รัฐบาลตื่นแก้ฝุ่นPM2.5 ศธ.ไฟเขียวปิดโรงเรียน

นายกฯ สั่งทุกหน่วยติดตาม PM 2.5 ใกล้ชิด กรมควบคุมมลพิษเผยเกินค่ามาตรฐาน 43 จังหวัด อธิบดี คพ.รับปีนี้สถานการณ์น่ากังวล ศธ.ให้แต่ละ รร.ประเมิน ปรับรูปแบบการสอน สธ.แนะผู้ปกครองหลีกเลี่ยงพาเด็กทำกิจกรรมนอกบ้าน

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับและสั่งการให้เดินหน้าแผน 3 พื้นที่ 7 มาตรการ รับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งในระยะยาวสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ที่มีความรุนแรงเกิดจากภาพรวมของพื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง และเป็นช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน สภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ส่งผลต่อการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ทำให้ระดับฝุ่นละอองมีค่าสูงขึ้น อีกทั้งอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้ PM 2.5 อาจมีความรุนแรงขึ้น

“นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามสอบถามการแก้ไขปัญหา การทำงานของทุกหน่วยเป็นระยะ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามแนวทางของนายกฯ ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด” นายอนุชาระบุ

นายอนุชายังเปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจังหวัดใดที่มีค่าฝุ่นเกิน 51 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center: PHEOC) เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ส่วนจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 ระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ให้เปิดศูนย์บัญชาการสถานการณ์ (OC) ระดับจังหวัดรองรับ รวมถึงให้เร่งรัดสื่อสารความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 แจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ

ขณะที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. พบว่า ปริมาณ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน 43 จังหวัด อาทิ ปทุมธานี กรุงเทพฯ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ส่วนผลการตรวจวัดตามรายภาค พบเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ กทม.และปริมณฑล ตรวจวัดได้ 54-119 มคก./ลบ.ม., ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 34-154 มคก./ลบ.ม., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดได้ 29-96 มคก./ลบ.ม., ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 48-117 มคก./ลบ.ม. ส่วนภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 32-79 มคก./ลบ.ม. โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งการชิงเก็บ ลดการเผา

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงฯ วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยขอให้ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ ลดโอกาสการเกิดไฟป่า บรรเทาปัญหาหมอกควันและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายสุพิศกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงฯ ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.66 เป็นต้นไป เพื่อทำฝนบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าในทุกๆ ปี ภาคเหนือจะได้รับอิทธิพลจากบริเวณความกดอากาศสูง และคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกที่แผ่ปกคลุม ทำให้มีโอกาสเกิดฝน 3-5 วันต่อเดือน และติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเหมาะสมและเข้าเงื่อนไข โดยมีพื้นที่เป้าหมายช่วยเหลือจำนวน 6 ดอย ได้แก่ บริเวณดอยพระบาท จ.ลำปาง, ดอยจระเข้ จ.เชียงราย, ดอยกองมู จ.แม่ฮ่องสอน, ดอยขะม้อ จ.ลำพูน, ดอยหลวงและดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังรอยต่อระหว่างจังหวัดจำนวน 19 รอยต่อของพื้นที่ภาคเหนือที่อาจเกิดไฟป่าอีกด้วย

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์ค่อนข้างน่ากังวล จากบริบทปัจจัยในด้านต่างๆ ทั้งอากาศหนาวนาน แห้งแล้ง การสะสมของปริมาณเชื้อเพลิง วิถีชีวิตซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาเหล่านี้ยังคงทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ล่าสุดมลพิษทางอากาศก็เกินค่ามาตรฐานสูงขึ้นต่อเนื่อง

วันเดียวกัน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งขนจมูกไม่สามารถกรองได้ และอาจมีสารพิษเกาะติดมาด้วย สามารถเข้าสู่ ทางเดินหายใจเข้าไปยังถุงลมและแทรกซึมผ่านเข้าไปยังหลอดเลือดฝอยและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น ไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้น ได้แก่ ทำให้ไอ จาม ระคายเคืองตา แสบตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง เกิดผื่นคัน และก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ มะเร็งปอด ระบบหัวใจและหลอดเลือด หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง คลอดก่อนกำหนด ทารกคลอดน้ำหนักตัวน้อย นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อพัฒนาการและระบบสมองของทารก

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า การดูแลเด็กให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้สวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์

เมื่อวันศุกร์ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เนื่องจากหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคกลาง มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานหลายแห่ง ศธ.มีความเป็นห่วงนักเรียนอย่างมาก และที่ผ่านมาได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยต่อนักเรียนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ศธ.ได้ประกาศมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งกำหนดมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานและสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกัน และตนจะกำชับให้แต่ละสถานศึกษาดูว่าในพื้นที่ของตนนั้นค่าฝุ่นเป็นเช่นไร และขอให้แต่ละพื้นที่ดูแล เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนต่อได้ หากโรงเรียนอยู่ในพื้นที่สีแดงและสีส้ม ขอให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบกับสุขภาพของนักเรียน

"แต่ละพื้นที่จะมีบริบทไม่เหมือนกัน มีความรุนแรงของ PM 2.5 ไม่เหมือนกัน ขอให้สถานศึกษาติดตามข่าวสารและคอยอัปเดตข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ อยู่เสมอ ทั้งนี้ ศธ.ได้ให้อำนาจกับผู้อำนวยการโรงเรียนพิจารณาว่าควรจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนหรือไม่ เช่น หากพบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดงหรือสีส้ม ก็อาจจะสั่งหยุดเรียนออนไซต์ และให้นักเรียนไปเรียนออนไลน์ เป็นต้น แต่การพิจารณาหยุดเรียนหรือปรับการเรียนการสอนนั้น ขอให้ประสานและทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองด้วย โดยให้ดูว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งและมีมาตรการรับมืออย่างไร และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีโรงเรียนไหนหยุดเรียนไปแล้วบ้าง" น.ส.ตรีนุชระบุ

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ข้อมูลวันที่ 2 ก.พ. พบว่าภาคเหนือ 17 จังหวัด มีจำนวนการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 ก.พ.66 จำนวน 14,432 จุด ซึ่งภาพรวมการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ปภ.ได้ร่วมกับกองทัพบกจัดส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน  2 ลำ พร้อมด้วยนักบิน ช่างประจำอากาศยาน และชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ร่วมสนับสนุนภารกิจควบคุมไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.66 เป็นต้นไป

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า สิ่งที่ ก.ก.เล็งเห็นว่าเป็นมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ คือ ในด้านโครงสร้างอำนาจ จะต้องมีการผ่าน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สามารถบังคับใช้มาตรการควบคุมมลพิษได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาจากโครงสร้างอำนาจ ที่กรมควบคุมมลพิษไม่สามารถออกมาตรการเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้ การมีกฎหมายมารองรับให้อำนาจส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ต่างๆ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ จ.พิษณุโลก สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศกรมควบคุมมลพิษ เวลา 09.00 น. วัดได้ 152 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 262 AQI เป็นค่าที่กระทบต่อสุขภาพต่อเนื่องเป็นวันที่สองแล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา วัดได้ 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน PM. 10 มีค่า 214 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน

เบื้องต้นนายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนว่า ในขณะนี้คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก คนชรา และกลุ่มผู้เป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท  หลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกอาคาร ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราเข้มงวด ประกาศเสียงตามสาย ห้ามการเผาขยะ กิ่งไม้ใบหญ้าและวัสดุอื่นๆ ทุกชนิด พร้อมกับส่งรถน้ำทำการออกล้างถนนสายต่างๆ โดยเฉพาะสายหลักกลางเมืองพิษณุโลก อาทิ ถนนเอกาทศรถ ถนนสายบรมไตรโลกนาถ เพื่อลดความเข้มข้นของฝุ่นลง นำรถน้ำออกฉีดในพื้นที่สวนสาธารณะเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ ลดฝุ่นที่เกาะตามใบไม้ลง

นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก กล่าวว่า ปัจจุบันทางเทศบาลนครพิษณุโลกได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่า PM 2.5 ไว้ภายในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกทั้ง 8 จุด ในพื้นที่ชุมชนและการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ในอนาคตก็จะติดตั้งเพิ่มขึ้นให้ครบ  30 จุด เพื่อตรวจวัดค่า PM 2.5 และฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว ทั่วเมืองพิษณุโลก หากเกิดสถานการณ์ค่า PM 2.5 เพิ่มจนเป็นสีแดง จะนำรถน้ำไปทำความสะอาดและพ่นละอองฝอยเพื่อลดความเข้มข้นอีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง