‘ส.ว.สมชาย’ชง สอบท่อนํ้าเลี้ยง ไล่บี้‘แอมเนสตี้’

“แรมโบ้” ออกแถลงการณ์ถล่ม "แอมเนสตี้" ส่งเสริมการละเมิดสิทธิ สนับสนุนการชุมนุมที่มีการปาระเบิด ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ เผาทรัพย์สินราชการ ก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน  ขณะที่ ส.ว.สมชายจี้ ปปง.สอบเส้นทางการเงิน รวมถึงบางพรรครับเงินต่างชาติมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ เพราะเข้าข่ายยุบพรรค

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  ว่า การที่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแคมเปญรณรงค์ชวนคนไทยและคนทั่วโลก บอกรัฐบาลไทยให้ยุติการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมผู้เป็นจำเลยในคดีอาญานั้น เป็นการส่งเสริมการละเมิดสิทธิภายใต้หน้ากากขององค์กรสิทธิมนุษยชน

ในประเทศที่เป็นนิติรัฐทั้งหลาย บุคคลจะมีเสรีภาพทำได้ทุกอย่าง เว้นแต่สิ่งที่กฎหมายห้ามไว้ สิ่งที่กฎหมายห้ามนั้นไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิ หากเป็นไปเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคนในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ แต่ในช่วงเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการละเมิดทั้งกฎหมายและการละเมิดสิทธิของผู้อื่นมากมายโดยอ้างคำว่า “เสรีภาพ” ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในช่วงเวลาที่มีกฎหมายห้ามด้วยเหตุผลเพื่อการควบคุมโรคระบาด การแสดงออกที่เป็นการละเมิดสถาบันหลักของชาติ และเกินเลยไปถึงการก่อความไม่สงบ ปาระเบิด ปาประทัด ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่เผาทรัพย์สินราชการก่อความเดือดร้อนรำคาญ รบกวนความเป็นอยู่อันปกติสุขของชาวบ้านในเขตที่พักอาศัย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา การกระทำเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมให้ท้ายโดยองค์กรที่เรียกตัวเองว่าองค์กรสิทธิมนุษยชน พฤติกรรมที่อ้างเสรีภาพมาละเมิดสิทธิผู้อื่นโดยไม่แยแสกฎหมายไม่อาจเรียกว่า “ประชาธิปไตย” แต่เป็น “อนาธิปไตย”

การส่งเสริมการละเมิดกฎหมายและเรียกร้องให้ละเว้นการใช้กฎหมายไม่อาจเรียกว่าเป็นการ “ปกป้องสิทธิ” แต่เป็นการ “ส่งเสริมการละเมิดสิทธิ” ผมขอยืนยันว่าองค์กรที่มีพฤติกรรมดังกล่าวไม่ควรมีที่อยู่ที่ยืนในสังคมประชาธิปไตย ถ้าไม่ยึดหลักกฎหมายไทย ยังออกมามีท่าทีเคลื่อนไหวทำลายความมั่นคงแห่งรัฐไทย คนไทยคงทนไม่ไหวอาจจะจัดการขั้นเด็ดขาด ถึงวันนั้นจะสายเกินเยียวยาและพบจุดจบที่ไม่สวยงามอย่างแน่นอน"

นอกจากนี้ นายเสกสกลยังให้สัมภาษณ์ว่า การที่แอมเนสตี้ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มม็อบ ก็ควรที่จะคิดปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศด้วยที่ถูกละเมิดสิทธิเช่นเดียวกัน เพราะถูกละเมิดสิทธิจากม็อบสามกีบเหล่านี้อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบ ได้รับความเดือดร้อนจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบเหล่านี้ นี่หรือคือองค์กรที่กล้าออกมาพูดปกป้องสิทธิให้ประชาชน ปกป้องคนชั่วๆ เลวๆ ที่ทำลายประเทศไทย ทำลายสถาบัน ยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยกให้ประเทศไทยวุ่นวาย ทำไมไม่ออกมาตักเตือนม็อบเหล่านี้ให้หยุดพฤติกรรมลิดรอนสิทธิคนอื่นบ้าง

"องค์กรที่มีเป้าหมายแอบแฝงสนับสนุนคนออกมาให้ฝ่าฝืนทำผิดกฎหมายของไทยเช่นนี้ การชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายสร้างความรุนแรง สร้างความเสียหายอย่างมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับการบาดเจ็บสาหัสไม่น้อย ซึ่งผมเองไม่แน่ใจว่าแอมเนสตี้เห็นการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ คงแกล้งปิดหูปิดตาหูหนวกเป็นใบ้หรือเปล่า ขออย่าทำงานแค่คำว่า ต้องออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนมันเป็นข้ออ้างวาทกรรมมากกว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น ทุกคนเข้ามาอาศัยผืนแผ่นดินไทยต้องทำตามกฎหมายของไทย อย่าคิดว่ามาอยู่ประเทศไทยแล้วจะมาทำผิดกฎหมายไทยได้ เรื่องนี้ตนเองพร้อมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมอย่างแน่นอน และจะเดินหน้าตรวจสอบและขับไล่องค์กรทุกองค์กรที่มีพฤติกรรมบ่อนทำลายความมั่นของประเทศไทยต่อไปอย่างถึงที่สุด" นายเสกสกลกล่าว

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นด้วยกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ นายกฯ มีอำนาจสั่งการได้อยู่แล้วว่ามีการจดทะเบียนดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เพราะบทบาทของแอมเนสตี้ประเทศไทยถูกตั้งข้อสังเกตมีการชี้นำการชุมนุม สนับสนุนทางการเงินในการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่หน่วยข่าวและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ควรไปตรวจสอบองค์กรเหล่านี้

"คงไม่ใช่แค่เฉพาะแอมเนสตี้ประเทศไทย แต่รวมถึงองค์กรอื่นๆ ว่ามีการปฏิบัติเกินหน้าที่ขอบเขตของตัวเองหรือไม่ จะได้ทราบว่าเป็นเรื่องความผิดเฉพาะตัวบุคคลในองค์กร หรือเกี่ยวข้องกับทั้งองค์กร ถ้าเป็นเรื่องตัวบุคคล ต้องแจ้งให้แอมเนสตี้สากลทราบ เพื่อเปลี่ยนตัวบุคคล แต่ถ้าเป็นเรื่องทั้งองค์กรก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายฐานแทรกแซงประเทศอื่น"

ส.ว.ผู้นี้กล่าวอีกว่า การที่นายกฯ สั่งตรวจสอบแอมเนสตี้ประเทศไทย ไม่ใช่การเล่นงานฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่เป็นการตรวจสอบกลุ่มทำร้ายประเทศไทยว่า มีบุคคลแฝงตัวเข้ามาทำลายความมั่นคงของประเทศหรือไม่ ทุกวันนี้ประเทศไทยมีเอ็นจีโอเป็นหมื่นคน ส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเอ็นจีโอดี อีก 3-5% แฝงเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์การเมือง บางส่วนเข้ามาสนับสนุนความรุนแรงในการชุมนุมหรือเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถ้ามีเจตนาเข้าข่ายทำลายความมั่นคงประเทศ คงไม่มีประเทศใดยอมได้

นายสมชายกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ควรตรวจสอบไปถึงพรรคการเมืองว่ามีพรรคใดรับเงินคนต่างชาติมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ เข้าข่ายมีความผิดยุบพรรค ทั้งนี้ ในการประชุม กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา วันที่ 29 พ.ย. จะนำเรื่องการเคลื่อนไหวเกินขอบเขตของเอ็นจีโอมาหารือใน กมธ. และเตรียมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยข่าวกรอง ปปง. มาให้ข้อมูลว่าเคยมีการตรวจสอบติดตามการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอเหล่านี้ที่มีความเชื่อมโยงกับการชุมนุมในประเทศไทยที่มีการใช้ความรุนแรงหรือเกี่ยวกับความมั่นคงประเทศหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้แจ้งต่อรัฐบาลต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง