ปชป.กัดฟันเลือกตั้งได้ส.ส.เพิ่ม

"บิ๊กตู่" ปัดตอบตั้ง "ไตรรงค์"  โยงร่วม "รทสช." ในอนาคต "จุรินทร์" ลุ้นหลังเอเปกนายกฯ ปรับ ครม. ยัน "ปชป." ไม่เสื่อมศรัทธา ชี้บางคนทำโพลแพ้ก็ย้ายพรรคไปหาที่ลงสมัครใหม่ โอ่คุณสมบัติพร้อมทุกด้านชิงนายกฯ สมัยหน้า "หมอตี๋" แจงภาพร่วมโต๊ะ "มาร์ค-เสี่ยหนู" แค่กินข้าวเฉยๆ "บิ๊กป้อม" ตั้ง "ฟิล์ม–เกณิกา" เด็กเก่า "หญิงหน่อย" อยู่ทีมโทรโข่ง พปชร. ฝ่ายค้านเลื่อนอภิปรายรัฐบาลไปม.ค.66 "ปชป." เตรียมถกปมยื่นทรัพย์สินนายกฯ ขาดตอน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 15 พ.ย. ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามประเด็นการเมือง โดยทันทีที่ผู้สื่อข่าวถามถึงการแต่งตั้งนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ลาอออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายกฯ ได้เดินออกจากวงสัมภาษณ์ทันที พร้อมกับยกมือปฏิเสธตอบคำถาม

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีการโยงไปถึงการทำพรรครวมไทยสร้างชาติในอนาคต ซึ่งนายไตรรงค์เคยเป็นกุนซือของพรรค ปชป.และยังเคยทำงานกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและอดีตนายกฯ มาก่อน จะนำมาเป็นโมเดลการทำงานในอนาคตหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ตอบและเดินกลับขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับ ครม.ว่า พรรคได้เสนอชื่อนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง ไปแล้ว แปลว่าเราประสงค์ให้ปรับในตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ส่วนพรรคอื่นจะปรับหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพรรคนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับพรรค ปชป. ผู้ที่จะดำเนินการเรื่องนี้คือนายกฯ

ถามว่า นายกฯ ให้คำตอบหรือยัง นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนเสนอชื่อไปแล้ว ก็ให้เกียรติไม่สอบถาม แต่ถ้าเนิ่นนานก็คิดว่านายกฯ ทราบอยู่แล้ว เข้าใจดีอยู่แล้ว ให้เวลาท่านนิดหนึ่งว่าจะเสนอเมื่อไหร่ อย่างไร คิดว่าหลังเอเปกก็ถือความเหมาะความควรแก่เวลา

นายจุรินทร์กล่าวถึงแคนดิเดตนายกฯของพรรค ปชป. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่า ขอให้คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้พิจารณา สำหรับตนพร้อม และขอเรียนว่าหัวหน้าพรรค ปชป.ทุกคนต้องพร้อมเป็นนายกฯ ไม่เช่นนั้นสมาชิกไม่เลือก ถ้าวันหนึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล แล้วหัวหน้าพรรคไม่พร้อมเป็นนายกฯ สมาชิกเลือกไปก็เสียของ รวมถึงตนก็พร้อมทั้งประสบการณ์ การทำงาน อุดมการณ์ความคิด ความอ่าน ผลงาน มั่นใจว่าพร้อม แต่ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่ประชาชนต้องให้ประชาชนเห็นชอบด้วยต้องรอผลจากการเลือกตั้ง

ถามถึงมีข่าว ส.ส.จะย้ายพรรคหลายคน หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ตนและเลขาธิการพรรค รวมทั้งหลายๆ คนก็พูดกันไปแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องมีอะไรหวั่นไหว ทุกอย่างยังเดินหน้าตามเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ และยิ่งใกล้เลือกตั้ง การย้ายพรรคจะเกิดขึ้นกับทุกพรรคทั้งเข้าและออก

ซักว่า เลือกตั้งครั้งต่อไป ส.ส.พรรค ปชป.จะมีจำนวนมากกว่าเดิมใช่หรือไม่ รวมถึงจะมี ส.ส.กทม.เพิ่มด้วย นายจุรินทร์กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ เรามี ส.ส.แน่ และตัวเลขภาพรวมเป้าหมายเราต้องมากกว่าเดิมอยู่แล้ว ไม่มีอะไรจะมากระทบกับเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ รวมถึงพื้นที่ภาคใต้เราก็จะมากกว่าเดิม ครั้งที่แล้วเรามีจำนวน ส.ส. 22 คน เลือกตั้งเที่ยวนี้ก็จะมากกว่า

ชี้'ปชป.'ไม่เสียศรัทธา

หัวหน้าพรรค ปชป.ยืนยันว่า พรรคไม่เสียศรัทธาอะไร เรายังแน่วแน่มั่นคงอุดมการณ์ความเป็นพรรค เราให้โอกาสทุกคน เพียงแต่บางท่านทำโพลแพ้ไม่ได้รับเลือกก็ไปหาที่ลงใหม่ เพราะพรรคไม่สามารถส่งผู้สมัครเขตเดียว 2 คนได้ เมื่อพรรคส่งได้คนเดียว คนที่ไม่ได้ลงถ้ายังอยากจะลง ส.ส.เขต ก็ต้องสังกัดพรรคใหม่ เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเรามั่นใจว่าเลือกตั้งครั้งหน้าเสียงตอบรับจากประชาชนจะดีขึ้น กรุงเทพฯ และภาคใต้รวมถึงทุกภาค

ซักว่าหากมีใครกระโดดไปพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อีก เหมือนที่มีภาพนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคปชป. และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขและรองหัวหน้าพรรค ปชป. ไปรับประทานอาหารกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะว่าอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตอบไปหมดแล้ว เราไม่อยากพาดพิงพรรคอื่น

อย่างไรก็ตาม นายสาธิตชี้แจงภาพร่วมรับประทานอาหารดังกล่าวว่า สาเหตุที่ไปรับประทานอาหารด้วยกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ไปเจอกันในงานศพพี่ชายของตนที่ จ.ระยอง ซึ่งตอนนั้นนายอนุทินบอกว่าอยากจะเลี้ยงข้าวนายอภิสิทธิ์ จึงนัดกันไปกินข้าว ซึ่งพยายามนัดหมายกันหลายรอบแล้ว แต่ได้เลื่อนออกไป เพราะวันว่างไม่ตรงกัน

"ผมขอย้ำว่าแค่ไปกินข้าวกันธรรมดาไม่มีอะไร โดยมีการพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง แต่ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรค ปชป. และไม่ได้คุยเรื่องอนาคตทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ด้วย" นายสาธิตกล่าว

ซักอีกว่า แสดงว่าในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ยังจะกลับเข้ามาอีกใช่หรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของนายอภิสิทธิ์และพรรค ปชป.ว่าพูดคุยกันอย่างไร ส่วนตนยังยืนยันอยู่พรรค ปชป.ต่อไป

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ลงนามคำสั่งแต่งตั้งทีมโฆษกพรรค พปชร. ประกอบด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร,  น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์, น.ส.ทิพานัน  ศิริชนะ, น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ และนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 3 คนแรก ถือเป็นลูกหม้อของพรรคมาตั้งแต่การตั้งพรรค ขณะที่อีก 2 คนได้ยื่นใบลาออกจากพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โดย น.ส.เกณิกาเป็นอดีตรองโฆษกพรรค ทสท. ส่วนนายรัฐภูมิ หรือ “ฟิล์ม” อดีตนักแสดงชื่อดัง ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่กับพรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย และล่าสุดคือพรรค พปชร. ซึ่งก่อนหน้านี้ ฟิล์มมีภาพปรากฏเดินตามหลังนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ระหว่างลงพื้นที่ จ.ตาก เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาด้วย   

นอกจากนี้ ทั้งนายรัฐภูมิและ น.ส.เกณิกายังมีชื่อเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนสังคมประชารัฐของพรรค พปชร.ด้วย

ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปฏิเสธที่จะแสดงความชัดเจนว่าจะไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ท่ามกลางกระแสข่าวหาก 2 ป.แยกพรรคกันเดินว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดในเวลานี้ รอให้ถึงเดือน ม.ค.2566 ก่อนแล้วกัน

ถามถึงกรณี นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ มีแนวคิดที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมนั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่เห็นเรื่องนี้ อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ดังนั้นการให้ความเห็นใดๆ ต่อสาธารณะคงไม่เหมาะสม ขอให้ไปดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นพ.ระวีจะขอพบเพื่อหาถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ยินดีที่จะมาพบ แต่ขอให้เสร็จการประชุมเอเปกก่อน

เลื่อนอภิปรายรัฐบาล

ที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้จัดสัมมนาและทำเวิร์กช็อป ในหัวข้อเส้นทางสู่ชัยชนะ เพื่อติวเข้มผู้สมัครจากทุกภาคทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งตลอดทั้งสัปดาห์นี้ โดยวันนี้เริ่มต้นที่ภาคเหนือ มีผู้สมัครมาร่วมการประชุมอย่างคับคั่ง รวมถึงคณะผู้บริหารพรรค นำโดยนายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ,  น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ, นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการคัดสรรผู้สมัคร เป็นต้น

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ทสท. อยู่ระหว่างการรักษาตัวด้วยอาการติดเชื้อโควิด แต่ได้ร่วมเปิดประชุมผ่านระบบซูม เพื่อให้กำลังใจและมอบหมายภารกิจแก่ผู้สมัครในภาคเหนือ พร้อมกล่าวว่า ขอให้ผู้สมัครทุกคนเร่งลงพื้นที่พบประชาชนให้ทั่วทุกหมู่บ้าน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของพรรค "ส" ที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากประชาชนที่ได้รับต่อเนื่องมากว่า 8 ปี 

ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ แถลงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า เดิมทีจะมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ในช่วงนี้มีวาระที่สำคัญคือการประชุมเอเปกและบอลโลก จึงทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีแนวโน้มที่จะเลื่อนมติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปในช่วงต้นเดือนม.ค. โดยจะมีการยื่นเรื่องขอเปิดอภิปรายในช่วงเดือน ธ.ค.นี้

วันเดียวกัน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ยังไม่ครบ 8 ปี เนื่องจากให้เริ่มนับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 ส่วนการดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้มีลักษณะ “นายกฯ ขาดตอน” ซึ่งสวนทางกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับ ป.ป.ช.กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2562 โดย พล.อ.ประยุทธ์ อ้างตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 105 โดยมีการยื่น แต่ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะว่า เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณา โดยประเด็นมีแค่ว่า ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่เท่านั้น เพราะเป็นประเด็นปัญหาสืบเนื่องจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

"ที่ผ่านมานายกฯ มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช.มาแล้วหลายครั้ง แม้ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อเนื่อง และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 จะมีผลบังคับใช้แล้ว และเปิดช่องให้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินก็ตาม แต่นายกฯ ยังคงยื่นอยู่เพื่อให้ตรวจสอบ" นายนิวัติไชยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยุค คสช.มาดำรงตำแหน่งต่อเนื่องภายหลังปี 2562 แบ่งข้อเท็จจริงออกเป็น 3 กรณีคือ 1.กรณีรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล คสช.มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 ต่อ มีจำนวน 6 ราย ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร, นายวิษณุ,  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม (เข้ารับตำแหน่งปี 2560) 2.รัฐมนตรียุค คสช. 15 ราย มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. (ปัจจุบันยังเหลือดำรงตำแหน่ง 12 ราย) และ 3.อดีต สนช.ระหว่างปี 2557-2561 มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. จำนวน 89 ราย (มี ผบ.เหล่าทัพเป็นโดยตำแหน่ง 6 ราย).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ