31พรรคลงนามจรรยาบรรณ

กกต.พร้อมแล้ว รับสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์-แบ่งเขต เผยพรรคการเมืองระวังตัวแจไม่หลุดปมใหญ่สังกัด 30 วัน ขณะพี่พรรคพี่น้อง 2 ป. จับมือกันโดดร่มไม่ร่วมลงนาม จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง บัวแก้วเผยคนไทยต่างแดนลงทะเบียนใช้สิทธิ์แล้ว 2.4 หมื่นคน ด้าน สตช.สแกนยิบซุ้มมือปืน-ผู้มีอิทธิพล

เมื่อวันพุธ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ในวันที่ 30 มี.ค.2566 ว่าเรื่องนี้อยู่ในชั้นศาล ตนยังพูดอะไรมากไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเราทำตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในการแบ่งเขต ทั้งนี้ กกต.ได้มอบหมายให้ผู้แทนไปชี้แจง อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาอย่างไร

นายแสวงกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่า วันนี้เราได้ซักซ้อมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าของพื้นที่ การไฟฟ้านครหลวง และสำนักงาน กกต. เพื่อซักซ้อมรับมือพรรคการเมืองที่จะมาสมัครเพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่พรรคการเมืองและผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมีความพร้อม

ทั้งนี้ การรับสมัครจะมีขึ้นที่อาคารไอราวัฒพัฒนา เขตดินแดน กรุงเทพฯ เริ่มรับสมัครวันที่ 4-7 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ทั้งนี้ การจับสลากหมายเลขผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ใครที่มาก่อนเวลา 08.00 น. จะได้สิทธิการจับสลาก แต่ถ้าหากใครมาหลังเวลาดังกล่าว ก็จะได้หมายเลขเรียงลำดับถัดไป ทั้งนี้ เงื่อนไขการลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจะต้องผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน

"ส่วนการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3 เม.ย. ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 กรุงเทพฯ เริ่มรับสมัครวันที่ 3-7 เม.ย. เวลา 08.30-16.30 น. ซึ่งจะมีผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งแต่ละเขตจะเป็นผู้รับสมัคร โดยจะเป็นคนละส่วนความรับผิดชอบกับสำนักงาน กกต. สำหรับจังหวัดอื่นๆ ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการ กกต.แต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนด" นายแสวงระบุ 

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 จะใช้รูปแบบบัตรลงคะแนน 2 ใบ ประกอบด้วยบัตรลงคะแนนผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัตรลงคะแนนผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะไม่ใช่เบอร์เดียวกัน แต่ก็มีความเป็นได้ที่จะได้เบอร์เดียวกันทั้ง 2 ใบ ในกรณีที่จับสลากได้หมายเลขเดียวกัน

นายแสวงกล่าวถึงการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าว่า เราเตรียมระบบไว้ดีแต่ชี้แจงประชาชนไม่ละเอียด ทำให้ช่วงแรกเกิดความสับสนอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ก็น่าจะแก้ไขแล้ว ทั้งในส่วนสำนักงาน กกต. และสื่อมวลชนที่ชี้แจงต่อประชาชน ซึ่งก็น่าจะเป็นระบบและเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อยแล้ว ส่วนปัญหาการลงทะเบียนแล้วระบบผิดพลาดให้ใช้สิทธิในวันที่ 14 พ.ค. แล้วไม่สามารถยกเลิกได้นั้น ตอนนี้สำนักงานทราบเรื่องแล้ว และจะนำไปแก้ไขเพื่อรักษาสิทธิของประชาชนโดยเร็ว

เมื่อถามว่า กรณีตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง กกต.จะมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ เพราะในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส.ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหลังเลือกตั้ง นายแสวงกล่าวว่า เราตรวจมาตรฐานเดียว โดยได้รับความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ประมาณ 26 หน่วยงาน โดยมีการซักซ้อมกันแล้ว เราก็จะตรวจตามมาตรฐาน ทั้งนี้ คุณสมบัติบางเรื่องไม่ได้อยู่ในหน่วยงานของรัฐที่สามารถตรวจสอบได้ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของเขาเอง กฎหมายถึงต้องเขียนว่ารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิมาใช้สมัคร ซึ่งบางเรื่องเราไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะอยู่นอกเหนือฐานข้อมูลราชการ

"อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในการสมัครรับเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ พรรคการเมืองมีความระวัง โดยวิธีปฏิบัติ พรรคการเมือง หรือผู้สมัครจะมีการประสานกับผู้อำนายการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อดูหลักฐานก่อนส่วนหนึ่ง ขณะที่หัวหน้าพรรคเองก็มีการส่งข้อมูลให้ กกต.ตรวจสอบก่อนในระดับหนึ่ง เพียงแต่บางอย่างผู้สมัครเองอาจจะหลงหรือมาเจอทีหลัง อย่างไรก็ตาม ส่วนมากจะไม่เกิดเรื่องอย่างนี้ แต่เรื่องที่ไปที่ศาลฎีกามากที่สุดคือเรื่องความเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่งช่วงนี้ต้องเป็นสมาชิกพรรค 30 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง สำหรับที่มีการย้ายพรรค ซึ่งเราก็มีระบบฐานข้อมูลดูอยู่แล้ว" นายแสวง ระบุ

ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ได้การจัดพิธีลงนาม "จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566" และ "สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ.2566" เพื่อส่งเสริมให้ “การเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ยกระดับระบอบประชาธิปไตยของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้นไปอีก” โดยภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ภาคประชาสังคม องค์กรสื่อ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมลงนามจรรยาบรรณฯ    โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วม 34 พรรคการเมืองเข้าร่วมลงนาม ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ 

นายโคทม อารียา ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และอดีต กกต. กล่าวว่า ในจรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้งนั้น ยังสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ที่ครอบคลุมไปถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบในการหาเสียงเลือกตั้ง และการหาเสียงเลือกตั้งที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงและบุคคลทุกเพศสภาพ เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ในการสื่อสารทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ทั้งในโลกออนไลน์และทางกายภาพ และสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมืองเรื่องการเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงความคืบหน้าการเตรียมจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า จะมีการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ, กกต.,  กระทรวงมหาดไทย และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อีกครั้งในวันที่ 30 มี.ค.นี้ เพื่อหารือติดตามการเตรียมการต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศยังดำเนินการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุลที่ประจำการสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก โดยจะมีการอบรมดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ขณะที่ กกต.ได้ให้การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ คูหาเลือกตั้ง สายรัดหีบบัตรเลือกตั้ง แถบพลาสติก และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งเราได้ดำเนินการจัดส่งไปให้สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกแล้ว

นายณรงค์กล่าวอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศขอเชิญชวนคนไทยในต่างประเทศไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยสถิติล่าสุดมีคนไทยที่ลงทะเบียนแล้ว 24,005 คน ซึ่งประเทศที่มีผู้ลงทะเบียนสูงสุด คือ ออสเตรเลีย ตามด้วยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนี ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีคนไทยอยู่จำนวนมาก ส่วนรูปแบบการลงคะแนนนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบที่เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไทยในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตามระเบียบของ กกต.กำหนดให้จัดการลงคะแนนเลือกตั้งในช่วงวันที่ 24 เม.ย.- 5 พ.ค.นี้ โดยต้องจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 12 วันก่อนวันเลือกตั้งในประเทศ เนื่องจากต้องส่งบัตรเลือกตั้งกลับมาให้ทัน ขณะเดียวกันเรามีระบบติดตามและตรวจสอบทุกขั้นตอนในการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง โดยกลับมานับคะแนนที่กรุงเทพฯ

วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วงก่อนการเลือกตั้งว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ตำรวจทุกหน่วยวางแผนเตรียมการปฏิบัติ โดยเฉพาะตนเองที่ได้รับมอบหมายปฏิบัติภารกิจในศูนย์ป้องกันและปราบปรามมือปืนรับจ้างและผู้มีอิทธิพล ซึ่งมีพล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ได้สั่งการให้ตำรวจทั่วประเทศเก็บรวบรวมข้อมูลมือปืนรับจ้างและผู้มีอิทธิพล และได้ปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

 “จนถึงขณะนี้ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ถ้าจุดใดมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นก็จะสั่งการให้กองบังคับการปราบปราม และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้าไปดำเนินการทันทีโดยมีการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ ซึ่งในการประชุมบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติครั้งที่แล้ว ผบ.ตร.สั่งการให้ ผบช.ภ.1-9, บช.น. และ บช.ก. เตรียมความพร้อมในทุกมิติ ให้มีแผนเผชิญเหตุ, สืบสวนเก็บข้อมูลในท้องถิ่น และตั้งด่านปิดล้อมตรวจค้น” พล.ต.ท.สมพงษ์ระบุ

นอกจากนี้ยังมีการติดตามกวาดล้างจับกุมการซื้อขายอาวุธปืนออนไลน์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พบว่าความรุนแรงในช่วงเลือกตั้ง ในการจ้างวานมือปืนรับจ้าง และซุ้มมือปืนต่างๆ เพื่อก่อเหตุกับคู่แข่งหรือหัวคะแนนฝ่ายตรงข้ามนั้นน้อยลงกว่าอดีต เนื่องจากปัจจุบันประชาชนให้ความร่วมมือมากขึ้น เพราะมีทั้งกล้องวงจรปิด กล้องจากโทรศัพท์มือถือ และกล้องติดหน้ารถ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การก่อเหตุยากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง