กกต.เคลียร์ปมบินนอก ทร.เปิดพื้นที่หาเสียงได้

ประธาน กกต.อ้างจำเป็นบินดูงานเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพื่อถอดบทเรียนไม่ให้ซ้ำรอยในอดีต มั่นใจบัตรไม่ตกหล่น มีระบบติดตามบัตรป้องกันความผิดพลาด ส่วน 13 ประเทศ  กต.ส่งเจ้าหน้าที่ถือบัตรกลับไทยเอง เชื่อมีความปลอดภัยสูง เผยมีเรื่องร้องเรียนทุจริตแล้ว 32 เรื่อง กองทัพเรือไฟเขียวทุกพรรคเข้าหาเสียงพื้นที่ค่ายทหารได้

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณี กกต.เดินทางไปดูงานการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรว่า เราเดินทางไปดูงานต่างประเทศเพื่อดูกระบวนการการเลือกตั้งว่าสามารถตอบโจทย์การให้บริการกับคนไทยในต่างประเทศที่ลงทะเบียนแสดงความประสงค์เลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน  รวมถึงรับฟังปัญหาในการปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้ดูเรื่องการส่งบัตรไปให้สถานทูตต่างๆ ใช้ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และกระบวนการส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังประเทศไทย เพื่อถอดบทเรียนว่าสิ่งที่ได้จากการไปดูงาน เรามีความมั่นใจให้บริการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้อย่างไรบ้าง

นายอิทธิพรกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตนไปประเทศแอฟริกาใต้ เคนยา และโมร็อกโก ซึ่งเป็น 3 ใน 7 สถานทูตในประเทศไทยที่ต้องดูแลคนไทยใน 54 ประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งทุกประเทศมีคนไทยอยู่หมด ยกเว้นประเทศบุรุนดีและคอโมโรส ประเด็นสำคัญคือเราจะให้บริการคนไทยที่ประสงค์จะใช้สิทธิอย่างไร โดยเรากำหนดกระบวนการเลือกตั้งไว้ 3 ช่องทาง 1.ไปรษณีย์ 2.เลือกในคูหาที่สถานทูต 3.เลือกตั้งในคูหาเคลื่อนที่ โดยสิ่งที่เป็นห่วงคือเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ เพราะระบบการไปรษณีย์ของแต่ละประเทศจะมีประสิทธิภาพไม่เหมือนกัน ทำให้วันที่กำหนดให้ส่งมาถึงอาจจะต้องมีความเสี่ยง จึงต้องบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไรให้วิธีการส่งบัตรลงคะแนนที่คูหาตอบโจทย์กับคนไทยมากที่สุด ไม่ให้เกิดความผิดพลาด

ส่วนกรณีที่บัตรเลือกจากต่างประเทศส่งมาถึงไทยกระชั้นชิดจนส่งบัตรไปยังภูมิลำเนาเพื่อนับคะแนน​ไม่ทัน นายอิทธิพร กล่าวว่า เราตั้งใจให้ไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น  เพราะครั้งที่แล้วมี จึงขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศให้ส่งบัตรภายในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งถ้าทำได้ก็จะมีเวลาตรวจสอบ และสามารถส่งบัตรไปที่จังหวัดต่างๆ ได้ทันก่อนวันที่ 14 พ.ค. ดังนั้นการที่จะส่งบัตรในช่วงเวลากะทันหัน หรือส่งมาช้าก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้จะไม่เกิดขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศให้ความร่วมมือในการจัดเจ้าหน้าที่สถานทูต 13 แห่งที่มีความเสี่ยงเรื่องที่จุดเปลี่ยนเที่ยวบิน ประกอบด้วยประเทศในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกาใต้ โดยจุดไหนที่ต้องเปลี่ยนเที่ยวบิน กระทรวงการต่างประเทศจะถือมาเอง  เพราะฉะนั้นกระบวนการส่งตรงบัตรไม่น่าจะมีปัญหา นอกจากนี้ยังได้มีระบบ OVMS ที่เป็นระบบติดตามตรวจสอบถุงเมล์ว่าอยู่ที่ใด เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยได้ส่งบัตรเลือกตั้งไปยังนอกราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว

เมื่อถามถึงงบประมาณการดูงานของกกต.ในต่างประเทศ นายอิทธิพรกล่าวว่า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกำหนดให้มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยจะมีการกำหนดงบประมาณก้อนหนึ่งไว้ใช้เพื่อการนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า กกต.จะให้ความสำคัญกับจุดไหนเป็นพิเศษ โดยเป็นงบประมาณที่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาในทุกๆ ปี เพราะฉะนั้นต้องอยู่ในวงเงินดังกล่าวจะมากกว่านี้ไม่ได้ โดยการดูงานของ กกต.ไม่ได้ไปพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 5-22 เม.ย. ที่กำหนดให้ กกต.แต่ละท่านสลับกันไป ส่วนถ้ามีประเด็นที่จะต้องพูดคุยกัน เราสามารถประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราสามารถประชุมกันได้เสมอ

นายอิทธิพลกล่าวถึงตัวอย่างบัตรเลือกตั้งว่า มีแนบท้ายในระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมี 2 ประเภทคือ แบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมีสีม่วง ส่วนแบบบัญชีรายชื่อเป็นมีเขียว และรูปแบบบัตรเป็นไปตามมาตรา 84 พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส. เพื่อไม่สร้างความสับสน ทุกบัตรเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นบัตรเลือกตั้งประเภทไหน ในการจัดพิมพ์จะต้องจัดพิมพ์แบบมีระดับความมั่นคงปลอดภัย มีรหัสลับอย่างน้อย 3 อย่าง ซึ่งถ้ามีบัตรอื่นพิมพ์มาแล้วไม่เหมือนเรา ก็สามารถตรวจและทราบได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการรักษาความมั่นคงของบัตร หลังจากที่พิมพ์แล้วบัตรจะเก็บอยู่ที่โรงพิมพ์ โดยอยู่ในห้องมั่นคง จะมีคนเฝ้าตลอดเวลา มีตัวแทนของ กกต.และมีกล้องวงจรปิด การนำบัตรออกจากที่พิมพ์โดยไปรษณีย์จะต้องมีรถมั่นคงของไปรษณีย์ มีรถตำรวจติดตาม มีแทรคกิ้งซิปเทป และเจ้าหน้าที่ กกต. ฉะนั้นแล้วบัตรเลือกตั้งมีความมั่นคงแน่นอน 

ประธาน กกต.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้งเข้ามาแล้ว 32 เรื่อง เป็นเรื่องร้องเรียนการหาเสียงหลอกลวง ใส่ร้าย 15 เรื่อง เรื่องร้องเรียนซื้อเสียง 8 เรื่อง หากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจะพิจารณาทันทีไม่ได้ ต้องเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบสืบสวนไต่สวน โดยจะดูว่าคำร้องนั้นเป็นคำร้องตามระเบียบฯ หรือไม่ หากเป็นก็จะดูเนื้อหาคำร้องว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีก็จะรับคำร้อง แล้วเข้าสู่กระบวนการสืบสวนไต่สวน แล้วส่งให้จังหวัด ก่อนส่งกลับมาขอความเห็นจากส่วนกลาง และส่งให้คณะอนุฯ วินิจฉัยก่อนเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ที่ต้องใช้เวลาเพราะกระบวนการวินิจฉัยคำร้องเป็นเรื่องกระทบสิทธิกับทุกฝ่าย ต้องให้ความยุติธรรม

วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตป้ายแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ บริเวณหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 2 ผืน ในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง การผลิตป้ายไวนิล มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้จดจำข้อมูลของผู้สมัครได้ง่ายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น   

นายกัณวีร์ สืบแสง​ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม นำหนังสือของนายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค ยื่นหนังสือต่อ กกต.ชี้แจงกรณีป้ายหาเสียงผู้สมัครของพรรคในพื้นที่ภาค 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีข้อความ "เลือกตั้งผู้ว่าให้ปาตานีจัดการตนเอง" และ กกต.นราธิวาสให้นำป้ายลง โดยนายกัณวีร์กล่าวว่า ได้ชี้แจงไปว่านโยบายของพรรคเรื่องจัดการตนเองคือนโยบายชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ ไม่ใช่การปกครองตนเอง ที่ต้องมาชี้แจงต่อ กกต.กลาง เพราะเป็นห่วงว่าผู้สมัครของพรรคอาจจะโดนตัดสิทธิ์จากกรณีดังกล่าว แต่ผู้สมัครของพรรคก็บอกว่าเขายอมที่จะถูกตัดสิทธิ์ แต่จะไม่ยอมให้ชาวปาตานีเสียใจจากการละทิ้งจุดยืนของพวกเรา

ด้านนายอิทธิพล กล่าวถึงกรณีที่ กกต.นราธิวาสให้ขอผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 นราธิวาส ปลดป้ายหาเสียงที่มีข้อความ “ปัตตานีจัดการตัวเอง” เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงท้วงติงมาว่า ยังไม่ได้รับทราบ ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง แต่โดยหลักผู้สมัครจะหาเสียงเกินขอบเขตของการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไม่ได้  ซึ่งจะต้องดูในเรื่องนี้ด้วย

​ นายธีระ เจียบุญหยก หัวหน้าพรรคคนงานไทย​ เปิดเผยว่า การที่ประธาน กกต.​และนายทะเบียนพรรคการเมืองออกประกาศ เรื่อง พรรคคนงานไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ลงวันที่ 30 มี.ค.2566 เนื่องจากพรรคคนงานไทยไม่สามารถดำเนินการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายใน ​4 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องยังไม่ปรากฏมูลกรณีว่ามีการกระทำใดของประธาน กกต.​ และนายทะเบียน​พรรคการเมือง​ที่จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2566 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงแนวทางของกองทัพเรือ ในการสนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า กองทัพเรือมีแนวทางที่ชัดเจนที่เขียนไว้ในเรื่องการสนับสนุนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ปี 2549 และมติคณะรัฐมนตรีปี 2562 ที่เกี่ยวกับการสนับสนุนสถานที่หาเสียงและเลือกตั้ง การจัดสถานที่ติดตั้งป้ายหาเสียง กองทัพเรือ ดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ยึดหลักสามัคคี ไม่ขัดแย้ง เป็นทหารอาชีพ พร้อมทำงานและสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในส่วนการขอเข้าหาเสียงในหน่วยทหาร ทุกพรรคการเมืองสามารถทำได้ กองทัพเรือได้ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นอย่างมาก โดยออกแนวทางให้การสนับสนุน ตลอดจนสร้างการรับรู้แก่กำลังพล ทั้งในเรื่องสาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน้าที่ และการปฏิบัติตนในฐานะประชาชนและข้าราชการ โดยได้มีการสั่งการให้หน่วยต่าง ๆ สนับสนุนการขอเข้าหาเสียงของพรรคการเมือง ที่มีการขออนุญาตเข้ามาโดยเท่าเทียมกัน แบบรวมการครั้งเดียว พร้อมทั้งเชิญ กกต.ประจำพื้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการเข้ามาหาเสียงของพรรคการเมืองด้วยทุกครั้ง 

ทั้งนี้ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เน้นย้ำกำลังพลให้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง พร้อมทั้งเปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิในการตัดสินใจของตัวเอง และหากพบว่ากำลังพลนายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง หรือการดำเนินการในส่วนบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามความยุติธรรม ก็มีอัตราโทษตามกฎหมายอยู่แล้วถ้าพบว่ามีความผิดจริง นอกเหนือจากนี้ หากพบว่าผิดจากระเบียบของกองทัพ ก็จะมีโทษทางวินัยของกองทัพตามไปด้วย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง