ตร.มั่นใจติดCCTV2หมื่นตัว ม็อบป่วน!สาดสีก่อนสลาย

“ผบ.ตร.” มั่นใจแผนรักษาความปลอดภัยเอเปก ติดกล้องวงจรปิด 22,848 ตัว ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ห่วงกลุ่มผู้ชุมนุมขวาง พร้อมขยายเวลาลงทะเบียนผ่านเข้า-ออกเส้นทางถึง 19 พ.ย.นี้ “ม็อบ” เริ่มวุ่นปะทะตำรวจเล็กน้อยแยกอโศกมนตรี หลังถูกห้ามเคลื่อนขบวนเข้ายื่นหนังสือผู้นำที่ศูนย์ประชุมฯ สุดท้ายยอมสลายตัว “ธนกร” ขอม็อบเห็นแก่ประเทศชาติ

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจร การประชุมเอเปก 2022 เป็นประธานประชุมขับเคลื่อน กอ.ร่วมฯ ติดตามสถานการณ์ด้านการข่าว สภาพภูมิอากาศ และแผนการปฏิบัติรักษาความปลอดภัยและการจราจรประจำวัน บูรณาการทุกภาคส่วน รวมกว่า 30 หน่วยงาน

 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ภาพรวมการปฏิบัติมีความพร้อมทุกภาคส่วน และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การจราจรยังคล่องตัวดี เนื่องจากรัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ มีการติดตามสถานการณ์ด้านการข่าวทั้งในและนอกพื้นที่ กทม.อย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV เขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 17,848 ตัว และส่วนภูมิภาคในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ อีก 5,000 ตัว รวมทั้งสิ้น 22,848 ตัว มั่นใจว่าครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อการรักษาความปลอดภัย หากมีใครเข้ามาก่อเหตุจะถูกตรวจจับด้วยกล้องทันที

 “เรายังมีการตั้งจุดตรวจเป็นใยแมงมุม ครอบคลุมทุกเส้นทาง โดยเฉพาะสถานที่ประชุม ที่พักผู้นำ เส้นทาง และสถานที่สำคัญต่างๆ โดยใช้เจ้าหน้าที่กว่า 35,000 นาย พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สำหรับการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้” ผบ.ตร.กล่าว

ส่วน พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปก 2565 กล่าวว่า ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ขยายเวลาการลงทะเบียนของผู้พักอาศัยที่มีความจำเป็นต้องใช้ถนนบริเวณที่งดการใช้การจราจรกว่า 45,000 ราย ในพื้นที่ สน.ลุมพินี และ สน.ทองหล่อ โดยได้เปิดให้ลงทะเบียนอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ย.นี้

ที่บริเวณแยกอโศกมนตรี ตั้งแต่เวลา 11.30 น. เครือข่ายนักศึกษา ประชาชน อาทิ กลุ่มวีโว่, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DRG, Supporter Thailand (SPT), สหภาพคนทำงาน, คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.), กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นัดหมายจัดกิจกรรม "What happened in Thailand"  เดินเท้าไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือรูปแบบการบริหารของรัฐบาลประเทศไทยถึงผู้นำประชุมเอเปก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเที่ยงได้เกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อยระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มมวลชนที่จะมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “What Happened in Thailand” บริเวณหน้าทางเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สุขุมวิท ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อโศก หน้าห้าง Terminal 21 แยกอโศกมนตรี โดยกลุ่มมวลชนและกลุ่มแกนนำบางส่วนได้ทยอยเข้ามาในพื้นที่ ถือป้ายแสดงออกที่มีข้อความระบุว่า “ข้างหน้ามีหมาและเหี้ย โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทาง” ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาควบคุมตัวเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ แต่หนึ่งในกลุ่มที่ถูกตำรวจคุมตัวมีท่าทีหลบหนี ก่อนถูกควบคุมตัวได้อีกครั้ง และมีการพูดคุยขอความร่วมมือให้อยู่ในความสงบก่อนจะปล่อยตัวไป

แต่หลังจากนั้นได้เกิดชุลมุนกันอีก ตำรวจนายหนึ่งกระชากป้ายข้อความจากกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนมีการปะทะกันเล็กน้อย ตำรวจนายนี้ใช้มือขวาจับไปที่ด้ามปืนที่เอว ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เห็นเหตุการณ์ไม่พอใจ ขับไล่ตำรวจออกจากจุดหน้าทางขึ้น-ลงรถไฟฟ้าบีทีเอส อโศก ฝั่ง Terminal 21

ต่อมา พ.ต.อ.ดวงโชติ สุวรรณจรัส ผกก.สน.ทองหล่อ พยายามเข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอยู่หน้าทางเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอโศก หน้าห้าง Terminal 21 มีการปะทะกันอีกเล็กน้อย แต่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่าน และแจ้งว่าการชุมนุมครั้งนี้ผิดกฎหมาย ให้ยุติการชุมนุม แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอม ยืนยันที่จะเข้าไปยื่นหนังสือถึงตัวแทนผู้นำแต่ละประเทศที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติฯ ให้ได้ จึงมีการผลักกับเจ้าหน้าที่เล็กน้อย แต่เหตุการณ์ไม่รุนแรง โดยทางเจ้าหน้าที่พยายามเจรจากับแกนนำไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมผลักดันเข้าไป โดยทางตัวแทนรัฐบาลมีนายสมพาศ นิลพันธ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคนเจรจาเพื่อรับหนังสือแทน แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมตะโกนโห่ไล่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ตรึงกำลังไม่ให้ผ่านเส้นทางเด็ดขาด

ต่อมา กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ได้อ่านแถลงการณ์หลังจากการเจรจาไม่เป็นผล โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภายหลังอ่านแถลงการณ์เสร็จ ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกหนังสือแถลงการณ์ ก่อนที่จะประกาศยุติการชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้แกนนำจะประกาศยุติการชุมนุม แต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะยังมีอารมณ์ค้าง บางคนได้นำน้ำสาดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน พร้อมทั้งนำสเปรย์สีฉีดใส่โล่และรองเท้าของตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตอบโต้ โดยมีทางรถกระจายเสียงของตำรวจได้พยายามประกาศเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมให้ยุติการชุมนุม เพราะเป็นการทำผิดกฎหมาย จากนั้นได้เข้ากระชับพื้นที่ไม่ให้ผู้ชุมนุมอยู่บนพื้นถนน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจเกิดการผลักกันกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เพิ่มกำลังเพื่อรักษาพื้นที่ไว้ ก่อนสุดท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัวไป

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงภาพรวมการชุมนุมบริเวณลานคนเมืองว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่เยอะ และไม่ได้มีกิจกรรมอะไร นโยบายเราไม่อนุญาตให้มีการค้างคืน แต่ถ้ามีคนจำเป็นต้องค้าง ซึ่งได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. รับผิดชอบ ดีกว่าเป็นการลงถนน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็กำลังดูสถานการณ์อยู่ พยายามให้อยู่ในพื้นที่ไม่ให้ออกไปพื้นที่ด้านนอก

ถามว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนจากลานคนเมืองได้ออกไปใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นายชัชชาติกล่าวว่า ก็ถือว่าผิดไปจากที่ตกลงกันไว้ คงต้องหารือร่วมกับฝ่ายความมั่นคงว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพราะที่ตกลงกันไว้คือขอให้อยู่ในพื้นที่ คือเราไม่อยากให้ตรงนี้เป็นศูนย์ที่กระจายออกไป อย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่ที่ให้แสดงออกได้ แต่ขอให้อยู่ในพื้นที่ตามที่ตกลงกันไว้

 “เราต้องร่วมมือกัน เพราะแต่ละพื้นที่มีกฎหมายบังคับใช้ต่างกัน ส่วนถ้าเป็นพื้นที่ของเราที่เรากำหนดไว้ เราก็ต้องดูแล แต่ถ้าออกไปด้านนอก ก็คงต้องส่งต่อ ส่วนที่มีคนบอกว่าเป็นการโยนขี้นั้น ผมไม่ได้โยนขี้ คือทุกคนทำงานประสานกันทั้งนั้น ก็แล้วแต่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะจริงๆ แล้วบรรยากาศอะไรก็ดีของเอเปกมองว่าทุกคนก็มาหาความร่วมมือกัน ส่วนการแสดงความคิดเห็นก็ทำได้  ซึ่งถ้ามีพื้นที่ที่แสดงออกได้ก็ดี ก็ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ก็ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย กทม.เองก็ต้องร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคง มีการประสานงานกันตลอด" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า การเคลื่อนไหวชุมนุมช่วงเอเปก อยากให้ผู้ชุมนุมย้อนถามตัวเองด้วยว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่ เพราะเห็นมีแค่คนบางส่วนเท่านั้นที่พยายามปลุกระดมให้ประชาชนออกมาชุมนุม แต่ที่แน่ๆ คือการขัดขวางโอกาสและประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้ อยากให้ผู้ชุมนุมทบทวนตัวเองอีกสักครั้งว่า การพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อกดดันเจ้าหน้าที่นั้น ในใจลึกๆ หวังจะให้นำไปสู่ความรุนแรง จงใจให้เกิดการเผชิญหน้า สร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปราบปราม เพื่อที่จะนำภาพดังกล่าวไปขยายผลต่อใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตยให้ต้องอับอายชาวโลก แต่ควรละอายบ้างที่เอาประโยชน์ของประเทศมาแลกกับความสะใจของคนเพียงไม่กี่คน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กต่าย' เซ็นแบ่งงานรองผบ.ตร. 'ธนา-สราวุฒิ' แทน 'บิ๊กโจ๊ก-บิ๊กรอย'

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) มีคำสั่ง ตร.ที่ 176/2567 ลงวันที่ 17 เม.ย. 2567 เรื่องกำหนดลักษณะงานและการมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ