แฉรัฐเอื้อทุนค่าไฟแพง รื้อนโยบาย4บ./หน่วยได้

“สร้างอนาคตไทย” เปิดเวที ชำแหละรัฐต้นทุนไฟฟ้าแพง แฉเอกชนผูกปิ่นโตขายไฟให้รัฐยาว ปล่อยให้ประชาชนแบกภาระหลังแอ่น ลั่นถ้าได้เป็นรัฐบาลจะรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่ไม่ให้นายทุนครอบงำ “ก้าวไกล” โต้ “กพพ.” เผยค่าไฟ 4 บาทต่อหน่วยยังเป็นไปได้ ชี้แม้รัฐพยายามช่วยแต่ทำได้แค่ชั่วคราว 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงข่าว “ชำแหละประเด็นค่าไฟแพง แก๊สแพง ใครทำร้ายประชาชน” โดยนายสนธิรัตน์กล่าวว่า วันก่อนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุจะไม่เห็นค่าไฟต่อหน่วยต่ำกว่า 4 บาทอีกแล้วนั้น เราจะยอมจำนนกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ค่าไฟที่เราแบกอยู่มาจากค่าเอฟที ขณะนี้อยู่ 60-70 สตางค์ แบกค่าประกันค่าตอบแทนโรงไฟฟ้า แบกค่าราคาก๊าซ โดยต้นเดือน ก.ย.เราใช้ค่าไฟ 4.72 บาท ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง มาจากเชื้อเพลิง 54.8% ใช้ก๊าซธรรมชาติ กฟผ.ผลิต 31% แต่เอกชน 31.2% กำลังผลิตกำลังเปลี่ยนผ่านไปยังมือเอกชน วันนี้ปริมาณกำลังผลิตตามสัญญา 51,828 เมกะวัตต์ ตอนนี้มีสัญญาที่ทำไว้กับเอกชน มีไฟฟ้าส่วนเกินครึ่งหนึ่งที่ประชาชนแบกภาระ 

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ขณะที่เรื่องค่าแก๊สแพง การใช้แก๊สในอ่าวไทยลดลงมาตั้งแต่ปี 60 พอพ้นปี 63 ปริมาณการผลิตลดลง ส่งผลต้นทุนแก๊สเราแพง ไทยเหลือแก๊สใช้เองไม่เกิน 7 ปี ดังนั้นไม่เกิน 10 ปีจากนี้เราต้องนำเข้า LNG ทั้งหมด ซึ่งการใช้แก๊สในอ่าวไทยลดลงโดยตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ราคาที่สูงจะกินเวลาไปอย่างน้อยเดือน มี.ค.66 ภาระจะไปตกกับประชาชน นโยบายพลังงานและการบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมาคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ ตนขอถามว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากเอกชนใครได้ประโยชน์บ้าง การบริหารด้านความมั่นคงแก๊สในอ่าวไทยและการเปลี่ยนผ่านที่ผ่านมาเราได้เตรียมการรองรับปัญหานี้หรือไม่ หรือเราต้องการส่งเสริมไฟฟ้าเอกชน ธุรกิจ LNG วันนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุด เอกชนหรือรัฐ ค่าการกลั่นที่ติดค้างในหัวใจประชาชนที่บอกว่าจะลดได้ให้แต่เงียบ สิ่งที่เรียกร้องมาตลอดคือ เมื่อเกิดวิกฤตต้องเอาต้นทุนจริงมาดู ไม่ใช่ใช้กลไกเดิม เมื่อราคามันสูงรัฐต้องหาทางสนับสนุน ทำไมไม่แก้ที่รากปัญหา แต่ปรากฏว่าไม่มีคำตอบ

 “เราต้องหาแหล่งพลังงานราคาถูกไม่ใช่การเซ็นสัญญาระยะยาวที่มีอยู่ ในโลกมีแหล่งพลังงานราคาถูกที่พร้อมขายให้ไทย ไม่เช่นนั้นเราจะต้องมาชดเชยที่ปลายทาง ทั้งค่าเอฟที ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน มันควักเงินจากประชาชนทั้งสิ้น เราเสนอให้แก้รากของปัญหา เมื่อเราแก้ได้จริงราคาพลังงานจะลดลง รัฐจะช่วยชดเชยประชาชนลดลง แก๊สในอ่าวไทยวันนี้เอาไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซื้อในราคาแก๊ส ควรต้องขึ้นราคาตรงนี้หรือไม่ แล้วเอากำไรตรงนี้ไปชดเชยประชาชน ไม่ใช่เอาภาษีมาชดเชยประชาชน เปลี่ยนวิธีบริหารเสีย รื้อโครงสร้างบริหารงานเสีย วางโครงสร้างบริหารพลังงานใหม่” นายสนธิรัตน์กล่าว

เลขาธิการพรรค สอท.กล่าวด้วยว่า  ถ้าพรรคได้เข้าไปบริหารเราจะรื้อสิ่งเหล่านี้และขอเสนอนโยบาย 4 โซลาร์ ได้แก่ โซลาร์รูฟท็อป สองโซลาร์ฟาร์มบนมิติโรงไฟฟ้าชุมชน โซลาร์สูบน้ำบาดาลทั่วทั้งประเทศ โซลาร์ลอยน้ำถึงเวลารื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ ไม่ปล่อยทุนครอบงำ

ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงแสดงความกังวลต่อค่าไฟที่แพงขึ้น พร้อมตอบโต้คำแถลงของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ออกมาระบุว่าคนไทยจะไม่ได้เห็นค่าไฟฟ้า 4 บาทต่อหน่วยอีกแล้วว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาการขึ้นค่า Ft 92 สตางค์ ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มโดยเฉลี่ยถึง 5 บาทต่อหน่วย กลายเป็นค่าไฟที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ และแม้ที่ผ่านมาจะมีการอนุมัติงบกลาง 9 พันล้านบาท ออกมาช่วยเหลือประชาชน แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งในอนาคตประชาชนจะต้องมาเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน แม้จะมีการมองปัจจัยหลักของปัญหาไปอยู่ที่วิกฤตพลังงานจากสงครามยูเครน-รัสเซีย และขอยืนยันอีกครั้งว่าต้นตอจริงๆ เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานอยู่เหนือประโยชน์ของประชาชน

นายวรภพกล่าวว่า ประการแรกมาจากการที่ทุกหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย เป็นการจ่ายเข้าโดยตรงให้กลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องถึง 24 สตางค์ต่อหน่วย เหตุจากการที่รัฐไปทำสัญญาประกันกำไรค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความต้องการใช้ไปถึง 54% และกลายมาเป็นต้นทุนที่รัฐนำมาคิดกับประชาชนอีกทีหนึ่ง และนอกจากนี้ ประชาชนยังต้องจ่ายค่าผ่านท่อก๊าซ ที่ไม่มีก๊าซผ่านเพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่อง ให้กับกลุ่มทุน ปตท.อีกต่อหนึ่ง โดยรัฐบาลไม่มีความพยายามใดเลยในการเจรจาขอปรับลดแต่อย่างใด ที่ผ่านมากลับมีการรีบอนุมัติทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA กับ 5 เขื่อนในประเทศลาวเพิ่มอีก 3,900 MW โดยที่ไม่รอแผน PDP ฉบับใหม่ ที่จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งการดำเนินการอย่างเร่งรีบนี้ จะย้อนกลับมาเป็นภาระให้กับประชาชนในอนาคตต่อเนื่องอย่างแน่นอน

"การเก็บค่าไฟฟ้าจากครัวเรือนเป็นอัตราก้าวหน้า หรือยิ่งใช้มากยิ่งจ่ายแพง ขณะที่เก็บจากกิจการขนาดใหญ่เป็นอัตราคงที่ ซึ่งครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าแพงสุดต้องจ่ายที่ 4.10 บาทต่อหน่วย ขณะที่กิจการขนาดใหญ่กลับจ่ายค่าไฟฟ้าแพงสุดเพียง 3.74 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ยืนยันว่าค่าไฟที่ถูกลงที่หน่วยละ 4 บาทเป็นไปได้ หากรัฐเปลี่ยนนโยบายนำเอาผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นหลักก่อน" นายวรภพกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง