ยื่น6พันชื่อปธ.ศาลฎีกา หนุน3ข้อเรียกร้อง3นิ้ว

“ทะลุวัง” ยื่น 6,514 รายชื่อถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้อง 3 ข้อ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง-ยกเลิก 112-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ส่วน 50 คณาจารย์นิติศาสตร์ส่ง จ.ม.เปิดผนึก "เพื่อไทย" โหน "แบม-ตะวัน" ชี้ผู้นำต้องใช้หลักเมตตาธรรมนำหลักยุติธรรม  "แม้ว" สั่งลิ่วล้อเปิดพรรครับแก๊งทะลุวัง อ้าง 112 ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่หน้าศาลฎีกา  สนามหลวง กลุ่มทะลุวังที่นำโดย น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม,  นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายอนุสรณ์ อุณโณ รองศาสตราจารย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเอกชัย หงส์กังวาน ทำกิจกรรมเดินทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ ไปยังศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนที่เข้าร่วม 6,514 รายชื่อ ซึ่งลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org แก่ประธานศาลฎีกา ในการสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์  และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ยื่นขอถอนประกันตนเอง

โดยข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกคน 3.พรรคการเมืองออกนโยบายยกเลิก ม.112 และ 116 โดยมี นายธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ  สำนักงานประธานศาลฎีกา ในฐานะตัวแทนประธานศาลฎีกาเป็นผู้รับมอบ

สำหรับแถลงการณ์ของกลุ่มทะลุวังที่นำไปยื่นต่อศาลฎีกาพร้อม 6,514 รายชื่อ มีเนื้อหาความว่า "ตามที่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ได้ถอนการประกันตัว เนื่องจากเป็นการประกันตัวแบบมีเงื่อนไขที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ศาลอาญามีคำสั่งคุมขังเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ทั้งสองคนจึงอดอาหารและน้ำ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน 2.ปฏิรูปยุติธรรม ศาลเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง 3.ประกันสิทธิเสรีภาพ ยกเลิกมาตรา  112 ทั้งสองคนปฏิเสธการรักษา มีอาการสาหัส เสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิต ขณะนี้สาธารณชนได้แสดงออกในการสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวันและแบม โดยกลุ่มทะลุวังได้รวบรวมรายชื่อประชาชนจํานวน 6,000 คน ที่สนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวันและแบม จึงขอเรียกร้องต่อศาลฎีกาดังต่อไปนี้

1.ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน จากการที่ราษฎร ได้มีการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนและใช้มาตรา 112 และ 116 เป็นเครื่องมือในการจับกุมคุมขัง  โดยที่ศาลไม่ให้ประกันตัว หรือให้ประกันตัวแต่มีเงื่อนไขหลายประการ ที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้ทั้งสองคนอดอาหารและน้ำ ดังนั้นจึงขอให้ศาลฎีกาได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของราษฎรด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน

2.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีความเป็นอิสระ เปิดเผย โปร่งใส เนื่องจากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้พิจารณาสั่งการ อันเป็นการแสดงถึงการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาที่ทำให้ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นที่ยอมรับต่อสังคม จึงขอให้ศาลฎีกาประกาศโดยชัดแจ้งให้กระบวนการพิจารณาคดีปราศจากการแทรกแซงจากผู้บริหาร และผู้มีอำนาจหน้าที่ ส่งผลต่อความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของราษฎร

3.ประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร จากการใช้กฎหมายมาตรา 112 และ 116 อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการยุติการดำเนินคดีที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของราษฎร ในการยกเลิกมาตรา 112 และ  116"

นอกจากข้อเรียกร้องที่ได้อ่านนั้น แถลงการณ์ยังมีจดหมายเปิดผนึก 50 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษา เรื่องเรียกร้องให้คืนสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง

ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แบมและตะวันไม่น่าจะมีเจตนากระทำความผิดในมาตราดังกล่าวตามที่ถูกกล่าวอ้าง เพียงแต่พวกเขาพิจารณาจากเหตุผล และมีชุดความคิดและประสบการณ์ ในยุคสมัยของเขา ดังนั้นผู้นำหรือผู้มีอำนาจต้องใช้เมตตาธรรม มองพวกเขาอย่างเข้าใจ อธิบายด้วยเหตุผล พรรคเพื่อไทยทราบและตระหนักในปัญหานี้ เรายึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ความยุติธรรม หลักนิติธรรมที่เป็นสากล การบังคับใช้กฎหมายตอนนี้

"ที่ผ่านมาเราเห็นการหยิบยกกฎหมายในมาตราเหล่านี้ มาใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจทางการเมือง ปิดปากและหยุดการกระทำของผู้เห็นต่าง ถือเป็นการตีความการบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดผันกระบวนการยุติธรรม  และผู้วินิจฉัยชี้ขาด ตัดสินคดีควรจะต้องรับฟัง และมีทางออกในเรื่องนี้อย่างสันติ โดยใช้หลักเมตตาธรรมนำหลักยุติธรรม” นายชุมสายกล่าว

ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ทราบมาว่าทางกลุ่มทะลุวังจะไปทวงให้พรรคเพื่อไทยยกเลิกมาตรา 112 และ 116 ผมขอเสนอผู้บริหารพรรคให้เชิญชวนกลุ่มน้องๆ ไปห้องสมุดพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพรรคตั้งแต่ไทยรักไทย ได้พูดเรื่อง 112 หลายครั้งว่าปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ที่ขาดหลักนิติธรรม เลยทำให้ไประคายเจ้านาย  ผมมั่นใจว่าถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะไม่มีเหตุการณ์แบบทุกวันนี้ จนแทบจะไม่รู้สึกว่ากฎหมายเป็นปัญหา การแก้ปัญหาด้วยการบริหารด้วยหลักนิติธรรมที่เป็นสากลจะง่ายและรวดเร็วกว่าการแก้กฎหมายเยอะ"

"อย่าทะลุวังเลย มาทะลุทำเนียบดีกว่า เพื่อหลักนิติธรรมสากลจะกลับคืนสู่ประเทศไทย พร้อมการมองเห็นอนาคตของลูกหลาน อย่าปล่อยให้เขาพลิกโฉมประเทศไทยอีก 2 ปีเลย ที่ผ่านมา 8 ปี พลิกคว่ำก็หายใจไม่ออก เต็มไปด้วยหนี้ พลิกหงายก็ถูกข่มขืนโดยนักคอร์รัปชัน ทุนต่างชาติ และธุรกิจสีเทา" นายทักษิณระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง