ไม่รั้ง‘บิ๊กตู่’ไปรทสช. ‘ป้อม’ลั่นใครอยากจะไปไหนเป็นเรื่องของตัวบุคคล

“ประยุทธ์” ไม่ตอบปมการเมืองเรื่องย้ายค่ายไป "รวมไทยสร้างชาติ" บอกมุ่งมั่นประชุมจัดประชุมเอเปก  รอจบแล้วค่อยแจง “บิ๊กป้อม" ยังไม่คุย "น้องตู่" ร่วม พปชร. ยันความสัมพันธ์ 3 ป.ยังเหมือนเดิม พร้อมปัดแยกกันเดินร่วมกันตี แต่ไม่ห้ามหากแยกย้าย “เพื่อไทย” เมินบอกเป็นเรื่องภายใน พปชร. แต่สร้างภาพเบื้องหน้าชื่นมื่น เบื้องหลังแยกกันเดิน โวไม่กระทบเป้าแลนด์สไลด์ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

เมื่อวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน ยังคงมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามถึงกระแสที่จะไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ หลังการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก 2022) โดยได้เดินเข้าห้องประชุม เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทันที

ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์​ให้สัมภาษณ์เพียงว่า “เรื่องการเมือง ตอนนี้ผมยังไม่มีความคิดเห็นอะไรทั้งสิ้น ก็เป็นเรื่องของสื่อของข่าวที่ออกมากันทั้งหมด  เพราะฉะนั้นขณะนี้ผมขอให้ความสำคัญกับการประชุมของผมก่อน เป็นเรื่องของประเทศชาติ ผมให้ความสำคัญกับเรื่องตรงนี้มากกว่า ขอยังไม่พูดอะไร”

ทั้งนี้ เมื่อสื่อถามว่าหลังเอเปกจะให้คำตอบหรือไม่ว่าจะอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์พยักหน้ารับแทนคำตอบ ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปทันที

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบคำถามถึงกรณีได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ในการเข้าร่วมพรรค พปชร.หรือยังว่า ไม่ได้พูดคุย เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจ

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์จะไปร่วมงานกับพรรค รทสช. พล.อ.ประวิตรสวนว่า "อันนั้นเป็นเรื่องของท่านนายกฯ ต้องไปถามท่าน มาถามอะไรผมเล่า  และไม่ได้คุยกันเรื่องนี้"

ถามต่อว่า พรรค พปชร.มีการพูดถึงเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคหรือยัง  พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย ยังไม่ได้มีการประชุม ส่วนจะประชุมเมื่อใดก็ตอบสื่อไม่ได้เพราะยังไม่ได้นัด การพูดคุยต้องนัดสมาชิกพรรค  กับกรรมการบริหารพรรคประชุมร่วมกัน

เมื่อถามว่า เป็นพี่น้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ เหตุใดไม่คุยกันให้เกิดความชัดเจนเพื่อจะได้วางแนวทางการทำงาน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "เออ คุณก็มาเป็นผมสิ" 

ถามย้ำว่า พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่แยกกันเดินใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่รู้ ผมไม่รู้ ก็อยู่ด้วยกันทุกวัน แต่ไม่พูดเรื่องนี้"

เมื่อถามว่า 3 ป.จะไม่แยกจากกันใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่รู้ๆ ไม่แยกหรอก จะไปแยกกันอย่างไร สนิทกันมา 40-50 ปี " 

ถามอีกว่า สิ่งที่สื่อออกมาเหมือนจะแยกพรรค พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ก็แยก ก็แยกไปไม่เป็นไร"

เมื่อถามต่อว่า เป็นลักษณะแยกกันเดิน ร่วมกันตีใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่รู้"

  ถามอีกว่า หากให้ ส.ส.รอความชัดเจนนานไป เขาอาจย้ายพรรคไป พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่เป็นไร การเมืองก็ว่ากันไป"  

บิ๊กป้อมไม่สนใจใครไปไหน

เมื่อถามว่า นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์  พรรค พปชร.ออกมาระบุ พล.อ.ประยุทธ์กระแสนิยมไม่ดีเหมือนเดิม พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่เรื่องของพรรค ส่วนจะต้องมาประเมินคะแนนนิยมคนที่เป็นแคนดิเดตพรรคหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของสมาชิกพรรค ไม่ใช่เรื่องของตน ที่มีการแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัว และเรื่องนี้ไม่ต้องตักเตือนอะไร เป็นเรื่องความคิด ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง จะไปปรามทุกคนได้อย่างไร  แต่เมื่อประชุมพรรคกันก็ต้องลงคะแนนเท่านั้นเอง ว่าไปตามหลักประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่พรรค พปชร. อาจขน ส.ส.ไปด้วย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไปเลย ไปไหนก็ไป ผมไม่ว่าอะไร ใครอยากไปไหนเป็นเรื่องของตัวบุคคล"

ถามย้ำว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์จะไปไม่ห้ามใช่หรือไม่  พล.อ.ประวิตรตอบว่า "ไม่ห้าม ไม่ห้ามใครทั้งนั้น"

ส่วนเมื่อถามถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา  สมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย ว่าจะกลับมาร่วม พปชร.ได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ เรื่องนี้ต้องถามทางพรรค เพราะเราทำงานกันในรูปแบบพรรค ไม่ใช่ถามที่ตนจะทำอะไรได้ และที่ผ่านมายังไม่มีการติดต่อเข้ามา

 เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรสดใสเหมือนเคลียร์ปัญหาต่างๆ แล้ว พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้องเคลียร์ เพราะตอบตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องสยบข่าวลืออะไร เพราะที่ลือกันไปสื่อเขียนกันเอง

ถามถึงกระแสข่าว พปชร.จะจับมือกับพรรคเพื่อไทย  พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่มีๆ"  

เมื่อถามย้ำว่า ถ้าจะคุยกันหลังเลือกตั้งเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ค่อยว่ากันหลังเลือกตั้ง" และเมื่อถามว่า ได้คุยกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร หรือไม่  พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่เคยคุย" 

ส่วนนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณี ส.ส.ของพรรคแสดงความเห็นว่าชื่อของ  พล.อ.ประยุทธ์อาจขายไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และมีกระแสข่าวว่าพรรคจะเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร และ  พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ว่าข่าวของสื่อบางครั้งก็ไม่มีแหล่งข่าวที่ชัดเจน อาจเป็นการวิเคราะห์จึงคาดการณ์กันไป แต่เชื่อว่าทุกคนตั้งใจทำงานเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ขณะนี้ยังมีเวลาที่จะพูดคุยกันว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมั่นใจหรือไม่ว่าเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์จะยังอยู่กับพรรค นายชัยวุฒิกล่าวว่าต้องถามนายกฯ แต่ได้อยู่กับ 3 ป.และคิดว่าทุกคนก็อยู่ เราอยู่ด้วยกันและทำงานด้วยกันเป็นทีม

 “แต่ละคนก็มีความคิดของตัวเอง ไปบังคับให้คิดเหมือนกันไม่ได้หรอก ถ้าไม่พอใจหรือคิดว่าอะไรไม่เหมาะสมก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ได้ ส่วนพรรค พปชร.จะทำอย่างไรต่อก็เป็นเรื่องที่พรรคต้องไปดู ต้องแยกระหว่างความเห็นส่วนบุคคลกับความเห็นของพรรค ซึ่งทุกพรรคก็มีปัญหาหมด ต้องมีความเห็นต่างกันบ้าง เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ” นายชัยวุฒิกล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรควิจารณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ขายไม่ได้แล้ว

เมื่อถามกรณีที่นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม  สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ปรากฏตัวติดตาม รมว.ดิจิทัลฯ มีแนวโน้มจะมาร่วมงานกับพรรค พปชร.หรือไม่  นายชัยวุฒิกล่าวว่ายังไม่ทราบ

ชินวรณ์หวังบิ๊กตู่เป็นรัฐบุรุษ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกระแส พล.อ.ประยุทธ์จะสมัครเป็นสมาชิกพรรค รทสช.จะส่งผลกระทบต่อฐานเสียงภาคใต้หรือไม่ว่า การเปลี่ยนแปลงการเมืองเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เชื่อมั่นว่าคนภาคใต้จะตัดสินใจทางการเมืองโดยยึดถืออุดมการณ์และนโยบาย 

"เขาจะเปรียบเทียบว่าพรรคที่มีอุดมการณ์และนโยบายที่ต่อเนื่องชัดเจนเหมือนยางพารา ส่วนพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่มันเหมือนบอนสี อาจดังเป็นคราวๆ ไปตามที่บุคคลที่เป็นแกนนำพรรคไปเป็น และในความคิดเห็นของผม ผมอยากให้กำลังใจท่านนายกฯ ท่านทำงานมา 8 ปีแล้ว อยากให้ได้เป็นรัฐบุรุษต่อไป" นายชินวรณ์กล่าว

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวประเด็นนี้ว่า ถือว่าเป็นเรื่องภายในพรรค  พปชร. ซึ่งคนในพรรค พปชร.หลายคนบอกว่าถ้าเสนอชื่อ  พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคต่อ อาจอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี และจะเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติหรือการทำงาน ดังนั้นหากเสนอ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค  เพื่อเดินหน้าทำงานการเมืองต่อไป เรื่องนี้ไม่มีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยอะไรทั้งนั้น เราสนใจเพียงว่าต้องทำงานให้หนักเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือก

เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประวิตรขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ จะส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทยในการแลนด์สไลด์หรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะแต่ละพรรคการเมืองก็ต่างชูแคนดิเดตนายกฯ ฉะนั้นจึงไม่มีผลต่อพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะชูใคร เราถือว่าทุกคนคือคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่จะต้องแข่งขันกันอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้จะกลายเป็นชนวนสร้างรอยร้าวของ 3 ป.จนส่งผลกระทบต่อรัฐบาลในช่วงนี้หรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า มีผลกระทบแน่ อย่างน้อยๆ ถ้าดูตามข่าว 3 ป.ทำตัวเหมือนรักกัน ความจริงเขาก็คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์กันหรอก เพียงแต่ต่อหน้าสังคมก็ต้องเป็นพี่เป็นน้อง แต่เรื่องจริงในการบริหารจัดการเห็นได้ชัดว่ามันแตกแยก ข้างในคุณจะสวีตหวานยังไงก็ช่าง แต่การปฏิบัติตัวภายนอกมันเห็นได้ชัดอยู่

เมื่อถามถึงกระแสข่าวการจับมือร่วมกันของพรรค พท.และ พปชร. นายสมคิดกล่าวว่า ไม่มีเรื่องดีลระหว่างกัน ยืนยันว่าวันนี้พรรคยังไม่คิดจะจับมือใครทั้งนั้น เราจะทำแลนด์สไลด์ให้เห็นและเป็นรัฐบาลเพียงพรรคเดียว

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​  แจ้งว่า เงินบริจาคให้พรรคการเมืองประจำเดือน ส.ค.65 ในช่วง 1-​31 ส.ค.65 มีผู้บริจาคไม่น้อยกว่า 5,000  บาท จำนวน 191 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 31,593,883.89 บาท และมีพรรคการเมืองที่รายงานการรับบริจาค 21 พรรคการเมือง

ส.ว.หนุนร่างรัฐธรรมนูญใหม่

วันเดียวกัน มีการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมีการพิจารณารายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 15 ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.65  โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหารัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่มีข้อขัดแย้ง มีคนไม่เห็นด้วยหลายฝ่าย ก็น่าจะถึงเวลาเพราะขณะนี้ใกล้ครบ 5 ปีแล้ว จึงควรทบทวน หรือยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญคิดว่าน่าจะเป็นทางออกอีกทางที่ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย            

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. อภิปรายเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านการเมืองว่า จากการติดตามศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบ พบปัญหาสำคัญคือ การเลือกตั้งทุกระดับไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม การเลือกตั้งมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  ทำผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย มีการโฆษณาหาเสียง นโยบายพรรคการเมืองเกินความเป็นจริงโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเสี่ยงอย่างรอบด้าน และความเสียหายตามที่ประกาศตอนหาเสียง ทั้งที่กฎหมายกำหนดกลไกให้พรรคการเมืองรับผิดชอบต่อการหาเสียงไม่เกินความเป็นจริง ที่เมื่อเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้นำนโยบายที่หาเสียงมาปฏิบัติแต่อย่างใด

“ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยระดับตำบล เป็นองค์กรที่ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบ และมี กกต.จังหวัดดูแล  แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนศูนย์ส่งเสริมให้เรียบร้อย มีประสิทธิภาพในการให้ความรู้ประชาชน และการตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมในหมู่บ้าน กกต.ทำบันทึกความตกลงความร่วมมือ 6 หน่วยงาน แต่หน่วยงานในท้องถิ่นไม่เคยเห็นบันทึกความร่วมมือดังกล่าว บุคลากรของหน่วยงานที่ทำบันทึกข้อตกลงกับ กกต.ไม่ให้ความสนใจ ปล่อยทิ้งปล่อยขว้างไม่ดูแล” นายเฉลิมชัยระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง