกมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ ส่วนจะเป็นการกู้สถาบันการเงินในประเทศหรือต่างประเทศนั้น เป็นไปได้หมด เพื่อให้ได้เงินมาอย่างรวดเร็วและเกิดความคล่องตัวมากที่สุด” นายสุพัฒนพงษ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่เลือกเก็บภาษีลาภลอยตามที่มีการพูดถึง นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูในอดีต ภาษีลาภลอยเคยมีคนคิดอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา และไม่ใช่มีเกณฑ์ที่จะทำได้ง่ายๆ 

ส่วนการพูดคุยกับ 6 โรงกลั่นนั้น ก็คุย แต่วันนี้ค่าการกลั่นไป 2 บาทกว่าแล้ว หากค่าการกลั่นยืนระยะสูง 5-6 บาทอย่างต่อเนื่องคงต้องพูดคุยต่อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญในยามวิกฤตนี้เราต้องประคับประคองให้ผ่านพ้นไปให้ได้ โดยรักษาวินัยทางการเงินการคลังให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้

เมื่อถามว่า ภารกิจนี้ถือเป็นความท้าทายการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า คิดว่าท้าทายทุกรัฐบาล เพราะความท้าทายที่แท้จริงคือความไม่แน่นอน เพราะอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ 

ส่วนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะขึ้นค่าเอฟที รัฐบาลต้องรับมืออย่างไรนั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ต้องดูแลกลุ่มคนเปราะบาง ตอนนี้ให้ กกพ.ไปคิดต่อว่าเมื่อขึ้นไปอย่างนี้ กลุ่มคนเปราะบาง คนที่เคยดูแลอยู่ ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ถ้าจะต้องดูแลต่อจะต้องใช้เงินอย่างไร มากกว่า 300-500 หน่วยจะดูแลอย่างไร ซึ่งอีกไม่นานคงทราบ เราจะรีบดำเนินการ เพราะราคาเอฟทีใหม่จะมีผลในเดือน ก.ย. ซึ่งต้องใช้งบกลางในการดูแลกลุ่มเปราะบางให้เดือดร้อนน้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ใช้เวลาถึงสิ้นปีนี้เลยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นไปตามรอบของค่าไฟฟ้า ก็ประคับประคองกันไป

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด เพื่อให้กระทรวงการคลังเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) โดยก่อนหน้านี้มีแผนการกู้เงิน 3 หมื่นล้านบาท แต่การไปขอเจรจากู้เงินกับสถาบันการเงินยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งกระทรวงพลังงานมองว่าหากกระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันการกู้เงินให้ สถาบันการเงินก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้ การกู้เงินจะต้องดูการบริหารรายรับรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงการคลังได้มีข้อเสนอแนะไปยัง สกนช. ให้มีการจัดทำแผนในส่วนนี้ให้ชัดเจน โดยมองว่าการกู้เงินควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันการกู้เงินให้กับ สกนช.นั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องไปบริหารจัดการรายรับรายจ่ายเพื่อมาชำระเงินกู้คืนให้กับสถาบันการเงิน

 “ยังบอกไม่ได้ว่าการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในฐานะที่เป็นผู้กู้ ต้องชำระเงินกู้ให้หมดภายใน 7 ปี ซึ่งมีข้อเสนอว่าไม่ได้กู้ครั้งเดียวหมด 1.5 แสนล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารรายรับรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย” รมว.การคลังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง