โยนมท.เคาะเลือกผู้ว่ากทม.

แช่แข็งมา 8 ปี วัดใจ "บิ๊กป๊อก" ชง ครม.เคาะวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "วิษณุ" โยนมหาดไทยส่งฤกษ์มาให้ ครม.เห็นชอบ สภาเบรกหัวทิ่ม พรรคก้าวไกลเร่งดันญัตติตั้ง กมธ.สอบเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ ฝ่ายค้านแตกยับ เพื่อไทยแสนรู้ กระโดดหนีไม่ร่วมสังฆกรรม

หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล็อตสุดท้ายคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากนี้ก็ถึงคิวการจัดให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยคนกรุงเทพฯ ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังถูกถามว่าภายหลังเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมดแล้ว หลังจากนี้จะเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อเลยหรือไม่ ว่า ตามปฏิทินมันควรไล่มาเป็นเช่นนั้น แต่การเลือกตั้งจะมีตอนไหน ไม่ทราบ ต้องรอให้กระทรวงมหาดไทยเสนอมาที่คณะรัฐมนตรี หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันและเวลาในการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเสนออะไรมาที่ ครม.ใช่หรือไม่ นายวิษณุพยักหน้ารับ พร้อมกับกล่าวว่า รอให้ครบ 1 เดือนหลังเลือกตั้ง อบต.เสียก่อน ให้มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการเพื่อให้เสร็จเรื่อง หากเลือกตั้งซ่อมอะไรขึ้นมาจะได้ไม่จัดให้ใกล้ชิดติดพันกัน

นายวิษณุยังกล่าวถึงขั้นตอนทางกฎหมายว่าหากคนที่เป็น ส.ส.ปัจจุบันจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.จะต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนหรือไม่ ว่าในส่วนของ ส.ส.ต้องลาออกจากตำแหน่งก่อน ส่วนต้องทิ้งช่วงก่อนลงสมัครเป็นเวลากี่วันนั้นตนไม่ทราบ เช่นเดียวกับตัวผู้ว่าฯ กทม. หากจะลงก็ต้องออกด้วย เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่าเมื่อมีการจะประกาศเลือกตั้งให้คนเก่าพ้นไป

ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าสมาชิกพรรคได้เป็นสมาชิก อบต.จำนวนมาก แต่ในกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมีการห้าม ส.ส.ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น นายวิษณุกล่าวว่า กฎหมายเขียนไว้เช่นนั้น แต่ไม่ถึงกับห้ามยุ่งเกี่ยว เพียงแต่ไปหาเสียงให้ไม่ได้ แต่พรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค สามารถสนับสนุนได้ แต่ข้าราชการการเมืองไม่สามารถลงไปช่วยได้

ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความพร้อมในการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาคัดเลือกบุคคล ที่ประชุมพรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคแน่นอน โดยคนที่จะมาลงสมัครต้องเป็นไปตามสโลแกนที่หัวหน้าพรรคบอกเอาไว้ว่า ผู้สมัครต้องใหม่ ชัด โดน เรื่องผู้สมัครยังไม่มีการเปิดตัว แต่ในเวลาอันใกล้ พรรคก้าวไกลจะเปิดนโยบายเกี่ยวกับ กทม.ออกมาก่อน ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคก้าวไกลไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนภายในพรรคหรือภายนอกพรรค

พท.ยื่นร่างฯ แก้ กม.ลูก 7 ธ.ค.

ทางด้านความคืบหน้าการเตรียมเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

โดยทางนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคชาติไทยพัฒนาและวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า พรรคชาติไทยพัฒนาได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ขอรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว โดยพรรคจะรวบรวมและจัดทำความเห็นเพื่อเสนอกลับไปอีกครั้ง ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ กกต.เปิดเผยเนื้อหาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. และขอให้พรรคการเมืองแสดงความเห็นนั้น ตนเข้าใจว่าตามอำนาจของ กกต.สามารถแก้ไขได้เพียงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 และไม่สามารถแก้ในรายละเอียดของการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือไพรมารีโหวตได้ แต่ในฐานะพรรคการเมืองและ ส.ส.สามารถเสนอขอแก้ไขได้ แม้ในการพิจารณาชั้นรัฐสภาจะใช้ร่างแก้ไขฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอตามความเห็นของ กกต.เป็นหลักก็ตาม

นายนิกรกล่าวว่า สำหรับกรณีที่กลุ่มพรรคเล็กร่วมรัฐบาลประกาศจุดยืนต่อการแก้ไขเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.ที่เห็นต่างกับกลุ่มพรรคใหญ่นั้น เชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้ ไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาได้ตกลงแล้วว่าหากมีประเด็นที่เห็นต่างให้ใช้กลไกแปรญัตติพิจารณา

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า วันที่ 7 ธันวาคมนี้ พรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อนำไปสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ก่อนนำเข้าบรรจุวาระการประชุมร่วมรัฐสภา สำหรับรายละเอียดการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขขั้นตอนการทำ Primary Vote โดยให้มีสาขาพรรคการเมืองหรือผู้แทนประจำจังหวัดเพียง 1 แห่งในจังหวัดที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัคร สามารถทำ Primary Vote ในทุกเขตเลือกตั้งได้ แทนกฎหมายเดิมที่กำหนดว่า พรรคการเมืองใดจะส่งผู้สมัครในเขตใด จะต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือผู้แทนประจำจังหวัดในเขตการเลือกตั้งนั้น

วันเดียวกันนี้ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว ภายหลังจากที่มีพระราชกิจจานุเษกษา วันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประกาศว่าพรรคประชาธรรมไทยถูกยุบพรรคเรียบร้อย ซึ่งวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาได้ไปเจอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ให้ไปสมัครสมาชิกพรรค พปชร. จนล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่พรรค พปชร.ว่าขณะนี้ความเป็นสมาชิกพรรคสมบูรณ์แล้ว ส่วนต่อจากนี้จะมีพรรคเล็กทยอยมาที่พรรค พปชร.อีกหรือไม่ มองว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง มีบัตร 2 ใบ ก็ต้องเริ่มคิดแล้ว เพียงแต่รอเรื่องสัดส่วน หากออกมา 1 เปอร์เซ็นต์ หรือกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเป็น 1 เปอร์เซ็นต์จะทำให้การคิดสัดส่วน ส.ส.1 คนต่อประชากร 350,000-380,000 คน ซึ่งตรงนี้คิดว่าเหนื่อย และพรรคเล็กก็ต้องคุยกันว่าจะรวมพรรคกันหรือไม่ ถือเป็นขั้นตอนข้างหน้า

สำหรับการเข้ามาของนายพิเชษฐ ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.จำนวน 120 คน

ค้านเร่งถกญัตติขบวนเสด็จฯ

วันเดียวกันนี้ ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล เสนอให้เลื่อนญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จฯ และการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นญัตติของ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเสนอขึ้นมาพิจารณาต่อจากการพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่งที่ประชุมสภาพิจารณาค้างไว้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะตัวแทนวิปรัฐบาล ไม่เห็นด้วยที่ให้เลื่อนญัตติขบวนเสด็จฯ และไม่เห็นด้วยที่ที่ประชุมจะพิจารณาในญัตติดังกล่าว ทำให้นายชวนขอให้ผู้ควบคุมเสียงของทั้งสองฝ่ายพูดคุยเพื่อหาข้อสรุป และสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที

ต่อมาได้เปิดการประชุมอีกครั้ง แต่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีการลงมติเป็นการตัดสินว่าจะให้มีการเลื่อนญัตติขบวนเสด็จฯ มาพิจารณาหรือไม่ โดยนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เสนอให้ลงคะแนนโดยเปิดเผยแบบขานชื่อ ซึ่งที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ลงมติโดยวิธีการขานชื่อ ด้วยคะแนน 219 ต่อ 49 งดออกเสียง 15 ไม่ออกเสียง 3 เสียง

จากนั้นที่ประชุมเริ่มขานชื่อ โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 12.25 น. นายชวนแจ้งผลการลงมติว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติขบวนเสด็จฯ ขึ้นมาพิจารณา ด้วยคะแนน 246 ต่อ 45 งดออกเสียง 6 เสียง

ต่อมาที่ห้องแถลงข่าวอาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคก้าวไกล, น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล, น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าว

นายณัฐชาแถลงว่า พรรคก้าวไกลรู้สึกเสียใจที่สภาไม่เห็นความสำคัญของการเสนอญัตติด่วนเรื่องขบวนเสด็จฯ ที่พรรคก้าวยื่นในเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.2563 เราต้องการที่จะนำมาพูดเพื่อพิสูจน์ความจริง เอาความจริงมาเปิดเผย และให้สภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี เพราะมีประชาชนและนายตำรวจที่ได้รับความเดือดร้อนจากคดีที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว มีประชาชนโดนดำเนินคดีตามมาตรา 110 มีโทษถึงประหารชีวิต แต่มีคนโหวตเห็นด้วยเพียง 45 เสียงเท่านั้น พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะตามหาความจริงต่อไป และหวังให้สภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการตรวจสอบและตามหาความจริงในเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านงดออกเสียง ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมวิปฝ่ายค้าน พรรคได้แจ้งเรื่องนี้ไปแล้ว ส่วนการโหวตก็เป็นมติของแต่ละพรรค เราเคารพการตัดสินใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง