‘4วัคซีน’ใกล้เป็นจริง! ทดลองในมนุษย์แล้ว

เร่งฉีดวัคซีน ล่าสุดสะสมแล้วกว่า 92 ล้านโดส รองโฆษกรัฐบาลเผยวัคซีนไทย 4 ตัวใกล้ความจริง  อยู่ในขั้นทดสอบในมนุษย์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาเป็นระยะ รวมวงเงิน 4.8 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 พ.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 922,987 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 91,658,056 โดส

อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันหมอพร้อมรายงานว่า การฉีดวัคซีนล่าสุด ณ เวลา 12.22 น. วันที่ 27 พ.ย. ฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 92,050,764 โดส เป็นเข็ม 1 สะสม 47,807,807 โดส, เข็ม 2 สะสม 40,953,796 โดส และเข็ม 3 สะสม 3,276,757 โดส

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความก้าวหน้าการวิจัยวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งได้รับการรายงานว่า ขณะนี้ทั้ง 4 วัคซีนกำลังอยู่ในขั้นทดสอบในมนุษย์ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาเป็นระยะ รวมวงเงิน 4.8 พันล้านบาท

กล่าวคือ วัคซีน NDV-HXP-S ที่พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ  (สวช.) แล้ว 45.88 ล้านบาท ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 แล้วตั้งแต่ 16 ส.ค.64 คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนนี้ (ธ.ค. 64) อยู่ระหว่างทำคำของบประมาณเพื่อรับการสนับสนุนสำหรับการทดสอบระยะที่ 3

วัคซีน Chula-Cov19 พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) จำนวน 375 ล้านบาท ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 เริ่ม ส.ค.64 คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนธันวาคมนี้ และสำหรับการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ครม.ได้อนุมัติงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัปของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 160 ล้านบาท ในช่วงต้น ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 เริ่ม ตั้งแต่ ต.ค. 64 และล่าสุด ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท จากพ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ด้วย

และวัคซีนโควิเจน โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ได้รับงบประมาณจาก พ.ร.ก. เงินกู้แล้ว 650 ล้านบาท ได้ทำการสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 แล้วตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 64 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการทดสอบในระยะที่ 2

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสัญชาติไทยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการ R&D การทดสอบประสิทธิภาพ การขึ้นทะเบียนเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ครบวงจร เสริมความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศ ถือเป็นอีกความหวังในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการสาธารณสุขของประเทศในระยะยาวด้วย” น.ส.รัชดา กล่าว

เนื่องในวันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ กรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ที่สุดวัคซีนแห่งปี” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,172 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 32.0 อยากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์มากที่สุด รองลงมาร้อยละ 25.4 อยากฉีดของโมเดอร์นา และร้อยละ 10.4 อยากฉีดของแอสตร้าเซนเนก้า

สำหรับความพึงพอใจต่อการรับวัคซีน โควิด-19 พบว่า ในภาพรวมได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 3.33 คะแนน ซึ่งแปลผลได้ว่ามีความพึงพอใจระดับปานกลาง โดยเรื่องที่พึงพอใจมากที่สุดคือการบริการ ช่องทางในการไปรับการฉีดวัคซีน ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.65 คะแนน รองลงมาคือการแจ้งข่าว ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัคซีนได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.54 และความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครบทั้งประเทศ ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.42 คะแนน ส่วนเรื่องที่พึงพอใจน้อยที่สุดคือการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ต้องรอการฉีดวัคซีน การล็อกดาวน์ประเทศ ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.89 คะแนน

เมื่อถามถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่นึกถึงมากที่สุด เมื่อพูดถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ปี 2564 พบว่า ประชาชนร้อยละ 39.9 นึกถึงหมอทวีศิลป์มากที่สุด รองลงมาร้อยละ 23.5 นึกถึงหมอยง และร้อยละ 15.3 นึกถึงหมอเบิร์ท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง