ทำผิดกม.เลือกตั้ง38รายฉีกบัตร26!

กกต.พอใจภาพรวมเลือกตั้งเรียบร้อย ประชาชนใช้สิทธิคึกคักหนาแน่น รับเจอปัญหา กปน.ทำบัตรชำรุดเอง สั่งเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ทันทีหลังเซลฟีคนดัง ร้องเรียนพุ่งแตะเกือบ 200 เรื่อง ศลต.ตร.พบทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 38 ราย ฉีกบัตรเลือกตั้งทั่วประเทศ 26 คน ส่วนใหญ่คนแก่-ป่วย-เมา ดำเนินคดีซื้อเสียงแล้ว 4 ราย

เมื่อวันที่​ 14 พฤษภาคม เวลา 08.00 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป ณ หน่วยเลือกตั้งที่ 25-27 บริเวณหน่วยเลือกตั้งโรงเรียนสวนบัว ซอยราชครู เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และกำชับให้ปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน นายอิทธิพรยังได้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งที่ 26 แขวงพญาไท เขตพญาไท ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนสวนบัว ทั้งนี้ ระหว่างต่อแถวรอเข้าคิวเพื่อใช้สิทธิลงคะแนน นายอิทธิพรได้ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนด้วยการจัดระเบียบแถวและช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เดินทางออกมาใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งที่ 26 ด้วย

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เวลา 14.00 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงว่า ภาพรวมการลงคะแนนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บางพื้นที่ฝนตก แต่ไม่ส่งผลกระทบ สิ่งที่พบคือประชาชนตื่นตัวออกไปใช้สิทธิอย่างคึกคักหนาแน่น บางหน่วยต้องต่อคิวเพื่อเข้าไปลงคะแนน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าพบว่าผิดพลาดจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย​ (กปน.)​ ในหลายหน่วย​  โดยเหตุ​การณ์​ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์​มากที่สุด​คือบัตรฉีกขาด ทั้งจากกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และจาก กปน. โดยมี​เจ้าหน้าที่ฉีกบัตรไม่ตรงตามรอยประ ส่งผลให้บัตรขาดเป็น 2 ส่วน ซึ่ง กปน.มีการซ่อมบัตรและให้ประชาชนนำไปลงคะแนน และหย่อนบัตรลงใส่หีบแล้ว แต่ตามหลักปฏิบัติ หากเกิดกรณีเช่นนี้ สิ่งที่ กปน.ต้องปฏิบัติคือ นำบัตรนั้นติดกับต้นขั้วเดิม จัดทำบันทึกเหตุการณ์ แล้วเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งในลำดับถัดไปให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำไปลงคะแนน ซึ่งกรณีนี้ กกต.จะมีการประชุมด่วนในเวลา 16.00 น. เพื่อพิจารณาว่าบัตรลงคะแนนที่ กปน.ทำขาด แล้วซ่อมให้ผู้มีสิทธินำไปลงคะแนนนั้น จะถือเป็นไปโดยการเลือกตั้งโดยตรงและลับหรือไม่ และเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

​ ส่วนการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งพบว่า มีเหตุการณ์ฉีกบัตร 13 ราย ซึ่งดูตามรายงานตั้งแต่ต้นพบว่าเป็นบุคคลที่เป็นอัลไซเมอร์และบุคคลปกติ โดยต้องดูข้อเท็จจริง แต่ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังพบการทำผิดกรณีจำหน่ายสุรา 3 ราย และถ่ายรูปบัตร 1 ราย สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ กปน. ถ่ายรูปกับผู้มีชื่อเสียงในคูหาเลือกตั้งนั้น ได้รับรายงานว่าได้ให้ กปน.คนนั้นยุติการทำงานทันที และให้ กปน.คนอื่นมาปฏิบัติงานแทน

ร้องเรียนซื้อเสียงน้อยลง

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 163 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการซื้อสิทธิขายเสียง ให้ทรัพย์สิน หลอกลวงใส่ร้าย ในจำนวนพอๆ กัน โดยพื้นที่ กทม.มากที่สุด เนื่องจากมีจำนวนเขตเยอะ อย่างไรก็ตามเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ถือว่าน้อย ซึ่งอาจเกิดจากการกดดันป้องปรามของสำนักงาน กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบางส่วนที่สามารถจับกุมได้ต้องรอดูผลการสืบสวน ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เมื่อถามถึงกรณีมีการไลฟ์สดของสื่อออนไลน์ และมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นโดยระบุชื่อพรรค หมายเลขผู้สมัคร  จะเข้าข่ายว่าเป็นความผิดหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า โดยหลักแล้วกฎหมายห้ามหาเสียง ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่กระทำเข้าองค์ประกอบของการหาเสียงหรือไม่ จะต้องดูเป็นรายๆ ไป แต่สื่อซึ่งเป็นผู้ที่ทำการไลฟ์สดนั้น ควรต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว เพราะการแสดงความคิดเห็นบางครั้งเสี่ยงว่าจะเป็นการหาเสียงได้ ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง

สำหรับกรณีหน่วยเลือกตั้งที่ 39 เขต 18 มีนบุรี กรุงเทพฯ พบว่าเจ้าหน้าที่ กปน.ได้จัดหีบบัตรเลือกตั้งไว้ให้ประชาชนสำหรับหย่อนบัตรที่ลงคะแนนแล้วเพียงใบเดียวนั้น นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กรณีเช่นนี้ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่จะเสียเวลาในการคัดแยกก่อนนับคะแนน

วันเดียวกัน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้ง 5 หน่วยเลือกตั้งที่ 10 โรงเรียนวัดสามัคคีธรรม ซอยลาดพร้าว 80 แยก 14 แขวงและเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางไปตรวจจุดหน่วยเลือกตั้งที่เต็นท์บริเวณลานจอดรถด้านหน้ามูลนิธิโพธิภาวนาสงเคราะห์ สะพานใหม่ ในพื้นที่ สน.บางเขน ซึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมากถึง 10,043 คน เป็น 1 ใน 5 แห่งที่มีประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก จากนั้น ผบ.ตร. พร้อม พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. เดินทางไปกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อตรวจสภาพการจราจร โดยมี พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. บรรยายสรุปการจราจรในภาพรวมในภารกิจเลือกตั้ง

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุม ศลต.ตร. ว่า หลังจากเปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 08.00 น. มีการรายงานจากทั่วประเทศว่าการเปิดหีบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งการจราจรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ผอ.ศลต.ตร. ได้กำชับไว้หลายกรณี และให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยครั้งนี้ตำรวจทุกนายมีความตื่นตัว อีกทั้งผู้บังคับบัญชาได้ลงพื้นที่ออกตรวจพื้นที่ และกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด

โดยภาพรวมการเลือกตั้งในขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไร ส่วนในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง ทาง ตร.ได้มีการเน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว และยังไม่มีปัญหาที่ส่งผลกระทบกับการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการกระทำความผิด ขณะนี้พบว่าเป็นการทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การทำลายป้ายหาเสียง การขายสุรา เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ติดตามข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ที่มีข้อมูลหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการจราจรติดขัด เช่น ถนนมิตรภาพขาเข้า จ.นครราชสีมา ซอยลาดพร้าว 64 ถนนราชดำเนิน ถนนราชพฤกษ์ และประสานให้ตำรวจในพื้นที่เข้าไปบริการจัดการคลี่คลายแก้ปัญหาจราจร ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ทันท่วงที

ด้าน พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าไปสอดส่องดูแลความเรียบร้อย รวมทั้งประสานหน่วยข้าราชการอื่นเข้าไปอำนวยวามสะดวกแทน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะทั่วประเทศมีการหน่วยเลือกตั้งกว่า 90,000 หน่วย และใช้กำลังตำรวจกว่า 150,000 นาย

ทำผิด กม.เลือกตั้ง 38 ราย

ต่อมา พล.ต.อ.รอย ในฐานะ ผอ.ศลต.ตร. เป็นประธานการประชุมสรุปผลการปฏิบัติในการเลือกตั้ง โดยสถานการณ์ภาพรวมทั่วประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

จากนั้นเวลา 18.00 น. พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษก ศลต.ตร. เปิดเผยภายหลังปิดหีบเลือกตั้งว่า จากการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2566 ต่อเนื่องจนตลอดทั้งวัน พบว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงทั้งสิ้น 8 ราย โดยพบพยานหลักฐานชัดเจนและดำเนินคดีไปแล้ว 4 ราย ส่วนอีก 4 ราย อยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งซึ่งกันและกัน โดย 8 จังหวัด ประกอบด้วย บึงกาฬ   พระนครศรีอยุธยา พิจิตร สงขลา นครพนม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา

โฆษก ศลต.ตร.กล่าวว่า มีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 38 ราย เป็นการฉีกบัตรเลือกตั้ง 26 ราย ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง 4 ราย นำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้ง 1 ราย จำหน่ายสุราในเวลาต้องห้าม 7 ราย และพบการทำลายป้ายหาเสียงกว่า 1,000 ป้าย อย่างไรก็ตาม กรณีการฉีกบัตรเลือกตั้ง ส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้สูงอายุ บางรายเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ บางรายเมาสุรา หรือมีอุบัติเหตุหกล้มในคูหาเลือกตั้งจนบัตรฉีกขาด อีกรายเกิดจากการลงคะแนนผิดจึงฉีกบัตรเพื่อขอบัตรใหม่ ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ตำรวจต้องทำการสอบสวนถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่จากการสอบสวนผู้กระทำผิด ยังไม่พบว่าเป็นการตั้งใจก่อเหตุเพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง

สำหรับด้านการจราจร พล.ต.ท.นิธิธรกล่าวว่า ช่วงเช้ารถค่อนข้างติด เนื่องจากประชาชนมารอใช้สิทธิตั้งแต่เช้า พบจุดรถติดขัด 6 จุด แต่สามารถเข้าคลี่คลายปัญหาการจราจรได้โดยเร็ว ส่วนกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องการกระทำความผิดเรื่องกฎหมายเลือกตั้งผ่านนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ทางตำรวจได้ติดตามดู จะนำข้อมูลเหล่านี้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ให้ตำรวจท้องที่ทำการสืบสวนสอบสวน ซึ่งขณะนี้ยังถือว่าเป็นข้อมูลด้านเดียวอยู่ และทราบว่ามีเรื่องร้องเรียนตรงไปที่ กกต.จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องประสานข้อมูลเพื่อทำการตรวจสอบต่อไป

พล.ต.ท.นิธิธรกล่าวด้วยว่า ศลต.ตร. จะเปิดไปจนถึงวันที่ 17 พ.ค.นี้ ยังมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การดูแลการนับคะแนนเสียง การขนหีบบัตร รวมถึงการป้องกันเหตุกระทบกระทั่ง โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดที่มีการแข่งขันกันสูง และเคยมีคดียิงกันหลังการนับคะแนน ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และราชบุรี นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอีก 20 จังหวัดทั่วประเทศ

ส่วนเรื่องของมือปืนรับจ้าง ที่มักจะก่อเหตุในช่วงก่อนการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง ปัจจุบันพบว่าน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากก่อเหตุยากขึ้น รวมทั้งทางตำรวจมีข้อมูลและดำเนินการตรวจกวาดล้างอาวุธปืนและการทำผิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยิ่งก่อนเลือกตั้งและคืนหมาหอน ที่มีการตั้งด่านจุดตรวจ ตามพื้นที่เสี่ยง จึงทำให้ไม่มีการก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวเหมือนเช่นในอดีต และทำให้ทางตำรวจทำงานง่ายขึ้น

ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 2 ต.บ้านเป็ด อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.30 น. มีชายเสพยาเสพติดแล้วมีอาการทางจิตมาป่วนที่หน่วยเลือกตั้ง โดยจะมาขอใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต เนื่องจากไม่มีรายชื่อในหน่วยเลือกตั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยจึงได้ควบคุมตัวไปสงบสติอารมณ์ พร้อมประสาน พ.ต.อ.ณชรต แก้วเพชร ผกก.สภ.บ้านเป็ด และ พ.ต.ท.จิตภาคิน พันธุ์เชื้อ สวป.สภ.บ้านเป็ด มาทำการตรวจสอบและนำตัวชายคนดังกล่าวไปควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายภายในหน่วยเลือกตั้ง

 ที่ จ.ภูเก็ต นายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง ในฐานะประธาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 3 เผยว่า กรณีมีการฉีกบัตรเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งที่ 15 โรงเรียนวัดศรีสุนทรอำเภอถลาง เขตเลือกตั้งที่ 3 จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่าเป็นผู้สูงอายุ 78 ปี เพศชาย เดินเข้าไปในหน่วยเลือกตั้งรับบัตรทั้ง 2 ใบ ใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย และฉีกตามรอยปรุแนวดิ่งของกระดาษลงมา โดยญาติให้การกับตำรวจว่า ผู้ที่กระทำความผิดฉีกบัตรเลือกตั้งมีอาการทางสมอง เป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ก่อนจะเข้าไปใช้สิทธิได้ยินญาติสอนบุตรหลานเรื่องการฉีกกระดาษ เมื่อเข้าไปใช้สิทธิจึงเข้าใจว่าต้องฉีกกระดาษ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง