ส.ว.จ่อคว่ำ‘ร่างรธน.ฉบับไอติม’

จับตาร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอติมจ่อแท้งตั้งแต่ยังเป็นวุ้น ส.ว.ประกาศคว่ำเพราะมีเจตนาทำเนื้อหาให้ไม่ผ่านรัฐสภา "ล้ม-ล้าง-โละ-เลิก" ด้วยความเคียดแค้น สะใจ ท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลยังกั๊ก ส่วนฝ่ายค้านมีมติรับหลักการวาระที่ 1 อ้างเห็นด้วยกับจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้จัดเวทีชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 1.35 แสนรายชื่อ ก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาว่าจะรับหลักการหรือไม่ ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ โดยมีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.เป็นผู้นำเสนอ

หลังการชี้แจงและรับฟัง นายเสรีเปิดเผยว่า มี ส.ว.จำนวนมากเข้าร่วมรับฟังรายละเอียดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีหลายประเด็นที่พิจารณา รวมถึงแนวโน้มของการออกเสียงของ ส.ว.ว่าจะไม่ให้ผ่านเนื้อหาดังกล่าว เพราะมีความย้อนแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบไปแล้ว และเชื่อว่าการลงมติของรัฐสภาในวาระรับหลักการ ที่ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา จะไม่ได้รับเสียงเกินครึ่งแน่นอน

"ขณะนี้ทราบว่าพรรคพลังประชารัฐประกาศว่าไม่รับเนื้อหา ส่วนพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะงดออกเสียง เนื่องจากเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่เสนอให้ ส.ส.มี 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น ย้อนแย้งกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่รอการประกาศใช้ โดยพรรคเพื่อไทยลงมติสนับสนุน หากพรรคเพื่อไทยลงมติรับหลักการ จะเกิดคำถามด้วยว่าพรรคเพื่อไทยเล่นอะไร ดังนั้นไม่ต้องจับจ้องว่า ส.ว.จะลงมติให้ถึง 1 ใน 3 หรือไม่ เพราะเสียงรับหลักการอาจไม่ถึงกึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ"

นายเสรีกล่าวด้วยว่า ในวงหารือของ ส.ว.ยังพิจารณาต่อประเด็นที่มีผู้คาดการณ์ว่า หากรัฐสภาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองรุนแรง โดยมองว่าการชุมนุมยังคงเกิดขึ้นและไม่สามารถนำประเด็นไปปลุกม็อบเพิ่มเติมได้ ส่วนตัวมองด้วยว่าการชุมนุมของประชาชนเกิดขึ้นมาก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณา และมีความรุนแรงอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นหากรัฐสภาไม่รับเนื้อหา เชื่อว่าการชุมนุมยังคงมีอยู่ในจำนวนเท่าที่มี

"ผมขอถามกลับว่าหากรัฐสภารับร่างแก้ไข ม็อบจะยุติชุมนุมเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือไม่ เพราะการชุมนุมเรียกร้องเป็นประเด็นอื่น ส่วนกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้น เชื่อว่าเป็นเจตนาที่จะเสนอเพื่อหาเหตุชุมนุม และตั้งใจเสนอเนื้อหาที่ไม่ต้องการให้ผ่านรัฐสภา และให้ส.ว.ตกเป็นแพะรับบาป" นายเสรีกล่าว

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เชื่อว่า ส.ว.จะลงมติไม่รับหลักการ เพราะมีเนื้อหาที่เป็นการปฏิวัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และปฏิวัติการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งตัวบุคคลและองค์กร เพราะกลุ่มที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโฆษณาไว้ว่าเป็นฉบับ "ล้ม-ล้าง-โละ-เลิก" อีกทั้งยังกำหนดเนื้อหาที่ไม่เกิดการถ่วงดุลตามหลักการของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังกำหนดให้สภามีอำนาจสูงสุดขยายไปยังกลไกของกองทัพ ตุลาการ องค์กรอิสระ

"ผมเชื่อว่าผู้เสนอร่างแก้ไขมีเจตนาทำเนื้อหาให้ไม่ผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว และมีเนื้อหาเคียดแค้น ทำเพื่อความสะใจมากกว่าต้องการนำไปสู่การแก้ไขอย่างแท้จริง ผมมองด้วยว่ารัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรเป็นแบบนี้ และเมื่อดูประเด็นรายละเอียดแล้วเชื่อว่าจะผ่านไม่ได้" นายวันชัยกล่าว

ส่วนท่าทีของรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ว่า ก็แล้วแต่เขาประชุมกัน วิปรัฐบาลว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น

ขณะที่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ต้องนำเสนอ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาฯ พรรค เพื่อนำเรียนท่านหัวหน้าพรรค และนัดประชุม ส.ส.ฟังความเห็นและมีมติชัดเจนต่อไป เพราะเรื่องนี้เลขาฯ พรรคเน้นว่าถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องดูผลดีผลเสียของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนด้วยความรอบคอบ บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ และสังคมโดยรวมเช่นกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยต้องฟังคำชี้แจงของผู้เสนอร่างว่ามีเหตุผลที่มาที่ไปอย่างไร และตั้งคำถามให้เกิดความกระจ่างก่อนที่จะพิจารณาให้ความเห็นครั้งนี้ ซึ่งการลงมติก็จะต้องมีการหารือร่วมกันภายในวิปรัฐบาลก่อนลงมติ

ส่วนนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ส.ส.ของพรรคจะนัดหารือกันในช่วงเช้าวันที่ 17 พ.ย.ก่อนการลงมติ เนื่องจากต้องรับฟังผู้นำเสนอร่างแก้ไขที่จะชี้แจงต่อรัฐสภาในวันที่ 16 พ.ย.ก่อน ส่วนกรณีที่วุฒิสภาระบุให้จับตาการลงมติของ ส.ส.นั้น ยอมรับว่าเสียงที่ใช้ลงมติขั้นรับหลักการต้องใช้เกินกึ่งหนึ่ง และในจำนวนดังกล่าวต้องมี ส.ว.ลงมติร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียง

ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดย นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้พิจารณาเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 16 พ.ย.นี้ เห็นเป็นเอกฉันท์ว่าควรรับหลักการในวาระที่ 1 เราจะมีเหตุผลเพื่ออภิปรายประกอบในการรับหลักการ แต่ละพรรคจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่ตนสนใจ ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้

สิ่งที่ทำให้เรามีมติรับหลักการคือ 1.มีเจตนาและจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกหมวดปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 2.ปรับโครงสร้างของระบบรัฐสภา จากเดิมที่มี ส.ส.และ ส.ว. ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว 3.การสร้างกลไกในการตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน เช่น ให้มีผู้ตรวจการของสภา 3 คณะ อาทิ ศาลทหาร, ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า 4.การปรับโครงสร้างอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ รวมไปถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 5.การยกเลิกการสืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ที่กระทำการยึดอำนาจทั้งก่อน ปัจจุบัน และอนาคต 6.การสร้างกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนฯ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการปลดชนวนความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นว่า ครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ระบบผู้แทนจะสนองต่อความต้องการของประชาชนมากน้อยแค่ไหน เปิดให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ ประชาชนก็ทำตามกระบวนการทั้งหมด แต่แล้วเมื่อถึงเวลา ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์กลับมีอำนาจที่จะขัดขวางได้ตลอด

"ชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันจับตา พรรคไหน ส.ส.คนไหน โหวตล้มร่างของประชาชนอีกครั้ง การลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ รื้อระบอบประยุทธ์ ซึ่งมี 4 ข้อเสนอหลัก คือ ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว โละ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ปฏิรูปที่มาอำนาจการตรวจสอบ เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล้างมรดกรัฐประหาร อยากให้สมาชิกรัฐสภามองข้ามมิติเรื่องของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เพราะร่างนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลเลย นี่คือร่างที่พี่น้องประชาชนแสนกว่าคนเสนอเข้าสู่สภา" นายปิยบุตรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง