แอมเนสตี้หนาว!‘ดอน’ยกฝรั่งยังชำระล้างNGO

“บิ๊กตู่” ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีทั้งหมด สหรัฐไม่เชิญประชุมสุดยอดประชาธิปไตยไม่เป็นไร กำลังประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป แอมเนสตี้หนาว! "ดอน" เผยหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เวลาพิจารณาบทบาทของเอ็นจีโอจะพบว่ามีเอ็นจีโอที่ดีกับที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เขาก็จะจัดการชำระล้าง

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์กรณีสหรัฐอเมริกาจัดประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างวันที่ 9-10 ธ.ค.2564 ได้เทียบเชิญ 110 ชาติ โดยไม่มีประเทศไทยเข้าร่วมประชุมนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ เวลา 15.00 น. ตนจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 (ASEM 13) ผ่านระบบการประชุมทางไกลจากตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และไม่มีปัญหาอะไรยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีทั้งหมด

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องสหรัฐนั้น นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ได้ชี้แจงไปแล้ว เราต้องวางตัวเองให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม

"ผมก็ระวังที่สุดในเรื่องนี้ อะไรที่จะทำให้เกิดความเสียหายหรือทำให้ประเทศเรามีปัญหาเราก็ต้องพิจารณา นายกรัฐมนตรีไม่เคยหยุดงาน ทำให้ทุกอย่าง ทุกคน ประชาชนคนไทยทุกคนเราคือคน ไทยด้วยกันไม่ใช่หรือ เราก็ต้องร่วมมือกันต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าเราสร้างความขัดแย้งไปเรื่อยๆ มันไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงในโอกาสต่อไปก็แล้วแต่ คำนึงถึงภาระงบประมาณด้วยประชาชนเองก็ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย"

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกลุ่มคนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ขับไล่องค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย) ว่ากำลังให้มีการดำเนินการและให้ตรวจสอบทางกฎหมาย ดูอยู่ว่ามีความผิดอะไรหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ที่มีการจดทะเบียนไว้หรือไม่อย่างไร ซึ่งถ้าผิดก็ต้องยกเลิก ยอมรับว่าเป็นแรงกดดันพอสมควร ซึ่งตนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ในการที่จะมาให้ร้ายกับประเทศของเรา

นอกจากนี้ ในเรื่องของเอ็นจีโอก็กำลังดำเนินการทางกฎหมาย ในการที่จะทำให้เหมือนกับต่างประเทศ โดยจะต้องมีการขึ้นทะเบียนควบคุม แจ้งที่มาของแหล่งเงินต่างๆ ขณะนี้กฎหมายอยู่ระหว่างเข้าสู่ การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลาพอสมควร โดยเฉพาะกฎหมายต่างๆ บางครั้งก็ต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้กฎหมายไม่ได้มีการปรับปรุง แต่วันนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการปรับปรุง กฎหมายหลายพันฉบับอยู่ในคิวลำดับที่ต้องแก้ไขทั้งหมดให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ว่าเราจะอยู่อย่างไรกับ new normal และ next normal และ มาตรการครอบจักรวาล สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คนไทยต้องรู้จักและเข้าใจ

ด้านนายดอนกล่าวว่า อยากบอกว่าหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ยกตัวอย่างบางประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนเรา เวลาที่มีการพิจารณาบทบาทของเอ็นจีโอจะพบว่ามีเอ็นจีโอที่ดีสำหรับบ้านเมือง กับที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เขาก็จะจัดการชำระล้าง ฉะนั้นเราจึงหวังว่าเอ็นจีโอที่อยู่กับเราเป็นเอ็นจีโอที่เข้าใจเรา เข้าใจประเทศและคนไทย และอีกหลายเรื่องราวในบ้านเมืองของแต่ละที่มีความหลากหลาย หากจะเอาไม้บรรทัดอันเดียวกันมาวัดมันไม่มีทาง

"แต่ละบ้านเมืองปกครองด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน มาจากเงื่อนไขของสังคม วัฒนธรรม การเมือง และอื่นๆ แตกต่างกัน ต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่เอาบรรทัดฐานเดียวกันแล้วมาวัดในทุกเรื่อง เอาทฤษฎีรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมาบอกว่าต้องเป็นไปตามทฤษฎีนั้นๆ คงไม่ได้ เนื่องจากหลายอย่างเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เงื่อนไขสังคม ความเป็นคนของแต่ละชาติที่แตกต่างกัน จึงต้องเข้าใจในเรื่องความหลากหลาย เป็นสิ่งที่มีอยู่ในประเทศ ดังนั้นเราจึงจะจัดการกับความหลากหลายที่มีอย่างไร"

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไทยควรมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องนี้ นายดอนปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า เราตีความเอาเองแล้วกัน เพราะเอ็นจีโอมีทั้งดีและไม่ดี

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาได้มีการเชิญแอมเนสตี้มาชี้แจงทำความเข้าใจบ้างหรือไม่ รมว.การต่างประเทศตอบว่า ตนทำงานกับเอ็นจีโอมา 34 ปี ทำไมจะไม่รู้เรื่อง รู้ธรรมชาติและวิธีคิดของเอ็นจีโอ และรู้ว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น

ขณะที่นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้กรณีสหรัฐไม่เชิญไทยร่วมการประชุม Summit for Democracy ว่า

1.ไทยรับทราบเกี่ยวกับการประชุม Summit for Democracy ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประธานาธิบดีสหรัฐ ตั้งแต่การรณรงค์หาเสียง และไทยไม่ได้มีข้อห่วงกังวลว่าจะได้รับเชิญหรือไม่ โดยขึ้นกับดุลพินิจของสหรัฐ ในฐานะผู้จัด ที่อาจจะมีเหตุผลหรือปัจจัยในการพิจารณาของตนเอง

2.ไทยยังคงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ทั้งที่ได้รับเชิญและมิได้รับเชิญ

และ 3.ที่ผ่านมาไทยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น Bali Democracy Forum ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นประจำทุกปี และมีบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์มาโดยตลอด

ภายหลังจากที่กลุ่มประชาชนปกป้องสถาบันร่วมเข้าชื่อเพื่อขับไล่องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกไปจากประเทศไทยโดยยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้กระทรวงมหาดไทยและเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบแล้ว นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยว่า หากพบแอมเนสตี้ได้กระทำความผิด หรือเข้าข่ายดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ในการขอจัดตั้งสมาคม ทางกรมการปกครองก็จะดำเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือวิปกครอง โดยมีขั้นตอนคือต้องแจ้งไปทางแอมเนสตี้เพื่อสามารถที่จะให้ทางสมาคมแก้ต่างและอุทธรณ์ได้ โดยกรมการปกครองจะมีคำสั่งถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียน และยกเลิกการดำเนินกิจการของสมาคมแอมเนสตี้ทันที หากทางแอมเนสตี้ไม่พอใจสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองได้

สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 102 ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อปรากฏในภายหลังการจดทะเบียนว่าวัตถุประสงค์ของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และนายทะเบียนได้สั่งให้แก้ไขแล้วแต่สมาคมไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

(2) เมื่อปรากฏว่าการดำเนินกิจการของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ

(3) เมื่อสมาคมหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันตั้งแต่สองปีขึ้นไป

(4) เมื่อปรากฏว่าสมาคมให้หรือปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการของสมาคมเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคม

และ (5) เมื่อสมาคมมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าสิบคนมาเป็นเวลาติดต่อกันกว่าสองปี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง