ทำปชช.เป็นขอทาน ทสท.โต้แจก1หมื่นไร้ยั่งยืน เพื่อไทยขู่ฟ้องคนวิจารณ์!

"กกต." แจงร้องตรวจสอบนโยบายแจก 10,000 บาท กำลังดำเนินการตามขั้นตอน ลัดคิวพิจารณาทันทีไม่ได้ "พท." ขู่ฟ้องพวกวิจารณ์แจกเงินดิจิทัลให้เสียหาย "โภคิน" สะกิดเงินหมื่นไม่สร้างความยั่งยืนทาง ศก. ต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน "จตุพร" จับไต๋ "เศรษฐา" อ้างเท่าเทียมตามรธน. แจกเงินอายุ 16 ปีขึ้นไปแค่เลี่ยง กม. กลัวเริ่มอายุ 18 ปีเข้าข่ายซื้อเสียง ซัดถลุงงบ 5.4 แสนล้านทำกระทบภาระงบประมาณประเทศ เย้ยสโลแกนจาก "คิดใหญ่ ทำเป็น" ควรเพิ่ม "ฉิบหายเป็น" ด้วย "ทนายนกเขา" กังขาเงินดิจิทัลทำเพื่อใครแน่ "โบว์" งงหาเสียงแจกเงินล่วงหน้าเกือบปี แบบนี้ไม่ใช่วิกฤตแล้ว
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ออกเอกสารชี้แจงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตการเดินทางไปต่างประเทศของ กกต. ตอนหนึ่งถึงประเด็นอาจทำให้ไม่สามารถพิจารณาคำร้องเรื่องการหาเสียงตามนโยบายให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท และการขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าว่า ข้อสังเกตดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
โดยกรณีคำร้องนโยบายการหาเสียงการให้เงินทางดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการยื่นคำร้องว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องสำนักงาน กกต.ได้รายงานให้ กกต.ทราบเบื้องต้นแล้ว และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนการไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดก่อน จึงจะเสนอให้ กกต.พิจารณาต่อไป ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบระยะเวลาและขั้นตอนที่กำหนด ไม่อาจยกขึ้นพิจารณาได้ทันที
ประกอบกับขณะนี้มีพรรคการเมืองรายงานเรื่องนโยบายที่ใช้หาเสียงตามมาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เพียง 6 พรรคการเมืองจากจำนวนพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 70 พรรคการเมือง หรือบางพรรคการเมืองยังอยู่ระหว่างการส่งเอกสารเพิ่มเติม จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่ กทม. พรรค พท. กล่าวถึงกรณีหลายพรรคโจมตีนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า ก่อนวิจารณ์คุณต้องศึกษาให้เรียบร้อยก่อน เพราะจะเป็นเรื่องของการใส่ความ ซึ่งในกฎหมายการหาเสียง ห้ามใส่ความผู้อื่นหรือห้ามทำให้ผู้อื่นเสียหาย
"ยืนยันนโยบายที่พรรคเพื่อไทยออกมาทุกนโยบายสามารถทำได้จริง ไม่ต้องห่วง ถ้าคุณมาโจมตีอย่างนี้อาจจะโดนฟ้องกลับได้” นางพวงเพ็ชรกล่าว
น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 กทม. พรรค พท. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่มีประชาชนสอบถามเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลเช่นกัน โดยตนให้ข้อมูลเพื่อให้มีความกระจ่างขึ้น ซึ่งหลังจากที่อธิบายไป ประชาชนหลายคนก็ให้ความสนใจ ถือเป็นเสียงตอบรับที่ดี
เช่นเดียวกับ นายศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 24 กทม. พรรค พท. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบประชาชน ต่างให้ความสนใจกับนโยบายดังกล่าวเช่นกัน และมีแนวคิดถึงขั้นที่ว่าหนึ่งครอบครัวมี 4-5 คน ก็หวังที่จะเอาเงินก้อนมาลงทุนสร้างอาชีพใหม่ให้กับครอบครัว โดยจากที่ฟังเสียงมา หลายคนดีใจและมีความหวังกับนโยบายนี้
ขณะที่นายโภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) แถลงถึงกรณีพรรค พท.มีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยตั้งคำถามว่านโยบายการแจกเงินถูกต้องหรือไม่ ควรทำในระดับที่จำกัด เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในและความฝืดเคืองช่วงต้นๆ เพราะไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ และเงินดิจิทัลคืออะไร ควรแจกทุกคนหรือไม่ ถ้าเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญ ทำไมต้องแจกตั้งแต่อายุ 16 ปี ขณะเดียวกันเห็นว่า Decentralization Finance หรือการเงินแบบไม่รวมศูนย์ มีการสร้างเงินตราขึ้นใหม่ จนทำให้เงินล้นโลก แต่อยู่ในมือคนเพียง 10%
ส่วนเงิน QE หรือนโยบายทางการเงินที่ฉีกกฎนโยบายแบบดั้งเดิม ไม่ทราบว่าเพิ่มเท่าใด และเงินดิจิทัลคิดเป็นมูลค่าหลายล้านๆ ดอลลาร์ จึงเกิดภาวะเงินเฟ้อที่ Fed (The Federal Reserve) ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตลอดตั้งแต่ปี 2565 จนวิตกกันว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย และเกิดการต่อต้านการครอบงำของ USD แจกให้คนจนทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ แต่ก็กลับไปที่คนรวยอีก
นายโภคินกล่าวว่า นโยบายพรรค ทสท.จึงสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตของประชาชน ให้มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี มีความมั่นคงทุกช่วงวัย ต้องสร้างประชาชนให้มีความรู้ ทักษะ มีสุขภาพดี ต้อง Liberate และ Empower ประชาชนต้องสถาปนาความยุติธรรม ต้องขจัดคอร์รัปชันและธุรกิจสีเทา ซึ่งผลของสงครามการเมือง 2 ขั้ว ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ยากจน ความใหญ่โตและสิ้นเปลืองหรือการกดทับของรัฐราชการ การทุจริตคอร์รัปชัน พรรคจึงมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
"การขับเคลื่อนนโยบายทั้งระบบไม่ใช่ประชานิยมแบบที่ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน ต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน เป็นทาสของแต่ละขั้ว อยู่ท่ามกลางความยากจน เกลียดชังซึ่งกันและกันตามความเชื่อที่ผูกพันกับขั้วที่ตนชอบ ถูกหลอกให้เจ็บปวด ล้มตาย ชีวิตครอบครัวล่มสลายมา 90 ปีแล้ว โดยเฉพาะ 17 ปีนี้ยิ่งเลวร้ายที่สุด ดังนั้นต้องใช้เงินสร้างคน จ้างงาน ลดความเครียด ความเสี่ยง แต่ละช่วงวัย เติมความรู้ ทักษะ เติมโอกาสใช้เทคโนโลยีของระบบดิจิทัล อำนวยความสะดวก สร้างพลัง ประชาชนต้องไม่หลงเชื่อหรือเป็นเหยื่อของการชักจูง เพื่อให้พรรคบางพรรคได้อำนาจและพาประเทศไปเสียหายยิ่งกว่าเดิม ต้องลุกขึ้นปฏิวัติ อย่ายอมแพ้อำนาจเงิน ยอมแพ้อำนาจรัฐ ยอมแพ้อำนาจอิทธิพล บ้านใหญ่ต่างๆการชักจูงหลอกล่อ ด้วยการแจกเงินในอนาคตที่ไม่ยั่งยืน และไม่ได้สร้างคนให้เข้มแข็งแต่อย่างใด" นายโภคินกล่าว
จตุพรจวกยับเงินดิจิทัล
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "แจกคนจน-รวยเท่ากัน ตามรัฐธรรมนูญจริงหรือ?" ระบุว่า คำกล่าวอ้างของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ยึดหลักเท่าเทียม รธน. 2560 ในการแจกเงินดิจิทัล จึงเป็นคำพูดที่ขัด รธน. ม.30 เพราะบัญญัติความเท่าเทียมของบุคคลไว้ตั้งแต่เกิด ดังนั้นการแจกเงินตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปจึงไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงต้องคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ถึงที่สุด เพราะสถานการณ์ของประเทศที่แท้จริงยังมีหนี้สาธารณะกว่า 10 ล้านล้านบาท และหนี้ครัวเรือนเกิน 14 ล้านล้านบาท จึงเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ใช่ประเทศมีสถานะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง
"นายเศรษฐาอ้างแจกเงินไม่เริ่มแจกตั้งแต่อายุ 18 ปี เหตุจะเข้าข่ายซื้อเสียง ดังนั้นแสดงถึงการรู้อยู่เต็มอกได้หลีกหนีการซื้อเสียง อย่างไรก็ตาม คำว่าคิดใหญ่ ทำเป็น ควรเพิ่มคำว่าฉิบหายเป็นด้วย เพราะหลากหลายเรื่องราวที่ผ่านมากับการกล่าวอ้างความสำเร็จล้วนเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้ทำสำเร็จแล้วตามคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งเป็นที่สิ้นสุด เหตุนี้การอ้างแจกเงินตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จึงแสดงได้ชัดเจนจะหลีกเลี่ยงการแจกเงินซื้อเสียงให้คนอายุ 18 ปี แต่การใช้งบประมาณมากถึง 5.4 แสนล้านบาทแจกคน 54 ล้านคน จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าคนมีสิทธิ์เลือกตั้งอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปได้รับแจกเงิน 100% จึงย่อมไม่แตกต่างจากการเสนอประโยชน์หรือสัญญาซื้อเสียงล่วงหน้าที่จะจ่ายในเวลา 6 เดือนเมื่อชนะเลือกตั้งหรือได้เป็นรัฐบาลนั่นเอง" นายจตุพรกล่าว
เขากล่าวว่า หลักการช่วยเหลือความเดือดร้อนนั้น ต้องมุ่งไปที่คนเดือดร้อนสูงสุดเพื่อเยียวยาให้มีชีวิตอยู่ได้ จึงต้องแยกระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งคนจนไม่มีความเท่าเทียมเสมอภาคกับคนรวยแน่นอน สิ่งสำคัญเมื่อพรรคเพื่อไทยถูกไล่ต้อนการแจกเงินดิจิทัล ก็แก้ตัวเปลี่ยนมาเรียกเป็นเงินคูปอง เหนืออื่นใดแล้ว โครงการนี้มีหลักคิดใหญ่เป็นเรื่องการตลาดการเมืองที่ต้องการคะแนนเสียงเท่านั้น รวมทั้งนโยบายแจกเงินของพรรคการเมืองอื่นที่เน้นเฉพาะกลุ่ม ไม่หว่านแจกทั่วไปให้ทุกคนเหมือนพรรคเพื่อไทย โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เสนอเพิ่มเงินเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ให้บัตรคนจนหรือบัตรประยุทธ์ ถ้า 4 ปีตามวาระรัฐบาลก็เป็นเงิน 48,000 บาท พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอเพิ่มเงินเป็น 700 บาทต่อเดือน หรือปีละ 8,400 บาทหรือ 4 ปีตามวาระรัฐบาลก็เป็นเงิน 33,600 บาท ขณะที่เบี้ยบำนาญคนสูงวัยของพรรคไทยสร้างไทยจ่ายให้เดือนละ 3,000 บาท ปีละ 36,000 บาท หรือ 4 ปี 144,000 บาท
"ไม่มีพรรคการเมืองใดใช้เงินดิจิทัลหว่านแจก 10,000 บาทให้ทุกคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปเหมือนพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องใช้เงินมากถึง 5.4 แสนล้านบาทในเวลา 6 เดือน ย่อมก่อผลกระทบกับภาระงบประมาณของประเทศ ซึ่งแบกหนี้สินมากล้นพ้นตัวอยู่ในขณะนี้ อีกอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ว่าหลังจากหักภาระหนี้ผูกพัน และจ่ายเงินเดือนข้าราชการแล้ว ประเทศมีเงินเหลือ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น เหตุนี้แสดงได้ชัดเจนถึงนโยบายแจกเงินของนายเศรษฐา ยิ่งไปซ้ำเติมภาระหนี้ของประเทศโดยหลีกเลี่ยงไม่พ้นต้องกู้เงินมาแจกให้คนรวยที่ไม่สมควรต้องได้รับอย่างยิ่ง" เขากล่าว
นายจตุพรกล่าวถึงกรณีนายเศรษฐาอ้างต้องปั๊มหัวใจคนเดือดร้อนทางเศรษฐกิจว่า คนถูกปั๊มหัวใจต้องเป็นคนในห้องไอซียู ไม่ใช่คนใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งถ้าปั๊มหัวใจคนปกติแล้ว ย่อมเป็นคนบ้าปัญญาอ่อน ดังนั้นคนสมควรต้องปั๊มหัวใจจึงเป็นคนจนจำนวน 22 ล้านคนที่ถือบัตรคนจนต้องได้รับแจกเงิน 10,000 บาทอย่างเร่งด่วน ส่วนคนรวยที่ใช้ชีวิตตามปกติจะไปปั๊มหัวใจไปแจกเงินให้ทำไม
นายจตุพรกล่าวว่า วันนี้สิ่งสำคัญคือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศมาต่อเนื่องกว่า 8 ปี มีคนจนเพิ่มเป็น 22 ล้านคน การแจกเงินให้คนจน 22 ล้านคน ย่อมเป็นความอเนจอนาถอยู่แล้ว แต่วันนี้พรรคเพื่อไทย โดยนายเศรษฐากลับขยับฐานการแจกเป็น 54 ล้านคน แต่ไม่มีคนแรกเกิดจนถึงอายุ 16 ปีได้รับแจกด้วย แล้วมาอ้างความเสมอภาคเท่าเทียมกัน จึงเป็นหลักคิดที่ผิด หรือขัด รธน.ตาม ม.30 และได้สารภาพผิดอย่างแน่ชัดยิ่งแล้ว เพราะความเท่าเทียมเสมอภาคตาม ม.30 ต้องรวมถึงคนแรกเกิดถึงอายุ 16 ปี โดยไม่ได้ระบุให้เริ่มแจก แต่มาให้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป
รอเงินเป็นปีไม่ใช่วิกฤต
ส่วนนายนิติธร ล้ำเหลือ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "แจกคนจน-รวยเท่ากัน ตามรัฐธรรมนูญจริงหรือ?" โดยวิพากษ์วิจารณ์และสงสัยนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ว่ามีอำนาจเหนือรัฐแล้วหรืออย่างไรจึงกล้าออกสกุลเงินใหม่มาแทนเงินบาท พร้อมกังขาแจกเงินดิจิทัล เพราะลึกๆ แล้วไม่อยากเห็นรูปบนธนบัตรหรือไม่
"สิ่งที่นายเศรษฐาเสนอมานั้นเป็นเพียงการสร้างเงินใหม่ที่นำมาแข่งกับเงินบาท โดยมีข้ออ้างประกอบว่าไม่เสียงบประมาณในการผลิตธนบัตรและเหรียญ แล้วขอถามตรงๆ ด้วยว่ายังมีจิตใจที่จะไม่เอาสถาบันกษัตริย์อยู่หรือไม่ ช่วยตอบสังคมด้วย ไม่ได้กล่าวหา แต่อยากฟังคำอธิบาย และสงสัยว่าลึกๆ ไม่อยากเห็นรูปพระเจ้าแผ่นดินบนธนบัตรหรือเปล่า หรือลึกๆ ต้องการแบบไหน ช่วยบอกหน่อย" นายนิติธรกล่าว
นอกจากนี้ นายนิติธรตั้งคำถามว่า ขณะนี้นายเศรษฐามีอำนาจเหนือรัฐแล้วหรือไม่ เพราะการเปลี่ยนสกุลเงินเป็นเรื่องใหญ่ จึงเปลี่ยนด้วยกฎหมาย แล้วต้องผ่านการทำประชามติด้วย นอกจากนี้การปฏิบัติการเงินดิจิทัลต้องใช้มือถือ แล้วประเทศมีคนใช้มือถือสามารถรองรับปฏิบัติการนี้ได้มากเพียงพอแล้วหรือไม่
"สงสัยว่าใครทำสัญญาณมือถือ แล้วใครขายมือถือ ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นใคร และเบื้องหลังธุรกิจเหล่านี้เป็นใครกัน รวมถึงรายจ่ายที่ประชาชนจ่ายไปเข้ากระเป๋าใคร ดังนั้นถ้าโครงการนี้ผ่านเสร็จ คนกลุ่มนี้รวยทันที ช่วยอธิบายหน่อย อย่าคิดว่าจะมีใครไปลอกนโยบายแย่ๆ แบบนี้เลย แต่สิ่งที่มองเห็นขณะนี้คือพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์จากนโยบายนี้แล้วประเทศได้อะไร" นายนิติธรกล่าว
วันเดียวกัน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่า นโยบายประเภทแจกเงินเยอะๆหว่านทั่วประเทศแบบ Helicopter Money มันเอาไว้ใช้ในยามวิกฤตจริงๆ แบบที่ต้องทำต้องใช้เดี๋ยวนั้นเลย จึงได้เห็นว่าช่วงโควิดมีหลายประเทศทำแบบนี้ ซึ่งดีแต่ประเภทบอกล่วงหน้าแล้วกว่าจะได้แจกจริงๆ อีกเกือบปี (รวมเวลาเลือกตั้งและฟอร์มรัฐบาลก่อนนับหนึ่งดำเนินการ) นี่ไม่มีใครเขาทำกัน เพราะถ้ารอเวลาได้นานขนาดนั้นก็แปลว่ามันไม่ใช่ “วิกฤต” แล้ว ที่ประกาศมาจึงมีไว้เพื่อเหตุผลหลักคือ “หาเสียง” ใครอยากได้เงินก็เอาเสียงมา ก็เท่านั้น เข้าใจให้ตรงกันอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปถกเถียงกันในรายละเอียดให้เสียเวลา
"หนักกว่าหว่านแจกเป็นหมื่น คือการเติมเงินแจกให้ทุกครอบครัวมีรายได้ครบสองหมื่นนะ มันจะคุมงบประมาณไม่ได้เลย เพราะไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าใครบ้างจะเลือกนอนอยู่บ้านแล้วรอให้รัฐเลี้ยงด้วยเงินสองหมื่นไปเรื่อยๆ อันนี้ก็ไม่ต้องพยายามไปถกเถียงกันเช่นกัน เพราะเหตุผลหลักก็เหมือนข้อแรก" น.ส.ณัฏฐาระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ช่อ' ฟาดกลับ กกต. เอาอำนาจอะไรมาห้ามรณรงค์ประชาชนสมัคร สว. บอกมาให้ชัดผิดระเบียบข้อไหน

นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศว่าไม่สามารถจูงใจหรือชี้ชวนบุคคลให้สมัครเป็น สว. ได้ ว่า เรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดว่า กกต. กำลังทำอะไรอยู่กันแน่

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์