มติรมต.เอเปกดันBCG หนุนเป้าหมายกรุงเทพฯ/บิ๊กตู่คิวแน่นทั้งวัน

นายกฯ คิวแน่นตั้งแต่เช้าจรดเย็น เปิดประชุม APEC CEO Summit ผลักดันความร่วมมือกับภาคเอกชน พร้อมหารือทวิภาคีกับ ปธน.ฝรั่งเศส ชื่นชมพลวัตในความสัมพันธ์ 2ประเทศนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม  หารือผู้บริหารฯ ฮ่องกงกระชับความร่วมมือการค้าการลงทุน กับนายกฯ ญี่ปุ่น ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ฯ ขณะที่ไทย-แคนาดาพร้อมขยายความร่วมมือผลักดันการค้าการลงทุน-ท่องเที่ยว "จุรินทร์" แถลงมติ รมต.เอเปกผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ หรือ BCG เตรียมชงเวทีระดับผู้นำ 19 พ.ย.นี้พร้อมมีมติขับเคลื่อน FTA เอเปก

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน  ที่ห้อง Athenee Crystal Hall ชั้น 3 โรงแรมดิแอทธินี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม APEC CEO Summit ตามคำเชิญของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council: ABAC) ว่า APEC CEO Summit เป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และเป็นการกลับมาอีกครั้งของการประชุมในรูปแบบพบหน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณบวกให้แก่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพร้อมเดินหน้าทำธุรกิจอย่างเต็มที่อีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสให้ฟื้นฟูความเชื่อมโยง รื้อฟื้นความสัมพันธ์ และสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน

นายกฯ กล่าวว่า ไทยยังตระหนักว่าความท้าทายที่ประสบอยู่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและคาบเกี่ยวกัน จึงขอเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ ดังนี้ ประเด็นแรก การส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกและสภาพภูมิอากาศที่ล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไทยได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญสูงสุดของเอเปกในปีนี้ และมุ่งมั่นที่จะนำเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม

นายกฯ กล่าวต่อว่า เชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถร่วมมือกันได้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ความร่วมมือที่เข้มแข็งและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ไทยกำลังสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยแก่ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการลดของเสีย และการปล่อยก๊าซมลพิษ การค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 และกำลังเร่งพัฒนาระบบนิเวศเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า

ประเด็นที่สอง การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันและต้องมั่นใจว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในเส้นทางการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ผลักดันให้มองไกลไปกว่าการสร้างผลกำไร และหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อทุกระดับในภูมิภาค การที่ไทยผลักดันการเสริมพลังสตรี และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ประเด็นที่สาม การมุ่งไปสู่ดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพ และการเจริญเติบโตในภูมิภาค เอเปกจึงเน้นให้การมุ่งไปสู่ดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในปีนี้ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค สำหรับไทยมีการปรับตัวและปฏิรูปทางโครงสร้างที่จำเป็น ตนยินดีต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะและแรงงานขั้นสูงเพิ่มเติมในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งมีมาตรการจูงใจทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้ ไทยได้เปิดตัวโครงการตรวจลงตราประเภทผู้พำนักระยะยาว 10 ปี พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล พร้อมจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เป็นเขตนวัตกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ และเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของภูมิภาค

"ไทยจะเสนอให้ผู้นำเอเปกรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของเอเปกไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน สนับสนุนความพยายามในการจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขยะให้เป็นศูนย์ ซึ่งความสำเร็จนี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ภูมิภาคก้าวไปข้างหน้า และเติบโตไปด้วยกันสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม CEO Summit เป็นกิจกรรมของภาคเอกชนที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก และถือเป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประจำปีที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้นักธุรกิจในภูมิภาคได้สร้างเครือข่ายระหว่างกัน ซึ่งในปีนี้มีผู้นำและผู้แทนที่เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาและเสวนาในการประชุมในวันที่ 17 พ.ย. มีทั้งหมด 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, ประธานาธิบดีเวียดนาม, ประธานาธิบดีชิลี, รองประธานาธิบดีเปรู และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ในวันที่ 18 พ.ย. มีทั้งหมด 2 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และรองประธานาธิบดีสหรัฐ

ไทย-ฝรั่งเศสพลวัตต่อเนื่อง

วันเดียวกัน เวลา 11.00 น. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในฐานะแขกพิเศษของเจ้าภาพ (Guest of the Chair) โดยนายกรัฐมนตรียินดีชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีพลวัตอย่างต่อเนื่องและเชื่อมั่นว่าการเยือนครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส ชื่นชมความร่วมมือระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีความคืบหน้าในหลายๆ ด้าน แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอวกาศ ในการพัฒนาดาวเทียมธีออส 2

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน คือการจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการไทย-ฝรั่งเศส นายกฯ ขอให้ฝรั่งเศสเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าวให้มีความคืบหน้า ซึ่งจะช่วยให้การเดินหน้าความสัมพันธ์เป็นไปด้วยความสะดวกโดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมเร่งรัดการดำเนินการคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2566 จะมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงไทย

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเห็นพ้องกันว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปก ลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ  ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

ด้านการศึกษาและวิชาการ  ประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้นในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้

สำหรับการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตของไทย  ประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมให้การสนับสนุนไทยในประเด็นนี้ 

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกฯมอบเอกสารแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม PREventing Zoonotic Disease Emergence (PREZODE) เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาและป้องกันโดยโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคน (zoonotic disease) หลังจากนั้น นายกฯ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า

ไทย-ญี่ปุ้นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

เวลา 13.55 น. ที่ห้องรับรองพิเศษ สนามบินสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์  หารือทวิภาคีแบบสั้น กับนายจอห์น ลี คา-ชิว ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายร่วมแก้ปัญหาท่ามกลางความท้าทาย และเป็นโอกาสให้ยกระดับความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมในเรื่องการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการค้าในผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตร

เวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หารือกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนและสานต่อผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นายกฯ กล่าวว่า ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียนด้วย โดยญี่ปุ่นยังได้กล่าวเสนอเพิ่มพูนความร่วมมือธุรกิจ startup ของทั้งสองประเทศด้วย

ความร่วมมือด้านความมั่นคง ยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านการทหารและการป้องกันประเทศที่ใกล้ชิด  ด้านประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ในตอนท้าย นายกฯ ไทยและญี่ปุ่นยังได้ร่วมกันยินดีที่ทั้งสองประเทศมีการหารือจนมีผลเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน สามารถพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ฉลองครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปีนี้ และการครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ที่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ต่อมา เวลา 17.15 น. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือต่างๆ ที่สำคัญ โดยด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค

ด้านเศรษฐกิจ ไทยพร้อมสนับสนุนการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดาให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงห่วงโซอุปทาน  โดยนายกฯ แคนาดาพร้อมสานต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่า การเจรจาร่วมกันจะช่วยขยายศักยภาพทางทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันที่กลับคืนสู่ประชาชน

ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีแคนาดายินดีที่ได้ทราบว่า สายการบิน Air Canada จะเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเมืองแวนคูเวอร์-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดเส้นทางระหว่างอเมริกาเหนือและประเทศไทย ซึ่งนายกฯ เห็นพ้องและเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ที่ห้อง Ballroom Hall 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 09.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีเอเปกและผู้เข้าร่วมการประชุมในการประชุมรัฐมนตรีเอเปก ประจําปี 2022 (APEC Ministerial Meeting 2022: AMM) ร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ

รมต.เอเปกผลักดัน BCG

ต่อมา เวลา 18.40 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมแถลงข่าว โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีมีข้อสรุปสำคัญด้วยกัน 3 ประเด็น ดังนี้ หนึ่ง ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปกมีฉันทามติร่วมกันในการขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่อง บีซีจี ซึ่งจากนี้ไปจะเสนอให้การประชุมระดับผู้นำเอเปก ในวันเสาร์ที่ 19 พ.ย. พิจารณาร่วมกันต่อไป สอง ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปก ไปสู่เป้าหมายจัดตั้งเอฟทีเอเอเปก ให้เกิดขึ้นในอนาคต

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สาม ในวาระการพิจารณาหัวข้อหลัก 3 ประเด็น ประกอบด้วย Open Connect Balance นั้น ที่ประชุมมีข้อสรุปเกี่ยวกับหัวข้อ Open ใน 6 ประเด็นคือ 1.ที่ประชุมเห็นพ้องเรื่องเปิดกว้างการค้าการลงทุน เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานทำงานได้ 2.เห็นพ้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเปก สู่การจัดตั้งเอฟทีเอเอเปก 3.สนับสนุนการค้าระบบพหุภาคี 4.เอเปกเห็นชอบให้เร่งสร้างขีดความสามารถด้านการบริการ ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว ขนส่ง หรือระบบโลจิติกส์ 5.ผลักดันและเปิดโอกาสให้สตรี ไมโครเอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบางเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น และ 6.เห็นพ้องแนวทางการค้าสู่ความยั่งยืน ทั้งสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้านนายวิชาวัฒน์กล่าวว่า สำหรับข้อสรุปเกี่ยวกับหัวข้อ Connect และ Balance นั้น ที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงการค้าการเชื่อมโยงภูมิภาค และความยั่งยืน การร่วมมือกันในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน โปรโมตท่องเที่ยวและการอำนวยความสะดวก อีกทั้งในที่ประชุมยังเน้นย้ำเรื่องการขนส่ง เสริมสร้างเอสเอ็มอี บีซีจีกรีน รวมถึงความยั่งยืนด้านพลังงานและอาหารด้วย

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้การต้อนรับนายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และคณะ เข้าพบหารือในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และเข้าร่วมการประชุมเอเปก ครั้งที่ 29 โอกาสนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง,  นายไพจิต ศรีวรขาน ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เวียดนาม และนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมต้อนรับด้วย

ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่เวียดนามและไทยเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership) และมีแผนพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมและสนับสนุนด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือและช่วยเหลือระหว่างกัน ตลอดจนการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (Sister Cities) ซึ่งล้วนแต่จะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความอยู่ดีกินดีของประชาชนของทั้งสองประเทศ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรม “VIJIT CHAO PHRAYA” ปรากฏการณ์แห่งแสงสีริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.-27 พ.ย.นี้ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมเป็น 6 จุด รัฐบาลจึงขอเชิญชวนประชาชนรับชมการแสดงแสงสีเสียงในจุดต่างๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับ 6 พื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาในกิจกรรม “VIJIT CHAO PHRAYA” มีดังนี้ 1.สะพานพระราม 8 2.ป้อมวิไชยประสิทธิ์ 3.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร  4.สะพานพระพุทธยอดฟ้า 5.ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก 6.ไอคอนสยาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.

พท. จัดใหญ่! '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' ตีปี๊บผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา'

'เพื่อไทย' เตรียมจัดงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' สรุปผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา' 3 พ.ค.นี้ เดินหน้าเติมนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.

‘เศรษฐา’ แจงยิบปรับครม. ขอโทษ ‘ปานปรีย์’ ทำให้ไม่สบายใจ บอกมีคนแทนในใจแล้ว

‘เศรษฐา’ เผย ส่งข้อความผ่านกลุ่มงานต่างประเทศขอโทษ ‘ปานปรีย์’ ถ้าทำให้ไม่สบายใจ บอกได้คุยกันก่อนปรับ ครม.แล้ว ชี้มีทั้งคนสมหวัง-ผิดหวัง พร้อมรับผิดชอบ แย้มมองหาคนใหม่ตั้งแต่เมื่อคืน ดีกรี การทูต-การเมือง ทำงานเบื้องหลัง’เพื่อไทย’ มานาน