'ขุนคลัง' สั่งธปท. ตรึงดอกเบี้ยยาว อย่าบ้าตาม 'เฟด'

นายกฯ เปิดมหกรรมแก้หนี้  หวังแก้ตรงจุด "อาคม" สั่งแบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ยยาว ลั่นตามเฟดตลอดไม่ได้ มีหลายปัจจัยต้องดู พร้อมเร่งพิจารณามาตรการของขวัญปีใหม่ ด้าน ธปท. อยากเห็นแก้ระยะยาว ไม่ใช่พักหนี้ บสย. จัดเต็ม 3 มาตรการช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 ผ่านบันทึกวีดิทัศน์ ว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยเสื่อมถอยลง เนื่องจากประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจขาดรายได้ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ต่ำลง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลงแล้ว และสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ปัญหาภาระหนี้ของประชาชนยังคงอยู่

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือนนี้ และต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง จึงได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้ครัวเรือน และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ 1 และจะมีกำหนดจัดงานครั้งต่อๆ ไปอีก 4 ครั้ง ครอบคลุมทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ย.65-ม.ค.66 

“หวังว่างานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน จะช่วยให้ประชาชนสามารถแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินที่มีอยู่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับศักยภาพในการชำระหนี้ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมความรู้และการสร้างวินัยทางด้านการเงิน เพื่อที่จะหลุดพ้นจากกับดักหนี้สินได้อย่างยั่งยืน” นายกฯ ระบุ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า งานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ผนึกกำลังเพื่อร่วมแก้ไขหนี้ให้กับลูกค้าและประชาชน ซึ่งพบว่ามีผู้ลงทะเบียนเพื่อร่วมงานแล้วกว่า 1.25 หมื่นราย และคาดว่ายอดลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคประชาชน ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนจากภาระหนี้สิน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในงานนี้จะมีมาตรการที่จะให้ความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ จึงอยากให้ประชาชนที่เดือดร้อนมาใช้สิทธิประโยชน์ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจัดเตรียมไว้ให้" นายอาคมกล่าว

นายอาคมระบุว่า สำหรับการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ ในครั้งต่อไปอีก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย ครั้งที่ 2 จังหวัดขอนแก่น วันที่ 18-20 พ.ย.65 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น, ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16-18 ธ.ค.65 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่, ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี วันที่ 20-22 ม.ค.66 ที่ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน และครั้งที่ 5 จ.สงขลา วันที่ 27-29 ม.ค. ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รมว.การคลังยังเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตรึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้นานที่สุด เบื้องต้นคาดว่าจะถึงช่วงปลายปีนี้ ซึ่งทุกแห่งก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะมีการขยับเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน

“สถาบันการเงินของรัฐมีบทบาทสำคัญ 2 ส่วนคือ 1.เป็นแหล่งระดมเงินฝาก และ 2.เป็นกลไกของรัฐ การขึ้นดอกเบี้ยนั้น ได้เคยขอความร่วมมือไปว่าให้ตรึงให้นานที่สุด ซึ่งทุกแบงก์รับปาก โดยจะตรึงจนถึงปลายปี ส่วนหลังปีใหม่คงต้องมาดูสถานการณ์กันอีกที” รมว.การคลังระบุ

รมว.การคลังระบุอีกว่า เรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของไทยคงมองตามเฟดตลอดไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่ต้องพิจารณาด้วย โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ภาคธุรกิจกำลังเริ่มขยับไปได้ หากเจออัตราดอกเบี้ยขาขึ้นก็อาจจะเป็นการซ้ำเติม ซึ่งเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการพิจารณาหลายๆ อย่างประกอบ โดยดูทั้งทิศทางของภาคธุรกิจโดยเฉพาะขนาดเล็กและประชาชนว่าสามารถรับได้หรือไม่ แค่ไหน

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ยอมรับว่ามีหลายมาตรการที่กำลังดูอยู่

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในครั้งนี้ เป็นเจตนารมณ์ของกระทรวงการคลังและ ธปท. ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ที่เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยการเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ และมีผู้เข้าร่วมกว่า 1 แสนคน จำนวนบัญชีกว่า 2 แสนบัญชี เป็นจำนวนตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนต้องการเข้าร่วมแก้ไขหนี้ในหลายรูปแบบ

นายรณดลกล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่สถานการณ์ทางการเงินตึงๆ อยู่แล้ว ก็คิดว่าถ้าไม่เข้าร่วมแก้ไขหนี้อาจจะทำให้มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยลูกหนี้ได้เข้ามาหารือผ่านทางออนไลน์ เมื่อลงทะเบียนกับ ธปท.แล้วจะส่งเรื่องให้กับเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารต่างๆ นอนแบงก์ หรืออื่นๆ เพื่อช่วยหาวิธีการที่เป็นไปตามกระบวนการของเจ้าหนี้ กลุ่ม 2 คือกลุ่มที่ไปไม่ไหวแล้ว ลูกหนี้ได้เข้าร่วม เพราะอาจจะโดนบังคับคดี หรือถูกฟ้องร้อง ได้เข้าร่วมเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้

“การจัดมหกรรมและมีผู้เข้าร่วมเป็นเรื่องที่เห็นเจตนารมณ์และตอบโจทย์ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ต้องการเห็นแนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืน และ ธปท.ต้องการเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่ใช่เป็นลักษณะชั่วครั้งชั่วคราว เช่น การพักหนี้ หรือเมื่อมีการพักหนี้จบ ก็ทำให้มีหนี้ต่อ ดังนั้นจึงอยากเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว และดูตามศักยภาพของลูกหนี้ ที่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งการจัดงานนี้ก็สามารถตอบโจทย์ได้” นายรณดลกล่าว

เขายังกล่าวว่า แนวโน้มผู้เข้าร่วมลงทะเบียนจนถึงสิ้นปี 65 คาดว่าจะมีการลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง เพราะจากยอดที่มีอยู่ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอีก และอยากเชิญชวนลูกหนี้ที่มีปัญหา เช่น ตึงไปแล้ว และมีปัญหา สามารถเข้ามาแก้ปัญหาหนี้ได้

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะเป็นโอกาสดีของลูกหนี้ ทุกกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ที่จะได้รับมอบสิทธิประโยชน์มากมายจากงานนี้ โดย บสย.จัดเต็ม 3 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.ในงาน ได้แก่ 1.มาตรการ บสย.พร้อมช่วย ผ่อนปรน ลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อ 3 ระดับ ตามความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อบรรเทาภาระหนี้ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ตัดเงินต้น หนี้ลด หมดเร็ว 2.ดอกเบี้ย 0% และเน้นตัดเงินต้น 3.ผ่อนนาน 7 ปี ยืดระยะเวลาให้ลูกหนี้ไปต่อได้

นายสิทธิกรกล่าวอีกว่า 2.มาตรการเสริมสภาพคล่อง เปิดโครงการใหม่ล่าสุด ค้ำประกันสินเชื่อ BI 7 (บีไอ 7) วงเงิน 10,000 ล้านบาท รองรับความต้องการผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อ แต่ยังขาดหลักประกัน วงเงินค้ำสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี พร้อมแคมเปญพิเศษ บสย. ออก LG ฟรีค่าดำเนินการค้ำประกัน สำหรับผู้ที่เข้าลงทะเบียนภายในงาน ณ บูธ บสย. SFI 7 (เอสเอฟไอ 7) และ3.ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) ยกขบวนให้คำปรึกษาปัญหาหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดงาน 3 วัน พร้อมบริการตรวจสุขภาพทางการเงิน Line TCG First

นายสิทธิกรกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีหลักประกัน แต่ต้องการสินเชื่อ สามารถติดต่อธนาคารพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการกับ บสย.ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ BI 7 (บีไอ 7) ได้ที่ 3 ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.ธนาคารออมสิน 2.ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 3.เอสเอ็มอี ดี แบงก์  มั่นใจว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ได้รับสินเชื่อมากกว่า 2,300 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 13,000 ล้านบาท ช่วยรักษาการจ้างงานกว่า 57,000 ราย สร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจจากการลงทุนและการจ้างงาน 45,430 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง