โควิดลูกผสม ระบาดทั่วไทย เข้มเข้าคูหา

สธ.ยันไทยคุม "โควิด" ได้ดี ย้ำเปิดเทอมเฝ้าระวังเด็กป่วยทางเดินหายใจ ไม่ว่าโรคใดให้หยุดเรียน กรมวิทย์เผยสัดส่วนโควิดลูกผสม XBB ในไทย พบติดเชื้อทุกเขตสุขภาพแล้ว  กรมอนามัยแนะประชาชนสวมหน้ากาก  พกปากกาเข้าคูหาเลือกตั้ง ลดเสี่ยงติดโควิด

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด- 19 ว่า แม้ ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว แปลว่าสถานการณ์ความสุ่มเสี่ยงการระบาดอย่างกว้างขวางหมดไปแล้ว ชาวโลกสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติที่สุด ส่วนไทยเรายกเลิกมา 7 เดือนแล้ว เป็นตัวยืนยันว่าเราควบคุมสถานการณ์โควิดได้ดี แต่ไม่ได้แปลว่าโควิดหายไป สุดท้ายจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ จะอยู่กับเรา พอถึงฤดูช่วงจังหวะหนึ่ง คนภูมิคุ้มกันลดลง หรือมีสายพันธุ์ใหม่ ก็จะเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มขึ้นไม่เหมือนคราวก่อนที่ระบาดใหญ่ อาจเพิ่มเป็นหลักหมื่นหลักพันก็ไม่เป็นปัญหามากนัก หากมีมาตรการรองรับที่ดีคือการฉีดวัคซีนตามที่ สธ.กำหนด

"ขณะนี้เรากำหนดให้ฉีดวัคซีนประจำปี จะช่วยทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง และระบบเฝ้าระวังมีทั้งคน  สายพันธุ์ ก็จะตอบสนองมาตรการต่างๆ ได้ดี สำหรับผลการฉีดวัคซีนคู่โควิด-ไข้หวัดใหญ่ กรมควบคุมโรคจะเป็นผู้รวบรวม ยืนยันว่าเป็นการฉีดตามความสมัครใจ หากไม่สะดวกก็รับวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งก่อนได้"

นพ.โอภาสกล่าวว่า โควิดที่ระบาดปี 2564-2565 จะสัมพันธ์กับช่วงหลังสงกรานต์ เพราะสงกรานต์มีการรวมตัวคนจำนวนมาก สังเกตว่าปีนี้ผ่านสงกรานต์มาประมาณ 1 เดือนไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร สธ.ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี ส่วนเปิดเทอมนักเรียนรวมตัวกัน เน้นย้ำการเฝ้าระวัง เด็กป่วยพ่อแม่ไม่ควรพาไปโรงเรียน ไม่ว่าโรคทางเดินหายใจอะไร ทั้งไข้หวัดใหญ่ RSV โควิด หากไม่สบายพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป เด็กมีวัคซีนให้ฉีด หากประสงค์ก็จะเป็นอีกมาตรการช่วยป้องกัน หากพบเหตุการณ์ผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  สถานการณ์สายพันธุ์เชื้อ SARS-CoV-2 ทั่วโลกอ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ในรอบสัปดาห์ 10-16 เมษายน 2566 พบสัดส่วนของสายพันธุ์แตกต่างจากรอบ 1 เดือนก่อนหน้า ดังนี้  XBB.1.5 รายงานจาก 106 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 46.7 ลดลงจากร้อยละ 49.3, XBB.1.16 รายงานจาก 40 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 5.7 เพิ่มจากร้อยละ 2.0, XBB*, XBB.1.9.1 และ XBB.1.9.2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น,   BA.2.75, CH.1.1, BQ.1 และ XBF มีแนวโน้มลดลง   

"สถานการณ์ล่าสุดในไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย โดยกรมวิทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง มีการถอดรหัสพันธุกรรม เชื้อก่อโรคโควิด-19 จำนวน 372 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 323 ราย คิดเป็น 86.8% พบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ"

สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า 74% ในทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งมีตัวอย่างส่งตรวจน้อย พบมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 คิดเป็น 27.7 % รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.5 คิดเป็น 22.0% ในขณะที่ BN.1 ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า ตามที่ WHO ได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก (Public Health Emergency of International Concern) ของโรคโควิด-19 ที่ใช้มานานกว่า 3 ปี หลังพบตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ อย่างไรก็ตาม WHO ยังย้ำว่า แม้สถานการณ์ฉุกเฉินจะจบลง แต่ก็จะยังคงเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสถานการณ์สาธารณสุขโลกต่อไป รวมทั้งประเทศไทยเองยังคงมีมาตรการรับมือโควิด-19 เช่นเดิม สำหรับประชาชน แนะนำให้ระมัดระวังในการปฏิบัติตัว ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก หรือไปในที่สาธารณะ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันยังมีความจำเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ ขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทย์และเครือข่ายจะยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังเป็นช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน จึงอาจทำให้หลายพื้นที่มีฝนตก ส่งผลให้ความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือหน่วยเลือกตั้งให้ดูแลความสะอาด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนี้ 1) สถานที่เลือกตั้ง ควรจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี ไม่แออัด 2) ในหน่วยเลือกตั้งควรกำหนดจุดให้มีเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้บริการประชาชน ทั้งก่อนเข้าและออกจากหน่วยเลือกตั้ง 3) ควบคุม ดูแล ให้ผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และผู้ที่อยู่ในหน่วยเลือกตั้งสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา 4) จัดระยะห่างของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนเข้าไปยังคูหา เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดระหว่างกัน และ 5) ควรมีการทำความสะอาดอุปกรณ์หรือจุดที่มีการสัมผัสร่วมกัน หรืออาจให้ประชาชนนำปากกาส่วนตัวไปเอง ซึ่งสามารถทำได้ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

"สำหรับประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ควรตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ เพื่อลดความแออัดในการเปิดดูบัญชีรายชื่อบริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้ง นำปากกาไปเองเพื่อลดการสัมผัสร่วม สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น รวมทั้งล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าและออกจากหน่วยเลือกตั้ง และควรเว้นระยะห่างระหว่างต่อแถวเข้าคูหา ไม่รวมกลุ่มพูดคุยและใช้เวลาให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม เพราะสถานที่เลือกตั้งบางแห่งอาจอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง อากาศร้อน อาจทำให้เสียเหงื่อมาก ควรพกน้ำดื่มติดตัวไปด้วย รวมถึงเตรียมหมวกหรือร่มเพื่อป้องกันแดดและฝน ทั้งนี้ หากหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าโดนฝนหรือเปียกชื้น ควรเปลี่ยนหน้ากากชิ้นใหม่ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เมื่อสัมผัสกับอากาศที่ร้อนจัด อาจมีอาการผิวหนังแดงและแห้ง ตัวร้อนจัด ไม่มีเหงื่อ สับสน มึนงงหรืออาจหมดสติได้ จึงควรมีผู้ดูแลร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิดและช่วยเหลือได้ทัน" นพ.สุวรรณชัยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง