ชี้ช่องยื่นแก้รธน.อีก ‘วิษณุ’ลั่นเสนอได้ทุกวันต้องรู้จักบทเรียนทำไมถึงไม่ผ่าน

"วิษณุ" ชี้ช่องยื่นแก้รธน.ได้อีก เสนอได้ทุกวัน แต่ต้องรู้จักบทเรียนด้วยว่าทำไมถึงไม่ผ่าน และอย่าลืมทำประชามติต้องใช้งบ 3 พันล้าน ด้าน "กำนันสุเทพ" วอนอย่ารังเกียจรัฐธรรมนูญ อย่าดูที่คนร่าง ให้ดูเนื้อหา ยกคำพูด "เติ้ง เสี่ยวผิง" แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้ก็เป็นพอ

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐสภาตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน หากจะเสนอเข้ามาอีกสามารถทำได้หรือไม่ว่า ได้ ส่วนกระบวนการทุกอย่างทำใหม่หมด

"เสนอได้อีก เสนอได้ทุกวัน ก็ปีที่แล้วเดินมาทีนึงแล้ว ปีนี้ก็เดินอีก ถ้าต่อไปจะเดินอีกก็ไม่ได้แปลกอะไร ถ้าหากตรงใจถูกใจก็อาจจะได้รับความเห็นชอบเพิ่มมากขึ้นก็ได้ ก็ต้องรู้จักเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นบทเรียนด้วยว่าทำไมถึงไม่ผ่าน ถ้าจะให้ผ่านต้องทำอย่างไร ซึ่งก็อาจจะไม่ผ่านหมด บางคำขอคงต้องเลือกเอา ประเด็นสำคัญที่ตกไปเพราะมีเรื่องไปผูกกับงบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อทำประชามติ"

เมื่อถามว่า เรื่องนี้มีผู้ผูกโยงกับการเคลื่อนไหวนอกสภาด้วย จะทำให้เรื่องต่างๆ วุ่นวายหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่น่าจะวุ่นวาย หากวุ่นวายใครที่มีหน้าที่ก็จัดการไป เพราะถ้าทำไม่ให้วุ่นวายสามารถทำได้

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) กล่าวว่า ถ้ารังเกียจและบอกว่าสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของ คสช. อดใจรออีกนิด เมื่อหมดเวลาตามบทเฉพาะกาล วุฒิสภาชุดใหม่ ก็ต้องมาจากกระบวนการเลือกตั้งของบรรดาผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ 

"ผมชอบ เพราะว่าเราจะได้มีคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ ส.ส.ที่มาจากประชาชนทั่วไปเลือกมา อีกกลุ่มคือ ส.ว. ซึ่งไม่มีสภาพเป็นนักการเมืองอาชีพ รัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นได้สมัยเดียว เป็นอีกไม่ได้ แถมมีกำแพงกันไม่ให้มีความใกล้ชิดกับพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ไม่ต้องการให้มีสภาผัวเมียแบบในอดีต"

นายสุเทพกล่าวว่า ฝ่ายผู้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเขารังเกียจว่าแบบนี้เป็นการผูกขาดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ตนไม่ได้มองอย่างนั้น ต้องมองว่า คสช.จบไปแล้วตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งทั่วไป และได้รัฐบาลใหม่คือรัฐบาลปัจจุบันอย่างนี้ไม่สามารถจะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. เพราะนี่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

"ผมอยากเรียกร้องว่าอย่าไปรังเกียจเลยว่ารัฐธรรมนูญมีที่มาที่ไปอย่างไร ใคร เป็นคนร่าง ใครเป็นคนแต่งตั้งคนร่าง ไปสนใจในเรื่องเนื้อหาดีกว่า เหมือนที่ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวไว้ว่า แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้ก็เป็นพอ" นายสุเทพกล่าว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวว่า มาคิดดูแล้ว แสดงว่าไอติมไม่ได้ปรึกษาหารือกับญาติเลย ช่วงที่ไวรัสทักษิณเรืองอำนาจ ใช้อำนาจเผด็จการสภา ใช้เสียงข้างมากบังคับออกกฎหมายนิรโทษกรรม ตอนตีสามตีสี่หรือแม้แต่การทุบรถของท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่กระทรวงมหาดไทย การบุกการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยาถือว่าเป็นไวรัสที่ดื้อวัคซีนทุกแบบ

ถ้าหากมีสภาเดี่ยว ยกเลิก ส.ว. และสภาชุดนี้มีอำนาจทุกอย่าง รวมทั้งแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย อย่าคิดว่าจะทำลายไวรัสประยุทธ์ได้แล้วประเทศจะปลอดภัย ไวรัสทักษิณคงต้องขอบคุณไอติมมาก ที่ออกแบบระบบของประเทศมาให้ใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องเกรงกลัวใคร

"ไอติมต้องเรียนรู้รากเหง้าปัญหาการเมืองไทยว่าต้นตอเกิดการกดทับจาก ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง จนใช้อำนาจเผด็จการ ถ้าบริหารงานเพื่อประชาชน ต่อให้ทั้งกองทัพก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ต้องกังวลไวรัสประยุทธ์หรอก ปราบง่าย เพราะไม่ดื้อวัคซีน แต่ไวรัสทักษิณ ไวรัสปิยบุตร อันตรายมากเพราะมีไวรัสสายพันธุ์ต่างชาติผสมพันธุ์ด้วย แค่นี้ถ้าแยกแยะไม่ออก เดี๋ยวจะกลายเป็นมะม่วงบ่มแก๊สอีกใบ" นพ.วรงค์ระบุ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่าเสียดายโอกาสเอาความขัดเเย้งออกจากสังคมไทยนั้น นายพิธาควรยอมรับว่าความขัดเเย้งวิกฤตการเมืองขณะนี้ไม่ได้เกิดจากกลไกต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ 2560 เลย แต่เกิดจากการยุยง ปลุกปั่นสังคมของกลุ่มการเมืองที่นายพิธารู้จักคุ้นเคยหรือไม่ การจะนำร่างดังกล่าวมาเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล ก็เป็นการขาดวิสัยทัศน์ เหมือนทำตามใบสั่ง ติดกระดุมได้เพียงเม็ดเดียว เพราะมีเพียง 1.9% ของผู้ที่เคยโหวตให้อดีตพรรคอนาคตใหม่เห็นด้วยกับร่างนี้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นขออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า ในสัปดาห์นี้ที่ประชุมฝ่ายค้านจะพูดคุยเรื่องสาระสำคัญปัญหาของประชาชน คาดว่าอย่างเร็วที่สุดหากมีเรื่องเร่งด่วนจะรีบยื่นขอเปิดอภิปรายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ หรืออาจจะเป็นช่วงเดือน ม.ค.ปีหน้า แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา ก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ.65

นพ.ชลน่านกล่าวถึงแนวทางการเสนอพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในสัดส่วนของพรรค พท. ว่าต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้รับการโปรดเกล้าฯ ก่อน ขณะนี้ได้เตรียมคณะทำงานยกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไว้อยู่แล้ว เบื้องต้นคาดว่าพรรค พท.จะเสนอในนามของพรรคเอง แต่หากมีพรรคการเมืองอื่นร่วมเสนอด้วยก็ยินดี

ทั้งนี้ คณะทำงานเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่ม (ฉบับที่..) พุทธศักราช.. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) มีการประชุมนัดแรก เพื่อวางกรอบและแนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รองรับระบบเลือกตั้งใหม่ ที่มีการแก้ไข โดยมีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธานคณะทำงาน และมีตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาช่วยกันเสนอแนวทาง

นายวิเชียรกล่าวว่า ต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ก่อน เราถึงจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ แต่ตอนนี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า และจากการพูดคุยในพรรคร่วมรัฐบาล ได้ข้อสรุปว่าจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่างแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นของพรรคร่วมรัฐบาลเพียงฉบับเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพ

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ  ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า จะจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับให้แล้วเสร็จก่อนมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก และตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลได้พูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยนายวิษณุก็รับปากว่าจะไปรับฟังความเห็นจาก กกต.ให้ ขณะเดียวกันในพรรคร่วมรัฐบาลก็จะหารือแสดงความคิดเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี  เพื่อจัดทำกฎหมายตามเงื่อนเวลาต่อไป

ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติจะยกร่างเนื้อหารวมเป็นฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีความเห็นเฉพาะนั้น ขอให้สงวนไปพิจารณาในชั้นแปรญัตติและในชั้นกรรมาธิการ เพื่อให้การเสนอร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีความเป็นเอกภาพ ไม่แย้งกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ตั้ง 6 รองนายกฯรักษาราชการแทน พร้อมแบ่งงาน ใครคุมหน่วยงานใด

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (7 พ.ค.) คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 166/2567 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี