ใช้RT-PCRสกัดโอไมครอน

ครม.แก้มติ ศบค.ให้ตรวจ RT-PCR นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเหมือนเดิม หลังสายพันธุ์โอไมครอนระบาดหนัก "บิ๊กตู่" สั่งคุมเข้มแนวชายแดน ฮึ่ม! จนท.ละเลยปล่อยต่างด้าวลักลอบเข้า ปท.ฟันไม่เลี้ยง พร้อมยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้อง "ผับ-บาร์" แอบเปิด เด้ง 5 เสือโรงพักยันผู้การจังหวัด ศบค.เผยติดเชื้อรายใหม่ 4,306 ราย เสียชีวิต 37 ราย "ปลัด สธ." แนะป้องกันโอไมครอน ยึดมาตรการ VUCA สู้ได้ทุกสายพันธุ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 30 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับมติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมาเป็นการตรวจแบบ RT-PCR เช่นเดิมว่า ใช่ เนื่องจากเราต้องให้ความระมัดระวัง จึงต้องแก้ไขนิดหน่อย เพราะสถานการณ์โอไมครอนระบาดอยู่ในขณะนี้ จากเดิมที่จะให้ตรวจ ATK ตอนนี้ก็ให้กลับมาตรวจแบบ RT-PCR ใหม่อีก

"ต้องเข้าใจ ต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ โดยให้เริ่มทันทีในตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ ครม.เห็นชอบให้ใช้วิธีตรวจเชื้อโควิดแบบ RT-PCR กับผู้เดินทางเข้าประเทศเหมือนเดิม เพราะมติ ศบค.เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ให้ใช้การตรวจแบบ ATK แทน RT-PCR จะไม่มีผลบังคับวันที่ 16 ธ.ค. ดังนั้นเราจะใช้วิธีตรวจแบบ RT-PCR จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง

"จากนี้จะตรวจอย่างเข้มข้นมากขึ้น ทั้งทางอากาศ ช่องทางธรรมชาติ ทางบกทางเรือ โดย พล.อ.ประยุทธ์สั่งหน่วยงานความมั่นคงต้องจัดการอย่างเข้มข้น และมีการคาดโทษกรณีมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการเข้าประเทศผิดกฎหมาย สิ่งที่เรากังวลคือหากมาทางช่องทางธรรมชาติจะไม่ทราบว่าเป็นสายพันธุ์อะไร หากเข้ามาระบาดแล้วตรวจพบทีหลังจะตามหาต้นตอยาก แต่ถ้าพบที่ต้นตอก็จะจัดการตามมาตรการได้" นายสาธิตกล่าว

ถามว่า หากพบเชื้อโอไมครอนในไทยจะมีมาตรการล็อกดาวน์เลยหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี หากตรวจพบก็ต้องรายงานพล.อ.ประยุทธ์ทันที และการตัดสินใจก็เป็นของนายกฯ ซึ่งต้องทำอย่างเร็วที่สุด

มีรายงานว่า ในการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการและเน้นย้ำเรื่องการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนเป็นพิเศษ โดยได้กำชับหน่วยงานความมั่นคง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยให้เข้มงวด เรื่องช่องทางการเดินทางเข้าประเทศทางบกและตามแนวชายแดน เพราะยังมีการจับกุมได้อยู่ทุกวัน ซึ่งหากพบว่ามีการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศ และพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องให้ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด รวมทั้งให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่นั้นด้วย โดยให้ดำเนินการให้เด็ดขาด อย่าให้มีช่องว่าง จนเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนเข้าประเทศ

"พล.อ.ประยุทธ์ยังได้กำชับว่าอย่าให้มีการลักลอบเปิดผับบาร์ก่อนกำหนด หากพบลักลอบเปิด จะไม่ย้ายแค่ 5 เสือในพื้นที่นั้น แต่จะรวมถึงผู้บังคับการจังหวัดด้วย" แหล่งข่าวระบุ

ข่าวแจ้งด้วยว่า ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ นายกฯ จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จะรายงานความคืบหน้าผลการเจรจากับตัวแทนสมาคมเครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ คลับ บาร์ คาราโอเกะ และขอให้ ศบศ.พิจารณาวงเงินและหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

"ส่วนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ธ.ค. เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วง 14 วัน แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินและเร่งด่วน ทาง ศปก.ศบค.สามารถเสนอขอเปิดประชุม ศบค.ชุดใหญ่ได้ทันที" แหล่งข่าวระบุ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่สอบถามนายกรัฐมนตรีกรณีการแพร่ระบาดเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนว่า เรื่องนี้นายกฯ ชี้แจงเป็นเรื่องปกติของโรคระบาด เรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัส เป็นเรื่องที่สังคมโลกจะต้องพบในการระบาดโควิด-19 รัฐบาล โดย สธ.มีการติดตามการกลายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ โดยมีการตรวจผู้ติดเชื้อสัปดาห์ละ 4,000-5,000 อยู่แล้ว รัฐบาลได้สั่งการให้ตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโอไมครอนอย่างรวดเร็วที่สุด

ขณะที่ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,306 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,175 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,054 ราย ค้นหาเชิงรุก 121 ราย เรือนจำ 123 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,407 ราย อยู่ระหว่างรักษา 75,673 ราย อาการหนัก 1,353 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 329 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 37 ราย เป็นชาย 15 ราย หญิง 22 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 29 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 6 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,115,872 ราย มียอดหายป่วยสะสม 2,019,428 ราย เสียชีวิตสะสม 20,771 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กทม. 740 ราย, นครศรีธรรมราช 307 ราย, สงขลา 247 ราย, สุราษฎร์ธานี 247 ราย, ชลบุรี 170 ราย, เชียงใหม่ 167 ราย, สมุทรปราการ 119 ราย, ตรัง 98 ราย, ปัตตานี 96 ราย และกระบี่ 93 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 พ.ย. เพิ่มเติม 297,973 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 92,658,390 โดส

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตามการคาดการณ์ โดยภายในเดือน ธ.ค.2564 สธ.ตั้งเป้าหมายควบคุมโรคให้มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 5, 000 รายต่อวัน และเสียชีวิตไม่เกิน 30 รายต่อวัน โดยวันนี้มีรายงานผู้ป่วยรักษาหาย 6,407 ราย มากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ที่พบ 4,306 ราย ทำให้อัตราครองเตียงลดลง ทำให้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วย

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สถานการณ์สายพันธุ์โอไมครอน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังการเดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มข้นทุกช่องทาง และ สธ.ติดตามข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยขอแนะนำประชาชนให้ใช้มาตรการ VUCA ได้แก่ 1.V วัคซีน ไปรับการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยให้มีภูมิคุ้มกัน ลดอาการหนัก ลดการเสียชีวิต 2.U ใช้การป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือ ลดการสัมผัสใกล้ชิด 3.C COVID Free Setting ทุกกิจการร่วมกันทำสถานที่ให้ปลอดภัย สะอาด ลดความแออัด พนักงานและลูกค้าได้รับวัคซีนครบถ้วน และ 4.A ตรวจด้วย ATK เมื่อมีความเสี่ยง ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยให้ปลอดภัยจากโควิดได้ทุกสายพันธุ์รวมทั้งสายพันธุ์โอไมครอน

วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชิญชวนคนไทย รวมทั้งบุคคลที่มิใช่สัญชาติไทยในไทย ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรี โดยจัดจุดฉีดวัคซีนทั้งสถานที่ที่กำหนด (On Site) และรูปแบบหน่วยเคลื่อนที่ (Mobile Unit) และสำหรับในปีหน้า รัฐบาลได้มีการจัดหาวัคซีน 120 ล้านโดส เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวัคซีนกระตุ้นเป็นวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ด้วย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกพื้นที่จะได้ลุยเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชน นับถอยหลังสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีน สู่เป้าหมาย 100 ล้านโดส 27 พ.ย.-5 ธ.ค.64

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นวันที่ 2 ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขว่า นายอนุทินแถลงจุดยืนประเทศไทยสนับสนุนการมีข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือใหม่ให้ทั่วโลกตอบโต้กับโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม

"ทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ควรมีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและภูมิปัญญาของตนเอง ซึ่งการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจจับและการจัดการเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล เป็นแบบอย่างที่ดีของแอฟริกาใต้ในไม่ช้า ทั่วโลกจะมีความรู้ที่ดีขึ้นในการจัดการกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เพื่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" น.ส.ไตรศุลีอ้างถ้อยแถลงของนายอนุทิน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง