ถกงบ2566อืดลากยาว 77ชื่อติดใจกฎหมายลูก

ถกงบประมาณ 2566 สุดอืด ส่อลากยาวข้ามวันข้ามคืน รัฐบาลทุบโต๊ะอยากให้จบใน 3 วัน แต่ฝ่ายค้านหวังลากเพิ่มอีก 1 วัน “สมเจตน์” นำ 77 รายชื่อยื่นชวนให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายพรรคการเมือง

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม ถือเป็นวันที่สาม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยก่อนประชุม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่า จากการประชุมวิป 2 ฝ่าย มีการตกลงกันว่าจะใช้เวลาประชุม 3 วัน คือวันที่ 17-19 ส.ค. ซึ่งมีทั้งหมด 40 มาตรา แต่ในที่ 19 ส.ค.เพิ่งถึงมาตรา 15 ของกระทรวงคมนาคม โดยมี กมธ.สงวนความเห็น และมี ส.ส.แปรญัตติเป็นจำนวนมาก ซึ่งการสงวนคำแปรญัตติเป็นสิทธิของ ส.ส.ที่สามารถพูดได้ ซึ่งอาจทำให้กำหนดเวลา 3 วันอาจพิจารณาไม่ทันจำเป็นต้องเพิ่ม

นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวถึงข้อเสนอเพิ่มวันประชุมว่า ตามกรอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณต้องทำให้เสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งจะครบกำหนด 29 ส.ค. หากจะเพิ่มวันในสัปดาห์หน้าสามารถทำได้ แต่ที่ฝ่ายค้านเสนอให้เพิ่มวันประชุม คือ วันที่ 22 ส.ค. อาจมีข้อขัดข้อง แต่หากเพิ่มในวันที่ 24 ส.ค. จะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นวันประชุมสภา

และในเวลา 09.30 น. เริ่มมีการประชุม โดยพิจารณาในมาตรา 15 งบประมาณของกระทรวงคมนาคม ซึ่ง กมธ. ปรับลดงบประมาณเหลือ 5.79 หมื่นล้านบาทจาก 5.8 หมื่นล้านบาท โดยพรรคฝ่ายค้านยังพุ่งเป้าไปที่งบในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ไม่มีการตัดงบแม้แต่บาทเดียว ซึ่งหลังจากที่ กมธ.ชี้แจง ก็ได้ลงมติผ่านมาตรา 15 ด้วยคะแนน 201 ต่อ 85 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 5 เสียง

ต่อมาพิจารณา มาตรา 16 งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 3.73 พันล้านบาท โดยฝ่ายค้านได้ติติงการทำงานของดีอีเอสว่าทำงานไม่สมกับงบประมาณที่ได้รับ โดยเฉพาะศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย รวมทั้งไม่สามารถแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งหลังอภิปรายกันพอสมควร ที่ประชุมได้ลงมติมาตรา 16 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 224 เสียง ไม่เห็นด้วย 106 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง

ต่อมาเวลา 17.30 น. ที่ประชุมเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก ในมาตรา 19 กระทรวงพาณิชย์ ด้วยมติ 230 ต่อ 106 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และเริ่มก็เข้าสู่การพิจารณามาตรา 20 กระทรวงมหาดไทย 

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาได้ผ่านการเห็นชอบในวาระที่ 2 เพียง 5 มาตรา ได้แก่ มาตรา 15 กระทรวงคมนาคม, มาตรา 16 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, มาตรา 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน และมาตรา 19​ กระทรวงพาณิชย์​ รวมการอภิปรายตลอดทั้ง 3 วัน ที่ประชุมผ่านในวาระ 2 ได้เพียง 19 มาตรา จาก 40 มาตรา ยังคงเหลือการพิจารณาอีก 21 มาตรา

ต่อมานายชินวรณ์ให้สัมภาษณ์หลังหารือวิป 3 ฝ่าย ว่ารัฐบาลยังยืนยันกับฝ่ายค้านว่าต้องการให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ไปตามข้อตกลงเดิมคือ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน แม้ว่าตอนนี้การพิจารณาจะถึงแค่มาตรา 20 ยังเหลืออีก 20 มาตรา แต่โดยปกติเมื่อผ่านมาตราสำคัญที่ยังเหลืออยู่คือ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ เข้าใจว่าหน่วยงานอื่นนั้นจะใช้เวลาอภิปรายน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านก็ได้ให้ความร่วมมือดีแล้ว

“ฝ่ายรัฐบาลพร้อมรักษาองค์ประชุม เพื่อพิจารณางบประมาณปีนี้ จนสามารถลงมติวาระ 3 ในคืนนี้ได้ เพราะหากเลยวันนี้ไปเพื่อน ส.ส.ก็ได้นัดแนะนัดหมายอื่นไว้แล้ว ก็จะยิ่งทำให้การดำเนินการรักษาองค์ประชุมยิ่งยากขึ้น จึงคาดว่าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาในวาระ 2 เสร็จสิ้น ก็ต้องลงมติในวาระ 3 และถ้าเห็นชอบแล้วก็จะนำส่งวุฒิสภาให้พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 105 วัน เพื่อประกาศใช้ให้ทันก่อน 1 ต.ค. เชื่อทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ และตอนนี้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ได้อย่างดี” นายชินวรณ์กล่าว

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ระบุว่า เบื้องต้นอาจประชุมลากยาวจนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. แต่ก็ขึ้นกับเสียงของรัฐบาล โดยอยากให้พักการประชุมไป และประชุมต่ออีกครั้งในวันที่ 20 ส.ค. แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านอยากประชุมต่อในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค. จะหารือฝ่ายรัฐบาลอีกครั้ง

วันเดียวกัน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรแถลงว่า พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นตัวแทนของสมาชิกรัฐสภา 77 คน ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ …) พ.ศ.… ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีข้อท้วงติงให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในคำร้องดังกล่าวมีประเด็นใดบ้าง นายสมบูรณ์กล่าวว่า เบื้องต้นเท่าที่ดูเอกสารมีนับสิบประเด็น ซึ่งจะมีการตรวจสอบทั้งรายชื่อและรายละเอียดต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง