กกต. ตอก 180 วันฝีมือสภาฯ

เลขาฯ กกต.แจง กกต.ออกระเบียบเพื่อให้ ส.ส. พรรคการเมือง และว่าที่ผู้สมัครเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้ง หวั่นทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่กฎเหล็กลิดรอนสิทธิในการช่วยประชาชน “สดศรี” แนะ กกต.ปรับกฎเหล็ก บีบรัฐมนตรีลาออกจากสมาชิกพรรค ลดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง-ลดข้อครหาใช้งบหลวงหาเสียง

            เมื่อวันที่​ 1 ตุลาคม 2565 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการแสดงความเห็นว่าระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการหาเสียง หรือรอนสิทธิในการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนว่า  ความคิดเห็นดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนจากข้อกฎหมายอยู่มาก การที่ กกต.ออกระเบียบนี้ เพื่อความเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่มีการหาเสียงเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด เพราะโทษตามกฎหมายกำหนดนอกจากมีโทษใบเหลือง ใบแดง ใบดำ ใบส้ม หรือยุบพรรคการเมือง ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่แล้ว ยังมีโทษทางอาญาด้วย

            เลขาฯ กกต.ระบุว่า ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงที่ออกมาไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียงการอธิบายกฎหมาย ว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้   ตามกฎหมายที่กำหนด กกต.จะไปกำหนดความผิดหรือโทษเองไม่ได้ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็เป็นตัวอย่างที่ได้จากคำพิพากษาของศาล และหนังสือตอบข้อหารือของพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ความผิดเกี่ยวกับให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ หรือการติดป้ายประกาศหรือการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์

            “เรื่องเหล่านี้เป็นข้อห้ามอยู่ในกฎหมาย ซึ่ง กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง กกต.เป็นเพียงผู้นำมารวมและอธิบายไว้ในระเบียบให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครได้ศึกษาอย่างสะดวกรวดเร็ว” 

            นายแสวงยังกล่าวว่า การหาเสียงและการทำหน้าที่ต้องแยกออกจากกัน การหาเสียงไม่ว่าผู้ใดจะเป็นรัฐมนตรี ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ก็ต้องหาเสียงภายใต้กฎหมายเลือกตั้งอย่างเสมอภาคกัน เช่น ส.ส.หรือรัฐมนตรีใช้เงินหรือทรัพย์สินส่วนตัวให้เงินไม่ได้เช่นเดียวกัน  เป็นต้น ส่วนการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ก็ทำหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ตามปกติ กกต.ไม่อาจไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าทำตามกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครอง เว้นแต่การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และระเบียบนี้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2562  ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการเดิม คำอธิบายเดิม เพียงแต่ระยะเวลาใช้บังคับยาวนานขึ้น คือ 180 วัน ซึ่งระยะเวลาหนึ่ง 180 วัน กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด   แต่เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา กกต.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น   

            "หากจะให้เวลาใช้บังคับในการหาเสียงน้อยลง ต้องแก้กฎหมาย และต้องแก้โดยรัฐสภา ไม่ใช่ กกต. แต่ที่ กกต.แจ้งและดำเนินการก็เพื่อความเรียบร้อย และความหวังดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะหากมีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย  หากมีผู้นำมาร้องเรียนร้องคัดค้านภายหลัง ผลเสียก็จะเกิดแก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง เช่น ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัคร 1 ปี (ใบส้ม) หรือ ตลอดชีวิต (ใบดำ) เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ หรือยุบพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี" นายแสวงกล่าว

            ด้านนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.​ กล่าวว่า กกต.ควรกำหนดไว้เลยว่าในช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีควรจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคหรือสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น เพราะจะได้ออกไปช่วยประชาชนในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน ซึ่ง กกต.ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ตนมองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะให้เขาอยู่ในหมวก 2 ใบ ทั้งการเป็นหัวหน้าพรรคหรือสมาชิกพรรค และการเป็นรัฐมนตรี  ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ดีกว่าจะให้เขาใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งในพรรคตัวเอง ทั้งนี้ ถึงแม้การที่รัฐมนตรีออกไปช่วยหาเสียงจะสามารถทำได้นอกเวลาราชการ แต่สำหรับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ จะบอกให้เขาไปหลังเวลาราชการก็คงไปไม่ได้ เพราะเขาออกไปทำงานราชการ

            “คงจะเป็นเรื่องดีถ้า กกต.ปรับปรุงระเบียบที่วางไว้ ก็จะเกิดการไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ในขณะเดียวกันก็จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการร้องเรียนว่าบุคคลนั้นเป็นรัฐมนตรีแล้วยังเอาเงินของหลวงไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งด้วย ในการออกไปช่วยเหลือชาวบ้านในขณะเกิดอุทกภัย วาตภัยต่างๆ” อดีต กกต.กล่าว

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 ต.ค.นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการดำเนินการโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่ จ.ชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ร่วมลงพื้นที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง