บิ๊กตู่ขอพรรคร่วมเลิกขัดแย้ง

“บิ๊กตู่” รับคำเชิญร่วมงานเลี้ยงกระชับสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล ย้ำทุกคนต้องช่วยกันทำ บางอย่างก็ต้องบูรณาการ ไม่ใช่ทำงานเป็นไซโลที่แยกจากกัน ยอมรับคุย "เฉลิมชัย" เรื่องขอให้ส.ส.ประชาธิปัตย์เข้าประชุมสภา กฎหมายสำคัญรอไม่ได้ ยังมีอีกหลายฉบับ วอนอย่าสร้างความขัดแย้งกันอีกเลย พอแล้ว

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเชิญไปร่วมจัดกิจกรรมงานพบปะกระชับสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลว่า เชิญมาก็ไป เห็นว่าเขาจะเชิญ ถ้าไปได้ก็ไปอยู่แล้ว และถ้าไปได้มันก็ดี

"คิดว่ามันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ครม. ผมคุยกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค พรรคร่วมรัฐบาลได้ตลอดทุกเรื่อง ขอความร่วมมือก็ช่วยกัน เพราะถือว่าเป็นผลงานรัฐบาลไปด้วยกัน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่ของนายกฯ คนเดียว มันไม่ใช่ มันต้องไปด้วยกัน เป็นนโยบายนายกฯ เป็นนโยบายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล ครม. ถูกไหม ทุกคนต้องช่วยกันทำ ขณะเดียวกันบางอย่างก็ต้องบูรณาการ ไม่ใช่ทำงานเป็นไซโลที่แยกกันทำงานอย่างเดียว"

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีมีข่าวช่วงพักเบรกประชุม ครม.ได้หารือกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอความร่วมมือให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมประชุมสภาว่า ได้หารือพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรหรอก บางทีก็ไม่เข้าใจกันบ้างอะไรกันบ้าง บางทีก็เอ๊ะจะเอายังไงกัน ก็ประสานไปทางวิปรัฐบาลให้คุยกันให้เรียบร้อย เพราะกฎหมายสำคัญมันรอไม่ได้ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ของพวกเรา ไม่ใช่ของตน เป็นประโยชน์ของประเทศ ขออย่าสร้างความขัดแย้งกันอีกเลย พอแล้ว

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้ไปตอบกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็นเรื่องที่ให้ไปตอบกระทู้แทนในกรณีของกระทรวงที่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการไม่สะดวกไปตอบ หรือไปราชการในต่างประเทศ ซึ่งตามปกติเมื่อรัฐมนตรีคนใดเดินทางไปต่างประเทศ อาจจะมีรัฐมนตรีที่อยู่ต่างกระทรวงมารักษาการแทนอยู่แล้ว แต่การไปตอบกระทู้แทนอย่างนี้ก็คงไม่ได้ดีเหมือนกับเจ้าตัวมาตอบเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดกรณีที่รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ และผู้รักษาการ ไม่สะดวกไปตอบกระทู้ จึงได้กำหนดว่ามอบหมายให้รัฐมนตรีคนอื่นไปตอบแทน ซึ่งรัฐบาลทุกชุดในอดีตมีการมอบหมายเช่นนี้ โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้ามีหลายคนก็แบ่งกันไป

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหารัฐมนตรีเลื่อนการตอบกระทู้ว่า ต้องยอมรับว่า การตอบกระทู้ในสมัยนี้มากกว่าในสมัยก่อน ซึ่งได้แจ้งในที่ประชุมว่าอยากให้เป็นมาตรฐานไว้ ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลหรือส.ส.ในภายภาคหน้า ต้องมีมาตรฐานความรับผิดชอบตอบกระทู้ถาม เพราะเราเคยมีประสบการณ์ที่ผ่านมาว่ารัฐมนตรีหนีกระทู้ เราจึงพยายามสร้างบรรทัดฐานขึ้นมา แต่ถ้าไปดูตัวเลขจะเห็นว่ามีการตอบกระทู้ถามในยุคสมัยนี้มากเป็นพิเศษ

ประชุมสภาเป็นหน้าที่ ส.ส.

แต่บังเอิญการประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีปัญหา เพราะเรานัดประชุมวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นข้อตกลงตั้งแต่แรกว่าวันพฤหัสบดีจะเป็นการตอบกระทู้ แต่ ครม. มีการประชุมในวันพฤหัสบดีเป็นนัดพิเศษจึงทำให้รัฐมนตรีมาตอบกระทู้ได้เพียงท่านเดียว จึงได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายวิษณุ ว่าให้แจ้งรัฐบาลว่าวันพฤหัสบดี ทางสภาเขานัดล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องกันวันนี้ไว้ เพื่อที่รัฐมนตรีท่านใดจะได้รู้ว่าจะมาตอบกระทู้ยกเว้นกระทู้ถามสดด้วยวาจาที่ถามตอนเช้า รัฐมนตรีจะไม่มีวันรู้ก่อนล่วงหน้าว่าสมาชิกจะถามเรื่องอะไร บังเอิญรัฐมนตรีท่านนั้นไม่รู้หรือไม่ทราบเรื่องมาก่อน ก็อาจจะไม่อยู่และไม่พร้อม ก็เป็นไปได้ตามปกติ แต่โดยทั่วไปเขาก็มาตอบกระทู้

นายชวนยังกล่าวถึงเรื่ององค์ประชุมสภาว่า โดยหลักแล้วทุกคนต้องร่วมมือกัน พูดมาตลอดไม่ว่าเป็น ส.ส.มากี่สมัยก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. แต่ในระบบนี้รัฐบาลอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมาก เพราะถ้าไม่ใช่เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ฉะนั้นรัฐบาลต้องเป็นหลัก มีหน้าที่รักษาองค์ประชุม ส.ส.รัฐบาลก็จะมีน้ำหนักพิเศษกว่า ส.ส.ทั่วไป ถือว่าเป็นภารกิจจะต้องทำ

"อย่าไปโยนให้วิปฯ เพราะวิปฯ เป็นเพียงผู้ควบคุมเสียง ไม่ใช่คนที่จะบอกว่าให้คะแนนครบหรือไม่ครบ ดังนั้นเสียงจะครบหรือไม่อยู่ที่สมาชิกรับผิดชอบ และพรรคการเมืองต้องดูแลคนของตนเอง รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ผมก็เตือนว่าเป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อเสียง ไม่ใช่ขาดประชุมแล้วไปโยนให้คนอื่น มันไม่ได้” ประธานสภาฯ กล่าว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ของฝ่ายเสียงข้างมาก ตนทำหน้าที่ในสภามานาน ยืนยันฝ่ายเสียงข้างน้อยจะทำหน้าที่ก็ต่อเมื่อฝ่ายเสียงข้างมากหรือรัฐบาลมีความพร้อมเท่านั้น ถ้าเราเห็นว่าคุณไม่พร้อม เราก็จะไม่ทำหน้าที่เป็นเสียงข้างมาก แต่ในการพิจารณากฎหมายที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม เราจะทำหน้าที่ และชัดเจนว่าอย่ามาถามว่าทำไมฝ่ายค้านถึงไม่ทำหน้าที่หรือไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ก็เพราะการรักษาองค์ประชุมให้ครบเป็นหน้าที่ของฝ่ายเสียงข้างมาก ในเมื่อรับหน้าที่เป็นเสียงข้างมากแล้ว ก็ต้องทำให้ถึงที่สุด เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อย เราจะทำหน้าที่ตรวจสอบให้ถึงที่สุดเช่นกัน

เมื่อถามว่า ในการประชุมวันที่ 11 พ.ย. จะมีวาระตอบกระทู้ถามสด ถ้ารัฐบาลหรือรัฐมนตรีไม่ส่งคนมาทำหน้าที่ตอบกระทู้ถามสด ฝ่ายค้านจะทำอย่างไร นพ.ชลน่านอ้างว่า นี่คือความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งตามปกติระบบรัฐสภาให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ สามารถตั้งกระทู้ถามสดได้ ซึ่งรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องต้องมาตอบ ยกเว้นกรณีที่เป็นกฎหมายหรือเรื่องคอขาดบาดตายมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศหรือของรัฐเท่านั้น ต้องมีมติ ครม.แจ้งมาว่าเรื่องนี้ตอบไม่ได้ แต่รัฐมนตรีจะแจ้งว่าติดภารกิจแล้วมาตอบไม่ได้ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรการหลังจากนี้ ถ้ายังเป็นเช่นเดิม เราอาจต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัยให้มาช่วยชี้ขาด เพราะเราทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารกลับทำตัวตรวจสอบไม่ได้ ก็ต้องมีคนมาชี้ขาดตามกลไกรัฐธรรมนูญ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร เราไม่ว่า เพราะเราทำตามหน้าที่

กรณี"ปารีณา"ไม่เป็นปัญหา

กรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถูกศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการ (กมธ.) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ได้นั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในรายละเอียดต้องไปดูใน กมธ. แต่คำสั่งครั้งนี้ก็เป็นมาตรฐาน สำหรับสมาชิกที่ศาลได้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติภารกิจต้องยึดถือเป็นภารกิจต่อไป ส่วนที่ก่อนหน้านี้น.ส.ปารีณาปฏิบัติหน้าที่ใน กมธ. ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะบางทีถ้าเป็นกมธ.วิสามัญคนนอกก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญและมีผลมากคือในที่ประชุมสภาใหญ่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่มีการรายงานมายังสภาอย่างเป็นทางการ

เมื่อถามว่า หากต้องการความชัดเจนจำเป็นจะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น ประธานสภาฯ ตอบว่า เคยมีปัญหานี้ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่มีการลงมติโดยที่ ส.ส.ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม กรณี ส.ส.พัทลุงพรรคภูมิใจไทยเสียบบัตรแทนกันโดยที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ในห้อง จึงเป็นผลให้ต้องมีการพิจารณาและลงมติกันใหม่ หลังยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าเป็นการลงมติในชั้นกรรมาธิการ จะต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ตามเรื่องนี้มาก่อน เพียงแต่เห็นข่าวจากสื่อเท่านั้น และยังไม่เข้าใจ ให้เจ้าหน้าที่ไปขอคำวินิจฉัยที่ชัดๆมาดู ในส่วนของ กมธ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ที่ น.ส.ปารีณาเป็น กมธ.อยู่นั้นก็จบไปแล้ว รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ก็ผ่านไปแล้ว และผลจะเป็นอย่างไรต่อไปยังไม่ทราบ และไม่ทราบว่าศาลพูดถึงหรือเปล่า และเห็นจากข่าวว่าทนายของ น.ส.ปารีณาระบุว่าหากยังสงสัยอาจต้องร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าจะกระทบต่อการพิจารณางบประมาณ 65 หรือไม่ เข้าใจว่าไม่กระทบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทนายความระบุไว้ ตนรู้แค่นี้ ก็ยังไม่เข้าใจ แต่ที่แปลกอยู่นิดนึง มีข้อสงสัยว่า กมธ.ที่ศาลระบุนั้นเป็นวิสามัญ ซึ่งปกติคนนอกเป็นได้ และศาลไปถือว่า กมธ.วิสามัญใช้คนนอกเป็นได้ แล้วจะกระทบหรือไม่ ศาลพูดหรือไม่ตนไม่ทราบ อยากจะเอาคำวินิจฉัยมาดู ซึ่งแตกต่างจาก กมธ.สามัญที่เป็นไม่ได้

ถามว่า เรื่องนี้ยังคลุมเครือจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รองนายกฯตอบว่า แล้วแต่ใครสงสัยก็ทำไป แต่ตนไม่ได้เป็นคนแนะนำ เพราะกรณีของ น.ส.ปารีณาจบไปแล้ว

ซักว่ากรณีนี้จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้ ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่สามารถเป็น กมธ.วิสามัญในอนาคตด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุยืนยันว่า ใช่ แต่ที่เป็นไปแล้วก็แล้วไป ศาลเพิ่งมาสั่ง ไม่มีผลย้อนหลัง แต่อนาคตจะได้ระมัดระวังว่าจะไม่ตั้ง หรือถ้าตั้งไปแล้วและถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ภายหลัง อาจจะต้องขอให้ออก ถือเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

เมื่อถามว่า อย่างกรณีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. อาจจะไม่สามารถนั่ง กมธ.วิสามัญงบประมาณในอนาคตได้ใช่หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า หากยังไม่ชัดเจนก็อย่าไปเสี่ยง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่