ชวนกรีดพรรคใหม่ล่าเหยื่อปชป.

"บิ๊กตู่" ตอบข่าวลือยุบสภา 24 ธ.ค. ให้ไปถามคนปล่อยข่าว หัวเราะชอบใจ "วราวุธ-อนุทิน" นัดแนะกลางโต๊ะอาหารให้สัมภาษณ์สื่อยุบสภา 31 ก.พ.  "เสี่ยหนู" รับลูกมาปล่อยมุกทันที "ลุงป้อม" ยันไม่มียุบสภาปลายปี "วิษณุ" ขออย่าฟุ้งซ่าน ลั่นไม่มีปัจจัยเสี่ยงยุบสภา ระบุหากเกิดอุบัติเหตุ ไร้ กม.ลูก เชื่อรัฐบาล-กกต.หาทางออกได้ "ปธ.ชวน" ถกวิป 3 ฝ่าย วางวาระประชุมสภา เผยญัตติม.152 ยื่น 14 พ.ย.นี้ แก้ รธน.ฉบับ "ธนาธร" เข้าปลาย พ.ย. กรีดยับคนตั้งพรรคใหม่ล่าเหยื่อในประชาธิปัตย์ "พท." เคาะแนวทางสู่แลนด์สไลด์ ลั่นไม่เกินต้น ธ.ค.เปิดตัวผู้สมัครครบ 400 เขต "ชลน่าน" ปัดเปิดตัวช้ารอเด็กธรรมนัส

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ  รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวการยุบสภาวันที่ 24 ธ.ค. ซึ่งมีข่าวในช่วงที่จะประชุมเอเปก โดย พล.อ.ประยุทธ์ย้อนว่า "ก็ต้องไปถามคนปล่อยข่าวใครกัน"

เมื่อถามว่าจะกระทบกระเทือนต่อภาพของรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ชี้แจงไปสิ เมื่อถามย้ำว่าหลังการประชุมเอเปกนายกฯ จะมีความชัดเจนทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบคำถามพร้อมส่ายศีรษะเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า

มีรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีได้นั่งรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งระหว่างการรับประทานอาหาร ช่วงหนึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้นัดแนะกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เรื่องการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระแสข่าวยุบสภา

โดยนายวราวุธได้หันไปพูดกับนายอนุทินว่า เดี๋ยวเราออกไปสัมภาษณ์เรื่องยุบสภากันดีกว่า ว่าท่านนายกฯ จะยุบสภาในวันที่ 31 ก.พ. เพราะถ้าบอกแค่วันที่ 29 ก.พ. มันก็ยังพอจะมีทาง ทำให้นายอนุทินและ พล.อ.ประยุทธ์ต่างหัวเราะชอบใจ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ที่หัวเราะจนตัวโยน

จากนั้นนายอนุทินให้สัมภาษณ์กรณีมีข่าวยุบสภาในวันที่ 24 ธ.ค.ว่า ไม่มี พร้อมปล่อยมุกว่า เห็นนายกฯ บอกว่ายุบสภาประมาณวันที่ 31 ก.พ.

"ผมถามนายกฯ ตอนรับประทานอาหารกลางวันว่ายุบสภาเมื่อไหร่ ท่านก็บอกว่า 31 ก.พ." นายอนุทินระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายอนุทินพูดมาถึงตรงนี้ได้ยิ้มและหัวเราะ เมื่อถามว่ารัฐบาลจะอยู่ไปตามกรอบเดิมที่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค.ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็อยู่ที่นายกฯ เพราะอำนาจการยุบสภาอยู่ที่นายกฯ ผู้เดียว

ซักว่า จากสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นปัจจัยนำไปสู่การยุบสภาใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การทำงานก็เป็นไปได้ด้วยดี เรายังไม่สโลว์ดาวน์ หรือคิดว่า 5-6 เดือนสภาจะหมดอายุ รัฐบาลจะครบวาระแล้ว สโลว์ดาวน์ไม่มีเลย เราทำงานที่ค้างคาให้โดยเร็ว และพยายามแก้ไขปัญหาทุกๆ ด้านอย่างเต็มกำลัง ซึ่งทุกกระทรวงก็เป็นอย่างนี้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปฏิเสธตอบถึงกระแสข่าวยุบสภาในช่วงวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ว่า "ไม่มี"

เมื่อถามว่า พรรค พปชร.จะต้องเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์เฉพาะหน้าหากมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ตอบ เพียงแค่ส่ายหัว พอซักอีกว่าจะเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถาม ก่อนนั่งรถออกไปทันที

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชัดเจนกรณีหากรัฐบาลอยู่ครบเทอมวันที่ 23 มี.ค.2566 ส.ส.หากย้ายพรรคจะต้องสังกัดพรรคใหม่ 90 วันโดยเริ่มตั้งแต่วันใด หลังมีการพูดว่าต้องลาออกก่อนวันที่ 24 ธ.ค.65 ว่า หากอยู่ครบวาระไปถึงวันที่ 23 มี.ค.66 จะต้องนับระยะเวลา 90 วันไปจนถึงวันเลือกตั้ง

ถามว่า สังคมสับสนวันสุดท้ายที่ ส.ส.จะลาออกได้เพื่อให้ทันกรอบเวลา 90 วันคือวันที่ 24 ธ.ค.65 นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีอะไรสับสนหรอก เอาเป็นว่าเมื่อสภาเปิดแล้ววันนี้ใครจะเริ่มคิดอ่านอย่างไรก็ควรเริ่มคิดได้ตั้งแต่วันนี้ เผื่อสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปได้หลายอย่าง

วิษณุชี้อย่าฟุ้งซ่านยุบสภา

ซักว่า มีชุดความคิดหากมีการยุบสภาและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งยังไม่ผ่าน รัฐบาลจะถืออำนาจรักษาการต่อไปอย่างยาวนานจนกว่าจะมีกฎหมายลูก นายวิษณุกล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องที่บางคนคิด แต่รัฐบาลก็ไม่รู้ หากเกิดเหตุอย่างนั้นขึ้นมาจะอยู่กันอย่างไร จะใช้กฎหมายอะไร เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคนชี้เรื่องนี้ เป็นเรื่องของ กกต.ที่จะเป็นคนชี้ และถ้าใครไม่เชื่อก็ต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีอำนาจไปกำหนดอย่างนั้น

"รัฐบาลไม่สามารถยื้อเวลารักษาการในช่วงที่ไม่มีเลือกตั้ง ใช่ อย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งวันใดวันหนึ่ง เลือกผิดเลือกถูกก็เลือกไปก่อน และให้ศาลไปชี้เอา  และสุดท้ายหากไม่มีกฎหมายลูก ก็ต้องหาทางร่วมกันจนได้ว่าจะเอากฎเกณฑ์อะไรมาจากไหน" นายวิษณุกล่าว

ถามถึงความคืบหน้ากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับจะเป็นอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขณะนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังขอให้กกต.ชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่ครบ 15 วัน และหากชี้แจงแล้วศาลก็คงตัดสินได้ ซึ่งตนไม่คิดว่าจะช้า เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องสืบพยาน

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วกฎหมายเกิดอุบัติเหตุ และเวลาของรัฐบาลเหลือน้อย ไม่ทันพิจารณากฎหมายใหม่จะทำอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ก็คงต้องคิดด้วยกันทั้งรัฐบาลและ กกต. แต่ กกต.จะได้เปรียบ เขาจะถือสิทธิอะไรมากกว่า ซึ่งสามารถออกกฎเกณฑ์อะไรออกไปได้ก่อน หากใครเห็นว่าผิดก็ไปฟ้องเอา

ซักว่าหากไม่มีกฎหมายลูกรัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดการเลือกตั้งได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้าถามตน ที่สุดของที่สุดจริงๆ ก็ต้องทำอย่างนั้น แต่มันไม่สมควร เพราะการออกพระราชกำหนดเป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียว

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. อาทิ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน),
 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล), นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.), นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท., นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 30 นาที

นายชวนกล่าวว่า เป็นการนัดประชุมครั้งแรกของวิป 3 ฝ่าย เพื่อหารือสำหรับวาระการประชุมของสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 พ.ย.-28 ก.พ. ซึ่งในช่วง 120 วันต่อจากนี้ มีวันหยุดที่ตรงกับวันประชุมเพียงแค่วันที่ 16-18 พ.ย. เนื่องจากเป็นการประชุมเอเปก จากนั้นก็ประชุมตลอดเว้นแต่ยุบสภาเสียก่อนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  โดยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น เรื่องที่ค้างอยู่เป็นญัตติจำนวนมากจึงได้หารือกับที่ประชุมว่ากรณีที่หน่วยงานมาชี้แจงเรื่องเพื่อทราบ จึงขอความร่วมมือกัน และตกลงกันว่าการประชุมในสัปดาห์นี้จะขอเสนอญัตติ 2 เรื่อง และจะใช้เวลาพิจารณาทั้งวัน สำหรับการประชุมสัปดาห์ถัดไป จะเป็นการพิจารณาเรื่องเพื่อทราบ และได้ขอให้ประชุมเลิกค่ำหน่อย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาประชุมวันศุกร์บ่อยเกินไป

ประธานสภาฯ กล่าวว่า สำหรับญัตติที่จะมีการเสนอประมาณกลางเดือนนี้ คือ ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยเบื้องต้นจะเป็นวันที่ 14 พ.ย. ส่วนจะพิจารณาวันไหนนั้น ได้ให้ไปหารือกันว่าแต่ละฝ่ายจะขอเวลาอภิปรายกี่วัน เพราะการอภิปรายครั้งนี้แต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงและให้ความเห็นได้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายคงจะใช้เวลา จึงต้องหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติว่าแต่ละฝ่ายจะใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้นัดต่อไปว่าการอภิปรายจะเป็นช่วงใด คาดว่าน่าจะเป็นเดือนหน้า

นอกจากนี้ ในส่วนระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภามี 4 เรื่อง เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ… และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งจะสามารถพิจารณาได้ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า

พท.เคาะแผนแลนด์สไลด์

วันเดียวกัน นายชวนได้ให้สัมภาษณ์กรณีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.หลายสมัย ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่า เรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. เคยพูดไปแล้วว่ามีคนไปตั้งพรรคใหม่แล้วก็ล่าเหยื่อ “ขอโทษครับ” ล่าเพื่อนๆ ในพรรค มีคนมาบอกผมว่ามีคนที่ออกไปแล้วมาชวนให้ออกจากพรรค บางคนก็ออก บางคนก็ไม่ออก ก็ต้องรอดูต่อไป เพราะยังมีเวลาอยู่ว่าจะออกไปและเข้ามากี่คน

 “ทุกคนที่มาบอกกล่าวผม ผมก็จะบอกกับทุกคนว่าไม่อยากให้ออก เพราะพรรคถือว่าทุกคนมีคุณภาพ ที่ออกไปส่วนใหญ่ได้เป็นรัฐมนตรีของพรรค เมื่อไปอยู่พรรคอื่นผมไม่แน่ใจว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งคนเหล่านี้พรรคถือว่ามีศักยภาพ พอ ออกไปพรรคก็สูญเสียคนที่มีศักยภาพไป แต่เรื่องความหนักแน่นของแต่ละคนก็แตกต่างไป แล้วแต่ละคนจะร่วมเป็นร่วมตายกับพรรคในยามรุ่งเรือง ในยามตกต่ำอย่างไร ก็ตามกันไป ผมก็เสียดายทุกคนที่ออกไป” นายชวนกล่าว

ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร.กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้แจ้งให้ทราบถึงเรื่องการจัดประชุมสัมมนา ส.ส.พรรค พปชร.แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พปชร.เตรียมจัดประชุมสัมมนา ส.ส. ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายกับ ส.ส. เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

ส่วนนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรค พปชร. ยืนยันกลุ่มสามมิตรจะไม่ย้ายไปไหน ซึ่งเรื่องเงินบริจาคที่เป็นข่าว เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกพรรค และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าที่มาของเงินเป็นอย่างไร แต่การรับบริจาคต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์และกฎหมายทุก อย่างตรงนี้ไม่มีอะไรหนักใจ

"ผมเชื่อพรรค พปชร.จะไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ และขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เรื่องเงินบริจาคนั้นผมมองว่าไกลมาก" นายอนุชากล่าว

ถามว่า แคนดิเดตนายกฯ ยังคงเป็นพล.อ.ประยุทธ์อยู่ใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ส่วนพรรคจะส่งแคนดิเดตกี่รายชื่อนั้น ตนไม่ทราบ

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรคเป็นครั้งแรก มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, นายพานทองแท้ ชินวัตร ในฐานะคณะที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการณ์การเลือกตั้ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งเข้าร่วม

นพ.ชลน่านแถลงผลประชุมว่า การประชุมได้ปรึกษาหารือ โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้พรรคแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน ให้ได้ ส.ส.มากกว่า 250 คนขึ้นไป ซึ่งการจะแลนด์สไลด์ได้ ต้องอาศัย 3 องค์ประกอบคือ ผู้สมัคร ส.ส. นโยบาย แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ดังนั้นศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายการแลนด์สไลด์ เราจะทำทุกอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมาย บนพื้นฐานที่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน 

นายประเสริฐเสริมว่า ถือเป็นการคิกออฟเพื่อนำไปสู่การแลนด์สไลด์ โดยมีสาระสำคัญ 3 เรื่อง 1.พรรคมีศูนย์ปฏิบัติการณ์การเลือกตั้งที่พรรคพร้อมกับแบ่งงานการบริหารออกเป็นอีก 6 คลัสเตอร์ 2.การเลือกตั้ง ส.ส.อาจเกิดในนาทีใดก็ได้ พรรคได้เตรียมแผนงานรองรับไว้ทั้งหมด  3.พรรคกำหนดว่าจะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส. 400 เขต ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพ.ย. หรืออย่างช้าคือในช่วงต้น ธ.ค.

ถามว่า การที่ยังเปิดผู้สมัคร ส.ส.ไม่ครบทุกเขต เพราะยังรอกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือไม่ ตอนนี้ก็มีกระแสข่าวการเดินทางไปยังดูไบด้วย นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างนั้น แต่ที่ยังเปิดผู้สมัคร ส.ส.ไม่ได้ เพราะมีผู้สมัครที่แสดงเจตจำนงในเขตนั้นๆ มากกว่า 1 คน คงต้องใช้เวลาในการพิจารณา

ซักว่า หาก ร.อ.ธรรมนัสย้ายมา จะส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ข้อดีของพรรคเพื่อไทย หากมีอะไรจะส่งผลต่อพรรค จะมีเสียงสะท้อนจากประชาชนมา เราต้องฟังเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก

ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายปรเมศวร์ กุมารบุญ โฆษกพรรค ชทพ. แถลงผลการประชุมพรรคว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะประธานที่ประชุม แจ้งให้ทราบว่าได้แต่งตั้ง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์