เฮ!ขึ้นค่าแรง354บาท/ศก.ฟื้นตัวว่างงานลด

เคาะแล้ว! ค่าจ้างขั้นต่ำ 328-354 บาท/วันในแต่ละพื้นที่ หรือปรับเฉลี่ย 337 บาท เพิ่มขึ้น 5.02% หลังถกเครียด 5 ชั่วโมง “ชลบุรี-ระยอง-ภูเก็ต” กวาดค่าแรงสูงสุด 354 บาทต่อวัน ส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้พ่วงน่าน-อุดรธานี ขยับต่ำสุด 328 บาท เตรียมชงเข้า ครม.เร็วสุด สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัว อัตราจ้างงานเพิ่ม ส่วนคนว่างงานลดเริ่มกลับสู่ยุคปกติก่อนโควิดอาละวาด

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ส.ค. นายบุญชอบ  สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน  แถลงผลการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดและกรุงเทพมหานครปี 2565 ว่าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ มีมติปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 328-354 บาท/วัน หรือคิดเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 337 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้น 5.02% เมื่อเทียบกับฐานค่าจ้างขั้นต่ำเดิม

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการปรับ ประกอบด้วย 1.ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต 2.ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร  3.ค่าจ้าง 345 บาท 1 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา 4.ค่าจ้าง 343 บาท 1 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา 5.ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี, หนองคาย, อุบลราชธานี, พังงา, กระบี่, ตราด, ขอนแก่น, เชียงใหม่, สุพรรณบุรี, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, นครราชสีมา, ลพบุรี และสระบุรี

6.ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร, กาฬสินธุ์, สกลนคร, สมุทรสงคราม, จันทบุรี และนครนายก 7.ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัดคือ เพชรบูรณ์, กาญจนบุรี, บึงกาฬ, ชัยนาท, นครพนม, พะเยา, สุรินทร์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, พัทลุง, อุตรดิตถ์, นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, อ่างทอง, สระแก้ว, บุรีรัมย์ และเพชรบุรี 8.ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัดคือ อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, ตรัง, ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู, อุทัยธานี, ลำปาง, ลำพูน, ชุมพร, มหาสารคาม, สิงห์บุรี, สตูล, แพร่, สุโขทัย, กำแพงเพชร, ราชบุรี, ตาก, นครศรีธรรมราช, ชัยภูมิ, ระนอง และพิจิตร และ 9.ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัดคือ ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่าน และอุดรธานี

นายบุญชอบกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอมติการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป และจะมีข้อเสนอให้รัฐบาลและ ครม.พิจารณาออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย โดยการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 นี้ มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็น 5.02% ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาค เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

ทั้งนี้ การประชุมใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากมีการเสนอขึ้นค่าจ้างในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยชลบุรีและ กทม.เสนอปรับเยอะสุด โดยเสนอมา 360 บาท รองลงมาคือภูเก็ต 358 บาท ต่ำสุดเสนอปรับที่ 328 มี 8 จังหวัดส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคอีสาน

วันเดียวกัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2565 ว่าสถานการณ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.0 ล้านคน ขยายตัว 3.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัว 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสาขาการผลิต, สาขาขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้าที่ขยายตัวได้ 6.1%, 12.1% และ 4.9% ตามลำดับ เป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี 

สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาก่อสร้าง 5.4% และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร 2.6% ซึ่งการจ้างงานที่ชะลอตัวในสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร การจ้างงานปรับตัวลดลง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว

นายดนุชายังกล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 11.7 ล้านคน ลดลง 0.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมกลับไปทำงานในสาขาเดิมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงปกติ โดยภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.3 และ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด19 

นายดนุชากล่าวต่อว่า อัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 1.3% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 5.5 แสนคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.53% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 6.07 แสนคน สอดคล้องกับผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมที่มีจำนวน 2.45 แสนคน หรือ 2.17% ของผู้ประกันตนทั้งระบบ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีผู้ว่างงานในระบบอยู่ 3.05 แสนคน หรือ 2.72% ของผู้ประกันตนทั้งระบบ

 “สถานการณ์การว่างงานในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อนและกลุ่มไม่เคยทำงานมาก่อนปรับตัวลดลง ขณะที่ผู้ที่ว่างงานเกิน 1 ปี ปรับตัวลดลงด้วย และเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่าอัตราการว่างงานทุกระดับการศึกษาปรับตัวลดลงทั้งหมด ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวเรื่อยๆ” นายดนุชากล่าว

เลขาธิการ สศช.ยังกล่าวถึงความสามารถในการชำระหนี้ว่า ทรงตัว โดยมีสัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.78% ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ที่ช่วยชะลอไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม โดยระยะถัดไปมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1.ผลกระทบของภาระค่าครองชีพที่อาจกดดันให้ครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว และได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงมีการก่อหนี้มากขึ้น 2.อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และกระทบต่อครัวเรือนที่ขอสินเชื่อใหม่ เนื่องจากจะต้องรับภาระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยมากขึ้น 3.คุณภาพสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อยานยนต์ โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นและสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วนสินเชื่อ NPLs ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงของการเกิด NPLs โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง หรือมีกันชนทางการเงินต่ำ และ 4.การส่งเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการแก้หนี้ที่เฉพาะเจาะจง สำหรับกลุ่มเปราะบางและรายได้ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ส่งเสริมให้มีการก่อหนี้ใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าสูงจนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง