ได้แค่วอนBTSชะลอค่ารถ

กทม.ทำหนังสือวอน “บีทีเอสซี” ชะลอปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าอีกครั้ง บอกเอกชนมีรายได้ทดแทนอีกเยอะ  ทั้งค่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่ เปิดข้อมูล BTSC เคยทำหนังสือมาแล้วตั้งแต่ ส.ค.แต่ถูกเบรกไปแล้วรอบหนึ่ง

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม ยังมีความต่อเนื่องจากกรณี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ประกาศขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร จำนวน 24 สถานี ได้แก่ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรีและสถานีวงเวียนใหญ่ จากราคา 16-44 บาท ปรับเป็น 17-47 บาท ซึ่งยังไม่เกินอัตราค่าโดยสารสูงสุดตามสัญญาสัมปทาน ที่อยู่ในระดับ 21.52-64.53 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566

โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันนี้แล้วเห็นว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทางเป็นอย่างมาก ประกอบกับบริษัทยังมีรายได้ทางอื่นซึ่งนอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสารเพื่อมาชดเชย อาทิ รายได้จากการประกอบพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว รายได้จากการโฆษณา รายได้จากการอนุญาตให้เอกชนก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีและอาคารบุคคลภายนอก ซึ่งรายได้ดังกล่าวสามารถนำมาช่วยสนับสนุนรายจ่ายจากการดำเนินงานของบริษัทได้ กทม.จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้บริษัททบทวนและชะลอการปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บออกไปก่อน

ทั้งนี้ บริษัท BTSC เคยมีหนังสือแจ้ง กทม.เมื่อ ส.ค.2565 ขอปรับขึ้นค่าโดยสารจาก 16-44 บาทเป็น 17-47 บาทมาแล้ว แต่ กทม.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าชะลอการปรับค่าโดยสารออกไปก่อน โดยขอให้บริษัทคำนึงถึงความเดือดร้อนและภาระของประชาชนโดยรวม และขอให้ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการขอปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บ

ต่อมา บริษัทมีหนังสือแจ้ง กทม.อีกครั้งช่วง พ.ย.2565 ถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าบริษัทมีรายจ่ายจากการดำเนินโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น และหารือกับผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง (บีทีเอสโกรท) มีความเห็นตรงกันว่าเพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน บริษัทจึงยินดีที่จะชะลอการปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บไปจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 และจะบังคับใช้อัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ซึ่งค่าโดยสารใหม่ที่จะเรียกเก็บนั้นอยู่ในอัตรา 17-47 บาท ซึ่งไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้ตามสัญญาสัมปทาน

สำหรับการแจ้งการขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นการขอปรับขึ้นค่าโดยสารที่เรียกเก็บ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริษัท  ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (สัญญาสัมปทานฯ) ข้อ 13.2 ระบุว่า ค่าโดยสารที่เรียกเก็บจะต้องไม่เกินไปกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้ ซึ่งบริษัทจะต้องแจ้งให้ กทม. และประชาชนทั่วไปทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงค่าโดยสารที่เรียกเก็บล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันที่ค่าโดยสารใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้เมื่อเดือน เม.ย.2565 อยู่ที่ 21.52-64.53 บาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง