โพลชู‘อุ๊งอิ๊ง’เต็งหนึ่งนายกฯ

เจ้าของสูตรหาร 500 “หมอระวี” ล่า 106 รายชื่อ ยื่น “ชวน” ส่งศาล รธน.ตีความร่าง กม.เลือกตั้ง ส.ส.ผิด รธน.หรือไม่ ชี้มี ส.ส.จากทุกพรรคกว่าครึ่ง     เผยมี “นิโรธ-วีระกร-ศรัณย์วุฒิ-มงคลกิตติ์” ร่วมด้วย โพลสถาบันทิศทางไทย "อุ๊งอิ๊ง" เต็งหนึ่งคนอยากให้เป็นนายกฯ  ตามด้วย "บิ๊กตู่"

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ พร้อมตัวแทน ส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก กล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าขณะนี้ได้รายชื่อทั้งหมด 106 ชื่อ ประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 80 รายชื่อ และ ส.ว.จำนวน 26 คน

นพ.ระวีกล่าวด้วยว่า ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 104 ที่กำหนดให้มีช่วงชะลอร่างกฎหมายไว้ที่ประธานรัฐสภา 3 วัน ซึ่งวันนี้พวกตนได้ยื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย คาดว่านายชวนจะตรวจสอบรายชื่อเสร็จสิ้นภายใน  26 ส.ค.นี้ เชื่อว่า 29 ส.ค.จะส่งหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

นพ.ระวีกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นในคำร้องที่ยื่นคือ ร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่ไปยกเลิกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับปี 2561 รวมถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ยังตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพรรคใหญ่ 2 พรรคได้ร่วมกันถ่วงเวลาไม่แสดงตน ทำให้การประชุมสภาล่มถึง 4 ครั้ง และยังขัดต่อประมวลจริยธรรมที่ว่า ส.ส.ต้องให้ความสำคัญต่อการประชุมสภา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นในการลา เช่น ป่วย ก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่ร่วมลงชื่อครั้งนี้มีทั้งสิ้น 106 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคภูมิใจไทย, ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็ก อีกทั้งยังมีชื่อ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ, ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย, ส.ส.พรรคก้าวไกลบางส่วนที่อนาคตจะย้ายไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย และ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านขนาดเล็ก อาทิ นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล, นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล,  นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล

นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์, นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล), นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ, นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ,  นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ รวมถึงมีชื่อวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 26 คน ร่วมสนับสนุน อาทิ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, นายถวิล เปลี่ยนศรี, นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, นายภาณุ อุทัยรัตน์, พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร, นายออน กาจกระโทก, นายอนุศักดิ์ คงมาลัย,  พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นต้น

สำนักสำรวจความคิดเห็น ‘สถาบันทิศทางไทย’ เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน โดย ดร.เวทิน ชาติกุล ผู้อำนวยการสถาบันทิศทางไทยและประธานโครงการ, ดร.กฤษฎา พรประภา ผู้อำนวยโครงการ และคณะ ได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง ผู้ที่อยากสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่อยากให้เข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง

สำหรับผลสำรวจดังกล่าว ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพศ ช่วงอายุ ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 5,000 หน่วยตัวอย่าง เก็บข้อมูลด้วยวิธีการลงพื้นที่สัมภาษณ์

จากการสำรวจ เมื่อถามถึง ‘ผู้ที่อยากสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี’ ผลการสำรวจทั้งประเทศพบว่า อันดับ 1 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ร้อยละ 33.88 ตามด้วยอันดับ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 29.16, อันดับ 3 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.02, อันดับ 4 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.28, อันดับ 5 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 6.34, อันดับ 6 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 0.76 และอื่นๆ ร้อยละ 5.56

ขณะที่ผลสำรวจต่อคำถามที่ว่า ‘พรรคการเมืองที่อยากให้เข้ามาบริหารประเทศ’ ผลการสำรวจทั้งประเทศพบว่า อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.46, อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 28.30, อันดับ 3 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.30, อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 8.02, อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 6.72, อันดับ 6 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 0.64 และพรรคอื่นๆ 5.56.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง