กกต.ชี้ใบเหลือง-แดงว่อนแน่

คึกคัก! ประธาน กกต.เผยเชิญคณะผู้แทนองค์การจัดการเลือกตั้งต่างประเทศร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ส.ส. ด้าน “ฐิติเชฏฐ์” ยันความพร้อมเลือกตั้ง 14 พ.ค. มากกว่าปี​ 2562 แต่ยอมรับปีนี้แข่งกันดุ คาดจะมีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 2 พันเรื่อง เชื่อมี “ใบเหลือง-ใบแดง

เมื่อวันที่​ 12 พฤษภาคม 2566 ที่โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง​ (กกต.)​ เป็นประธานในพิธีเปิดการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ของคณะผู้แทนองค์การจัดการเลือกตั้งต่างประเทศ  สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 12-15 พ.ค.2566 โดยมีคณะผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ คณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง   ได้แก่ ระบบการเลือกตั้งของไทย และกระบวนการจัดการเลือกตั้ง การจัดตั้งพรรคการเมือง การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง การกำหนดและตรวจสอบ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการเลือกตั้ง การสืบสวนการร้องคัดค้าน การเลือกตั้งและแนวทางป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง และแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศ 

ซึ่งในวันที่ 13 พ.ค. คณะผู้สังเกตการณ์ฯ เข้าสังเกตการณ์การรับวัสดุอุปกรณ์เลือกตั้ง ณ สมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย 324 ถนนสุรวงศ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร    และอาคารสำนักงานเขตยานนาวา    ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 28 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

และในวันที่ 14 พ.ค.2566 สังเกตการณ์เปิดหน่วย ณ หน่วยเลือกตั้งที่ 21-26 เต็นท์บริเวณสำนักงาน กสทช.  หน่วยเลือกตั้งในองค์การบริหารส่วนตำบลคูบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี หน่วยเลือกตั้งในวัดผาสุกมณีจักร อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และสังเกตการณ์การปิดหน่วยเลือกตั้งและการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ 1-3 โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร รวมถึงเยี่ยมชมสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และศูนย์อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรับฟังการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ยืนยันความพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า​ ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ จะเป็นวันที่พี่น้องประชาชนจะได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง หลังจากว่างเว้นการเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี โดยภาพรวมแม้จะมีปัญหาอุปสรรคการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. แต่ปัญหาเหล่านั้นสำนักงาน กกต.ดำเนินการแก้ไขแล้ว เช่น ปัญหาการจ่าหน้าซองที่ผิดพลาด ที่เกิดจากกรรมการประจำหน่วยเข้าใจผิดเรื่องรหัสเขตเลือกตั้ง ที่ กกต.ก็เร่งดำเนินการแก้ไข

ส่วนปัญหารูปของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่หายไปจากสถานที่ปิดประกาศ เมื่อทราบเราก็ได้มีการแก้ไข ซึ่งในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น รวมทั้งจะมีป้ายไวนิลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ดูรายละเอียดของผู้สมัคร ส.ส.ทั้งสองแบบ 

ไม่มีปากกาล่องหน

สำหรับเรื่องปากกาล่องหนหรือปากกาที่เขียนแล้วหมึกจาง นายฐิติเชฏฐ์กล่าวว่า ไม่มีความจริง เป็นข่าวเท็จ ซึ่งในหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยจะใช้ปากกาลูกลื่น โดยได้กำชับกรรมการ​ประจำ​หน่วยเลือกตั้ง​ (กปน.) ​ว่าในช่วงที่ไม่มีประชาชนไปใช้สิทธิ ขอให้ตรวจตราปากกาทุก 1 ชั่วโมง ถ้าคูหาไหนมีปากกาด้ามไหนเขียนไม่ติด ให้เปลี่ยนด้ามใหม่ทันที หากผู้ใช้สิทธิ์พบว่าในคูหาไหนปากกาเขียนไม่ติด ให้เปลี่ยนคูหาข้างๆ หรือถ้าไม่ติดจริงๆ ให้ยกมือขอปากกากับ กปน.ใหม่ได้

นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าข่าวมีประชาชนมาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเกินจำนวนผู้มีสิทธิ เราได้ตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีผู้มาใช้สิทธิเกินจำนวนที่ลงทะเบียน

"ภาพรวมเหล่านี้ที่เกิดปัญหา กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่า กปน.ไม่ใช่บุคลากรของ กกต. ซึ่งเขาทำงานอย่างเต็มที่ ผมก็ต้องชื่นชมและให้กำลังใจ แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาเราก็ได้กำชับ และเขาก็ได้มีการแก้ไข แต่ข่าวที่เราแก้ไขแล้วไม่ได้ถูกเผยแพร่ มีแต่การแชร์ข่าวเหตุที่เกิดขึ้น แต่ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเลือกตั้งครั้งนี้มีความพร้อม และ กกต.มีความพร้อมเลือกตั้งมากกว่าปี 62" นายฐิติเชฏฐ์ กล่าว  

ในการเลือกตั้ง ส.ส.มีหน่วยเลือกตั้งกว่า 90,000 หน่วย มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ หรือนิวโหวตเตอร์ 3,283,413 คน  จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 52,517,971 คน รวมเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จึงเชื่อว่าในวันที่ 14 พ.ค. จะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 ขณะที่การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 91 ทั้งนี้ อยากขอให้ประชาชนรีบออกไปใช้สิทธิ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร และหากผู้ใดไปแสดงตนก่อนเวลา 17.00 น. จะได้ใช้สิทธิทุกคน

นายฐิติเชฏฐ์ยังเตือนประชาชนอย่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่น การถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว การฉีกบัตรเลือกตั้ง รวมทั้ง 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุรา ห้ามพนันผลการเลือกตั้ง รวมทั้งห้ามเผยแพร่ผลโพลก่อนเลือกตั้ง 7 วัน   ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ห้ามใส่เสื้อหมายเลขหรือเบอร์ เสื้อทีมที่มีชื่อพรรค ไปใกล้หน่วยเลือกตั้ง หรือไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง จะมีความผิดทันที ถือว่าเป็นการโฆษณาหาเสียง จึงขอให้พึงระมัดระวัง

แจ้งเบาะแสแล้ว 127 เรื่อง

กกต.ผู้นี้ยังกล่าวถึงเรื่องร้องเรียนการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ว่าเรื่องร้องเรียนขณะนี้ที่มีการแจ้งข้อมูลเบาะแสทั้งหมด 127 เรื่อง และมีคำร้องที่วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว 33 เรื่อง สั่งไม่รับเป็นคำร้อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 94 เรื่อง ซึ่งเรื่องไหนที่เห็นว่ามีมูล ตรวจข้อเท็จจริงได้ เราก็จะดำเนินการ และเมื่อเห็นว่าเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย ก็จะตั้งกรรมการสืบสวนไต่สวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ส่วนเรื่องใบเหลืองใบแดงในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายฐิติเชฏฐ์กล่าวว่า คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะดูว่าถ้าเป็นการกระทำความผิด เราจะไม่ละเว้น ใบเหลืองใบแดงก็อาจจะต้องเกิดขึ้น และมากน้อยเท่าไหร่คาดเดาไม่ได้ 

เมื่อถามถึงการที่ กกต.ในฐานะผู้ควบคุมการเลือกตั้งถูกจับตาเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า กกต.ทั้ง 6 คนมีความสุจริตและเที่ยงธรรม มีภูมิหลัง มีศักดิ์ศรี มีเกียรติยศ เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่า กกต.​ไม่ฝักใฝ่หรือช่วยเหลือพรรคใดพรรคหนึ่ง เราจะวางตัวเป็นกลาง อันไหนเป็นปัญหาที่ท่านร้องเรียน ท่านก็ต้องกล้ามาเป็นพยาน ถ้าร้องเรียนแล้ว พอเวลาสืบสวนไต่สวนแล้วเรียกท่านมาเป็นพยาน แล้วท่านไม่ให้การที่เป็นประโยชน์ มีกระแสหลายกระแสบอกว่าเรื่องร้องเรียน กกต. ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องมีข้อเท็จจริง หรือมีการซื้อเสียง กกต.ไม่เห็นทำอะไรได้เลย กระบวนการของ กกต. ต้องทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กร ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เราต้องให้ความเป็นธรรมผู้ถูกร้องอย่างเต็มที่ในการแสดงพยานหลักฐาน ว่าเขาไม่ได้กระทำความผิดตามที่ร้องเรียน ผู้ร้องก็ต้องหาพยานหลักฐานมาให้พร้อมมูล เพราะเชื่อจากนี้ไปจะมีเรื่องร้องเรียนมาที่ กกต.หลายพันเรื่อง ซึ่งเราจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามขั้นตอน เรื่องร้องเรียนทุกเรื่องจะถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน และตั้งอนุกรรมการวินิจฉัย เพื่อตรวจสอบว่ามีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีหลักฐานเพียงพอก็ดำเนินคดีให้ใบเหลืองใบแดง  ถ้ามีหลักฐานไม่เพียงพอ ก็สั่งไม่รับคำร้องและสั่งยุติเรื่อง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลา

จ่าหน้าซองอ่านไม่ออก

 “ท่านร้องเรียนมา ไม่ใช่เป็นสูตรสำเร็จรูปว่าร้องเรียนวันที่ 1 แล้ว วันที่  30 เราพิจารณาให้ท่านเสร็จ ไม่ใช่หรอกครับ แล้วเรื่องที่จะต้องพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าเรื่องร้องเรียนไม่ต่ำกว่า 2,000 เรื่องเป็นอย่างต่ำ การแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2566 นี้มีการแข่งขันสูง แต่เราจะอาศัยบทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาเป็นบทเรียนแล้วมีการแก้ไข ถึงแม้ว่าการแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2566 นี้จะสูงขนาดไหน  แต่ กกต.จะยึดมั่นในความถูกต้อง ถ้าทำความผิดเราจะดำเนินการโดยเคร่งครัด ถ้าไม่ได้กระทำความผิด ไม่ต้องกลัว กกต.จะไปกลั่นแกล้งหรือไปให้ร้าย ถ้าไม่ได้กระทำความผิด เชื่อมั่นใน กกต.ได้ เราไม่ลงโทษ แต่ถ้ากระทำความผิดเราลงโทษแน่" นายฐิติเชฏฐ์กล่าว

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ อ่านซองใส่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ออกถึง 3 แสนใบ ทำให้การคัดแยกและการจัดส่งล่าช้าว่า จริงๆ แล้วตั้งแต่วันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. และเกิดปัญหาเรื่องการจ่าหน้าซองไม่ครบถ้วน  หลังปิดการลงคะแนน ก็ได้มีการซักซ้อมว่าให้ กปน.มีการกรอกข้อความที่หน้าซองให้ไปรษณีย์ สามารถส่งได้ทุกซอง เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการคัดแยกเห็นว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาล่าช้า จึงตั้งชุดวินิจฉัยบัตรว่าจะส่งไปใดขึ้นอีก 1 ชุด  ตนในฐานะดูแลรับผิดชอบมีการประสานงานกับไปรษณีย์และเจ้าหน้าที่กกต.ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยบัตรตลอด 24 ชม. ว่าแต่ละวันมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ซึ่งได้รับรายงานทุกวันว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ตามไทม์ไลน์

 “จ่าหน้าซองที่บอกว่าอ่านไม่ออก น่าจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าท่านพูดเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงคือจ่าหน้าซองอ่านออก แต่อาจมีข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่นที่พบบางซองในส่วนจังหวัดก็เขียนเป็นตัวย่อมา ก็ต้องมาเทียบเคียงว่าคือจังหวัดอะไร หรือเขตเลือกตั้งมีทั้งกรอกข้อมูลผิดและไม่กรอกเลย เช่นที่เกิดที่ จ.นนทบุรี หรือชุดที่ดูแลการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าชุดนั้นดูแล 6 เขต ก็อาจจะเอาตรงนี้ไปเขียนเป็นเขตเลือกตั้ง  ขณะที่แถวสุดท้ายคือรหัสเขต มีที่ไม่กรอกเลย แต่ก็มีการกรอกข้อมูลด้านบนที่พอให้รู้ว่าเป็นซองของเขตใด หรือกรอกรหัสไปรษณีย์ นี่คือสภาพที่เจอ  และเจอว่ากรอกข้อมูลครบทั้ง 3 ส่วน แต่ผิดทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้ไปรษณีย์จะไม่ทราบข้อมูล ก็ต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ กกต.วินิจฉัย เพราะไม่มั่นใจว่าคัดแยกแล้วจะส่งไปที่ไหน ดังนั้นคำว่าอ่านไม่ออก จึงหมายความแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วอ่านลายมือไม่ออก" นายแสวงกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง