‘ซานต้าตู่’สั่ง ทุกหน่วยงาน ผุด‘ของขวัญ’

“ซานต้าตู่” สั่งทุกกระทรวงเตรียมของขวัญรับปีใหม่ แต่กำชับห้ามเป็นภาระต่อรัฐบาลหน้า “คลัง” ศึกษาเก็บภาษีความเค็ม แต่ยังอีกยาว ต้องรอเศรษฐกิจฟื้นตัว จีดีพีอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลเตรียมให้ประชาชนว่า ทุกกระทรวงต้องเตรียมอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องการดูแลประชาชนในช่วงปีใหม่อะไรทำนองนี้ และเรื่องใหม่ๆ ที่จะทำออกมา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนทุกภาคส่วน ส่วนข่าวคราวที่บอกว่าจะให้โน่นให้นี่ก็อย่าเพิ่งไปฟัง เอาเป็นว่าถ้าจะประกาศอะไรก็ตาม ถ้างบประมาณไม่มีก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว อย่าให้ต้องเป็นภาระกันต่อไป ซึ่งเป็นห่วงต่อไปนี้

“ถ้ามันจำเป็นต้องทำก็ต้องทำ วันหน้าถ้ามีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาเขาต้องรับผิดชอบไปเรื่อยๆ ผมก็ระมัดระวังอย่างที่สุด ทุกอย่างต้องไม่เป็นภาระซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุและผล และความจำเป็นที่ต้องทำในเรื่องนี้ร่วมกัน เรื่องการบริหารงบประมาณเข้าใจหรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะแตกไปหมด ทุกคนถ้าพูดเรื่องของตัวเองโดยไม่คำนึงเรื่องของคนอื่นก็ไปด้วยกันไม่ได้ ผมจำเป็นต้องพิจารณาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน”

ด้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกฯ กล่าวหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมการเงินโคราช ครั้งที่ 15 ถึง นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอยู่ ทั้งเราเที่ยวด้วยกัน, ไทยเที่ยวไทย, คนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นมาตรการที่สำคัญ และต้องทำต่อเนื่องไป จนกว่าร่างกายเราจะเข้มแข็ง จนกว่าเศรษฐกิจเราจะกลับมา ซึ่งในปี 2565 ถ้าไม่พลิกล็อก ไวรัสไม่กลายพันธุ์ เศรษฐกิจโลกจะกลับมาโตประมาณ 5% และไทยน่าจะโต 3% แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องน้ำมันที่กลับมาสูงขึ้น และที่น่ากลัวเรื่องภาวะเงินเฟ้อของโลก

“วันนี้เราต้องสร้างแพลตฟอร์มใหม่ในเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภค เศรษฐกิจโลก มหาอำนาจ การเมืองโลก เทคโนโลยีต่างๆ Block Chain, Digital Economy ต่างๆ มาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ฉะนั้น เราต้องมาจัดทำแพลตฟอร์มใหม่ ว่าประเทศไทยจะเติบโตกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดูแลกลุ่ม SME จะทำอย่างไรให้เข้มแข็ง ต้องมีการปรับปรุงการใช้ Digital Transformation และการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป” นายสุวัจน์กล่าว

วันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวในงานสัมมนาการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความเค็มตามปริมาณโซเดียม และจะดำเนินมาตรการในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป โดยมีเป้าหมายให้การบริโภคโซเดียมของคนไทยในแต่ละวันให้น้อยกว่า 20% ต่อคนต่อวัน หรือเหลือ 2,800 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน จากอัตราการบริโภคของคนไทยในปัจจุบันที่ 3,600 มก.ต่อคนต่อวัน และมีเป้าหมายให้ลดต่ำกว่า 2,000 มก.ต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาข้อมูลขององค์การอนามัยโลก

“ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และไตวายเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น โดยมาจากการบริโภคหวาน มัน เค็ม ที่ผ่านมาคลังได้จัดเก็บภาษีจากความหวานไปแล้ว ก็ได้ผลดี ต่อไปก็เป็นภาษีจากความเค็ม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากโรคเรื้อรังส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียค่าใช้จ่ายและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนจะเริ่มจัดเก็บภาษีจากความเค็มได้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายอาคมกล่าว

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของภาษีโซเดียม ไม่ได้มุ่งเป้าหมายเพิ่มรายได้ของรัฐบาล แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและการสูญเสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมเกินพอดี เพิ่มทางเลือกของสินค้าที่มีโซเดียมต่ำในท้องตลาดมากขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนการจัดเก็บยังต้องดูความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมรวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเวลานี้ยังไม่เหมาะจะดำเนินการ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว โดยมองว่าหากมูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท อาจจัดเก็บภาษีจากความเค็มได้ และยังต้องให้ผู้ประกอบการปรับตัว ซึ่งอาจต้องให้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีก่อนจัดเก็บภาษีจริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง