อนุชาคัมแบ็กโฆษก ภท.ฟุ้ง!ได้ส.ส.เพิ่ม

"ธนกร" ยื่นหนังสือลาออกตำแหน่งโฆษกรัฐบาล "อนุชา" คัมแบ็กอีกรอบ จับตาเสริม "ทิพานัน" นั่งรองโฆษกฯ "อนุทิน" มอง 6-7 เดือนเตรียมตัวเลือกตั้งกำลังดี ไม่หวั่น พท.เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.อีสาน ฟุ้งแนวโน้ม ภท.ได้เพิ่มโชคดีคนแห่ร่วมทัพ สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบ 66 ถึงมาตรา 11 ก.ท่องเที่ยวฯ      

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ถือเป็นการยุติบทบาทโฆษกประจำสำนักนายกฯ อย่างเป็นทางการ ขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านจากใจจริง ที่ให้การสนับสนุนการทำงานของตน ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยดียิ่งมาโดยตลอด ความร่วมมือและแรงสนับสนุนของทุกท่าน เป็นกำลังใจ ทำให้ตนสามารถขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ ผลงาน ภารกิจของนายกรัฐมนตรี ตลอดในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จได้อย่างราบรื่น แม้จากนี้ตนจะต้องเปลี่ยนบทบาทในการทำงานเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน แต่ก็ยังยินดีและพร้อมประสานกับพี่น้องสื่อมวลชนทุกท่าน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเช่นเดิม

นายธนกรระบุด้วยว่า แม้จะต้องไปทำหน้าที่ ส.ส.แล้ว แต่ก็จะพยายามมาทำเนียบฯ บ้าง เพราะนายกรัฐมนตรีได้บอกว่าให้ตนมาทำเนียบฯ ได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะมารับนายกฯ ในวันประชุม ครม.บ้าง และการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีก็จะพยายามเดินทางไปด้วยทุกที่เพื่อคอยประสานกับ ส.ส.ในพื้นที่

สำหรับการลาออกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของนายธนกร เพื่อไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน น.ส.วทันยา บุนนาค ที่ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส.

ในช่วงเช้า นายธนกรได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อกราบลาอย่างเป็นทางการ

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนายธนกร ที่จะได้เป็น ส.ส.ตามที่นายธนกรได้มีความตั้งใจเอาไว้ว่าอยากจะทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน ช่วยเหลือในเวลาที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ขอชื่นชมในการทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งตนเองได้ทำงานให้กับรัฐบาลมาพร้อมกับนายธนกร ทราบดีว่าเป็นคนรุ่นใหม่ มีความตั้งใจทำงานทุกอย่างจนออกมาได้ด้วยดี มีความขยัน รับผิดชอบ ช่วยงานนายกฯ และรัฐบาลได้มาก ก็ขออวยพรให้ทำหน้าที่ ส.ส.เพื่อประชาชนตามที่นายธนกรได้ตั้งใจเอาไว้ และตนเชื่อว่านายธนกรจะทำได้เป็นอย่างดี

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 204/2565 เรื่องมอบหมายให้ข้าราชการการเมืองปฏิบัติหน้าที่ อีกหน้าที่หนึ่ง เพื่อให้การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อเนื่อง เหมาะสม และที่ประสิทธิภาพ นายกฯ จึงมีคำสั่งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีกหน้าที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในส่วนของ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะมีการเสนอที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 23 ส.ค.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์กรณี ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ.2563 ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเข้าโหมดเลือกตั้งว่า ประกาศที่ออกมาเป็นสิ่งย้ำเตือนให้พวกเราตระหนักว่าจะเข้าสู่ฤดูเลือกตั้งแล้ว จะมีข้อกำหนดออกมาว่าอะไรทำได้ไม่ได้ เป็นสิ่งที่ดีออกมาตอกย้ำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ระมัดระวัง แม้กระทั่งในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องทราบว่าทำอะไรได้บ้างหรือทำอะไรไม่ได้ในช่วงใกล้ฤดูเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า ระยะเวลา 6-7 เดือนที่เหลือในการเตรียมตัวเลือกตั้งถือว่ามากหรือน้อยไปหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า “กำลังดี”

ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) เพิ่งประกาศ 93 ว่าที่ผู้สมัครในภาคอีสาน ภท. จะสู้ในพื้นที่ดังกล่าวได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อย่าไปพูดถึงคำว่าต่อสู้เลย เราก็นำเสนอนโยบายของเราด้วยรูปแบบการเลือกตั้ง ยิ่งถ้าสมมุติใช้สูตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อหาร 100 พรรคการเมืองต่างๆ ก็ส่งผู้สมัครให้มากที่สุดเท่ากับความสามารถที่มีอยู่ เพราะมันก็ชัดเจนว่าจะต้องได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ถ้าเราส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตที่คุ้นเคยกับพื้นที่โอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็เพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกพรรคจะส่งผู้สมัครที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้ ส.ส. เวลาลงสนามเลือกตั้งนักการเมืองเก่าที่ไม่ได้กลับมาเยอะแยะ อยู่ที่นโยบายความตั้งใจและความใกล้ชิดประชาชน และความสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนหลายอย่างประกอบกัน ประมาทปัจจัยใดๆ ไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว

ถามย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยมั่นใจจะได้ส.ส.ภาคอีสานมากขึ้นจากเดิมหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า “น่าจะดูหั่งเช้ง (แนวโน้ม) ก็น่าจะดี แนวโน้มเช่นธุรกิจนี้หั่งเช้งดีนะ ท่าทางจะไปได้ดี นอกนั้นดี นอกนั้นดีหมดเลย ทั้งนี้ก็อยากได้ ส.ส.ทั่วประเทศถึง 100 เสียง แต่ได้หรือไม่ไม่รู้ แต่เวลาเราอยากได้อะไรแล้วเราพยายามทำให้ถึงจุดนั้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มี

เมื่อถามถึงกระแสข่าวนายปารเมศ โพธารากุล อดีต ส.ส.กาญจนบุรี ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แล้วจะมาร่วมพรรคภูมิใจไทย นายอนุทินกล่าวว่า ตนยังไม่ได้พูดคุยกับนายปารเมศโดยตรง แต่ในฐานะพรรคการเมือง ถ้าใครเห็นว่านโยบายกับความตั้งใจสอดคล้องกันเราเปิดกว้างกับทุกคน และก็นับเป็นข่าวดี เป็นโชคและเป็นบุญของพรรคภูมิใจไทย

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระสอง ต่อจากเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเมื่อเปิดการประชุมได้ลงมติมาตรา 8 งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่คณะ กมธ.ตัดลดงบประมาณเหลือ 8.53 หมื่นล้านบาท จาก 8.81 หมื่นล้านบาททันที เนื่องจากเมื่อคืนของวันที่ 17 ส.ค. สมาชิกได้อภิปรายเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามมาตรา 8 ตามที่คณะ กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 216 ต่อ 83 งดออกเสียง 1 และไม่ลงคะแนน 2 เสียง

อย่างไรก็ตาม นายวราเทพ รัตนากร ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงกรณีการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A ว่า การปรับลดงบประมาณต่ำกว่ามติ ครม.ที่กำหนดไว้ในการก่อหนี้ผูกพันนั้น ข้อเท็จจริงในชั้นอนุกรรมาธิการได้รายงานว่าปรับลดลงทั้งก้อน แต่ในส่วนของกรรมาธิการชุดใหญ่ มีมติเห็นว่าการปรับลดนั้นทำให้ไม่สามารถสนับสนุนกองทัพที่จะได้ยุทโธปกรณ์ไปดำเนินการในการใช้และวางแผนตามความเหมาะสม    กรรมาธิการเสียงข้างมากจึงพิจารณาว่ามติ ครม.เขียนลักษณะนั้นเพื่อบังคับทุกหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ได้หมายความว่าการบังคับนั้นจะมาผูกพันกับการพิจารณางบประมาณของกรรมาธิการแต่อย่างใด เพราะเราแยกอำนาจในการตั้งงบประมาณที่เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร ส่วนอำนาจการอนุมัติเป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เคยมีเรื่องการตั้งงบประมาณมาแล้วมีการปรับลดเหลือน้อยกว่าตามที่มติ ครม.กำหนด ซึ่งสามารถทำได้

จากนั้นที่ประชุมก็ได้พิจารณาเรียงตามรายมาตรา ตั้งแต่มาตรา 9 งบประมาณกระทรวงการคลัง ที่คณะ กมธ. ปรับลดลงเหลือ 1.042 หมื่นล้านบาท จาก 1.049 หมื่นล้านบาท มาตรา 10 งบประมาณกระทรวงการต่างประเทศ วงเงิน 3.76 พันล้านบาท มาตรา 11 งบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่คณะ กมธ.ปรับลดลงเหลือ 3.02 พันล้านบาท จาก 3.05 พันล้านบาท ซึ่งท้ายที่สุดที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นด้วยยืนตามคณะ กมธ.

 ต่อมาเวลา 15.20 น. ที่ประชุมสภาฯเข้าสู่การพิจารณามาตรา 12 งบประมาณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยคณะ กมธ.ปรับลดลงเหลือ 2.136 หมื่นล้านบาท จาก 2.137 หมื่นล้านบาท ซึ่งมี ส.ส.ร่วมอภิปรายจำนวนมาก จนถึงเวลา 17.13 น. ก็ไม่สามารถลงมติมาตราดังกล่าวได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง