คนจนอ่วมชักหน้าไม่ถึงหลัง

สวนดุสิตโพลเผยของแพงทำคนจนชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย คนตกงานมากขึ้น แนะรัฐบาลสร้างโอกาสสร้างรายได้ เน้นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว แต่ไม่เชื่อรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้

เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ของแพง” กับ “คนจน” ระหว่างวันที่ 3-6 ต.ค.2565 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,067 คน โดยปรากฏผลดังนี้ เมื่อถามว่ารายได้ของประชาชนวันนี้เพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 54.54 ขณะที่ร้อยละ 45.46 เพียงพอกับรายจ่าย

เมื่อถามว่า สินค้าประเภทใดที่คิดว่า “แพง” เกินกว่าที่จะรับได้ อันดับ 1 ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ร้อยละ 82.96, อันดับ 2 ค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ 71.19, อันดับ 3 แก๊สหุงต้ม ร้อยละ 66.38, อันดับ 4 อาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง ร้อยละ 53.67, อันดับ 5 วัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ร้อยละ 52.64

เมื่อถามว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือกรณีของแพง อันดับ 1 ควบคุมราคาสินค้า ลดราคาสินค้า ร้อยละ 85.73, อันดับ 2 ลดภาษีน้ำมัน ร้อยละ 68.43, อันดับ 3 นำเสนอข้อมูลความจริง ไม่ปิดบัง ร้อยละ 56.52, อันดับ 4 จัดโครงการสินค้าราคาถูกช่วยเหลือประชาชน ร้อยละ 54.35, อันดับ 5 เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น คนละครึ่ง ช่วยค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ 52.36

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรกับกรณี “คนจน” ในประเทศไทยเพิ่มเป็น “20 ล้านคน” หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด อันดับ 1 ของแพงทำให้คนมีเงินไม่พอใช้ ร้อยละ 80.38, อันดับ 2 คนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้ ร้อยละ 74.72, อันดับ 3 เงินจำนวนเท่าเดิม ซื้อของได้น้อยลง ร้อยละ 70.47, อันดับ 4 คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 67.64, อันดับ 5 เศรษฐกิจไม่ดีเป็นเวลานาน ร้อยละ 65.57

เมื่อถามว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือกรณี “คนจน” อันดับ 1 สร้างโอกาส สร้างรายได้ เน้นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว ร้อยละ 78.32, อันดับ 2 แก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ร้อยละ 77.19, อันดับ 3 ยอมรับและหาต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง ร้อยละ 66.54, อันดับ 4 ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ร้อยละ 63.15, อันดับ 5 เพิ่มสวัสดิการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพ ร้อยละ 59.10

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหา “คนจน” ได้หรือไม่ พบว่า แก้ไขไม่ได้​ ร้อยละ 77.32 ขณะที่ร้อยละ 22.68 เชื่อว่าแก้ไขได้

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหา “ของแพง” ได้หรือไม่ ผลสำรวจพบว่า แก้ไขไม่ได้ ​59.23%​​ ขณะที่ร้อยละ ​40.77 เชื่อว่าแก้ไขไม่ได้

ผศ.ดร.จิตต์วิมล คล้ายสุบรรณ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้ หรือบางคนถูกลดเงินเดือน จึงส่งผลให้คนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็หมายถึงมีจำนวนคนจนมากขึ้นนั่นเอง เมื่อ “รายได้น้อยลง” แต่ “ของแพงขึ้น” จึงทำให้เงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงปากท้องในแต่ละวัน จากปัญหา ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนอยู่หลายโครงการ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น

"ดังนั้นการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยเฉพาะวางแผนในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนกลไกและวิธีการในการแก้ไขปัญหาให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และสำหรับความตั้งใจของรัฐบาลที่ว่า “30 กันยายน 2565 คนจนจะหมดไป” ณ วันนี้ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องหาวิธีการแก้จนกันต่อไป" ผศ.ดร.จิตต์วิมลกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง