โยนก.ก.ตั้งรัฐบาลเอง พท.พร้อมร่วมแค่สนับสนุน สว.ขู่แก้ม.112‘พิธา’ถูกคว่ำ!

กกต.แจงผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ “ก้าวไกล” ครองอันดับหนึ่ง มี 17 พรรคการเมืองได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ “พิธา” แถลงทันทีพร้อมเป็นนายกฯ จับมืออีก 5 พรรคเป็นรัฐบาล 309 เสียง แดดดี้ทิมลั่นพร้อมนั่งควบ รมว.กห. ส่วนเรื่อง ม.112 ยังกั๊กว่ายกเลิกหรือแก้ไข แต่ที่แน่ๆ เตรียมนิรโทษกรรม! “อุ๊งอิ๊ง” รับเสียใจเป็นที่สอง แต่เป็นนักกีฬารู้แพ้รู้ชนะ พร้อมร่วมรัฐบาลแต่ ก.ก.ต้องดำเนินการเอง พท.เป็นแค่ฝ่ายสนับสนุน ธนกรปูด “พี่ตู่” ส่อเค้าวางมือ แต่เชื่ออยู่ในใจคนไทย “ส.ว." ฮึ่ม! แตะมาตรา 112 ชื่อพิธาอาจถูกคว่ำ

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด คือ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 112 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทย (พท.) 112 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 68 ที่นั่ง, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 39 ที่นั่ง, พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 23 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 22 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 9 ที่นั่ง, พรรคประชาชาติ (ปช.) 7 ที่นั่ง, พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 5 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง และพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 1 ที่นั่ง

สำหรับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีพรรคการเมืองที่ได้เก้าอี้ไปทั้งหมด 17 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ก.ก.  39 ที่นั่ง, พท. 29 ที่นั่ง, รทสช. 13 ที่นั่ง, ภท. 3 ที่นั่ง, ปชป. 3 ที่นั่ง, ปช.  2 ที่นั่ง, พปชร. 1 ที่นั่ง, เสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง, ทสท. 1 ที่นั่ง, ประชาธิปไตยใหม่ 1 ที่นั่ง, พรรคใหม่ 1 ที่นั่ง, ชพก. 1 ที่นั่ง, ท้องถิ่นไทย 1 ที่นั่ง, เป็นธรรม 1 ที่นั่ง, ชทพ. 1 ที่นั่ง, พลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง และครูไทยเพื่อประชาชน 1 ที่นั่ง

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก.แถลงภายหลังรับทราบผลชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ว่า ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ขณะนี้เป็นที่ประจักษ์พรรค ก.ก.ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล น้อมรับฉันทามติของประชาชนพลิกขั้วจากฝ่ายค้านมาจัดตั้งรัฐบาล พร้อมเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน รับฟังความเห็นแตกต่าง คืนศรัทธาให้ระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา สร้างความโปร่งใสให้การเมืองไทย

นายพิธากล่าวอีกว่า ได้โทรศัพท์ไปหาแกนนำ 5 พรรค โดยได้โทรศัพท์ไปหา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย แสดงความยินที่มีความมุ่งมั่นหาเสียง พร้อมเชิญชวนร่วมตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย ซึ่ง 5 พรรคที่พูดถึงมีก้าวไกล, เพื่อไทย, ไทยสร้างไทย, ประชาชาติ และเสรีรวมไทย รวม 308 เสียง และกำลังติดต่อไปยังพรรคเป็นธรรม ที่เราเห็นความตั้งใจทำงานเรื่องความสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมเป็น 309 เสียง เพียงพอตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ปิดประตูตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย 

“5 พรรคพร้อมพูดคุยในรายละเอียด ทั้งเรื่องคน นโยบาย แผนการทำงาน และจำเป็นต้องทำเอ็มโอยูเหมือนกับสากล ให้ประชาชนเห็นได้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย 100 วัน และ 1 ปีจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และระหว่างนี้จะจัดตั้งทีมงานเจรจาจัดตั้งรัฐบาล นำโรดแมปที่สัญญากับประชาชนมาปฏิบัติ ทำประชามติให้มีส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และเกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และจะเดินสายพบประชาชน ข้าราชการ ภาคธุรกิจ จะดำเนินการหลังจากนี้ พร้อมเดินหน้าทำความเข้าใจกับคนที่เห็นต่างกับพรรค จะตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด ไม่ให้มีสุญญากาศทางการเมือง เศรษฐกิจ ขอให้มั่นใจการทำงานพรรคก้าวไกล จะทำงานอย่างละเอียด รวดเร็ว” นายพิธากล่าว

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลกังวลเสียง ส.ว.จะไม่โหวตสนับสนุนให้ครบ 376 เสียงหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเป็นฉันทามติประชาชน การฝืนประชามติประชาชนไม่มีประโยชน์กับฝ่ายใด รวมถึง ส.ว. ท่าที ส.ว.แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เมื่อฉันทามติประชาชนมาแล้ว ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ การฝืนฉันทามติประชาชนไม่เป็นประโยชน์กับใคร

แดดดี้ทิมพร้อมควบ รมว.กห.

ถามว่า เหตุใดไม่นำพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลด้วยเพื่อความเด็ดขาดในการปิดสวิตช์ ส.ว. นายพิธากล่าวว่า ไม่จำเป็น การที่ขั้วฝ่ายค้านตั้งรัฐบาลกว่า 300 เสียงไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เชื่อว่าไม่มีใครกล้าฝืนฉันทามติประชาชน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ได้โทร.มาหา

เมื่อถามถึงตำแหน่ง รมว.กลาโหมจะเป็นของใคร ระหว่างพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย นายพิธากล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ไม่ได้อยู่ที่กระทรวง จะใช้เรื่องนี้เป็นตัวเจรจา ซึ่งพร้อมนั่งเป็นนายกฯ หรือถ้าจำเป็นนั่งควบในกระทรวงต่างๆ ก็พร้อมควบทุกตำแหน่ง แต่ถ้ามีคนเหมาะสมก็ไม่มีปัญหา

ถามต่อว่า ได้พูดคุยเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับพรรค พท.หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า จุดยืนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ขณะนี้ทุกเรื่องยังไม่คุยในรายละเอียดกับแต่ละพรรค แต่เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 สามารถทำได้ในสภา ตอนนี้พรรคก้าวไกลมี 151 เสียง ถือว่าเกินที่สามารถเสนอได้ โดยใช้สภาเป็นตัวแก้ไข พูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะและละเมียดละไม แต่ที่มากกว่าการแก้ไขคือ ทบทวนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมืองทั้งหมด และโอกาสนิรโทษกรรม เพราะเป็นห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กับสถาบัน ถ้าไม่รีบพูดคุย อาจเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของการเมืองไทยที่ไม่อยากเห็น

ผู้สื่อข่าวถามทิ้งท้ายว่า กังวลเรื่องคดีการถือหุ้นสื่อที่อยู่ใน กกต.หรือไม่ นายพิธาย้ำว่า ไม่กังวล พร้อมชี้แจงต่อ กกต. ขอเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า ยินดีกับพรรคก้าวไกล และยินดีที่จะให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนจะร่วมมือกันอย่างไรนั้น ในฐานะพรรคอันดับรองก็ต้องฟังเสียงของพรรคอันดับหนึ่ง ว่าจะมีท่าทีทิศทางอย่างไร ส่วนเรื่องการลงนามเอ็มโอยูนั้นก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยว่า หากร่วมกันทำงานแล้วจะทำอะไรได้บ้าง แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบเนื้อหาว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง อาจยังตอบไม่ได้ถึงการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นที่ทราบจะเน้นไปทางการทำงานตามนโยบาย

เมื่อถามอีกว่า หากลงนามเอ็มโอยูไม่ได้ พรรคพร้อมเป็นฝ่ายค้านอีกหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด ตอนนี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เมื่อประชาชนมอบคะแนนให้ฝ่ายประชาธิปไตยท่วมท้นแบบนี้ เจตจำนงคงต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามาทำงานเป็นรัฐบาล สิ่งนี้สำคัญกว่าจะมาคิดว่าตัวเองจะต้องเป็นอะไร ไม่ใช่ว่าพอไปด้วยกันไม่ได้แล้วต้องมาเป็นฝ่ายค้าน 

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ กล่าวว่า ต้องขอแสดงความยินดีกับนายพิธาที่พรรค ก.ก.ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 สะท้อนให้เห็นว่าคะแนนเสียงของฝั่งประชาธิปไตยเป็นผู้ชนะ ส่วนจุดยืนของตนนั้นได้ก้าวเข้ามาจากภาคธุรกิจ โดยมีจุดประสงค์ที่อยากจะช่วยเหลือประเทศชาติ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นนายกฯ ส.ส. หรือตำแหน่งสำคัญอะไร เพราะยังมีอีกหลายอาชีพที่สามารถช่วยเหลือประเทศชาติได้ ย้ำว่าต้องยอมรับกติกาและเสียงของประชาชน ซึ่งขณะก็สบายใจขึ้นและดีใจ

ต่อมาในช่วงบ่ายหลังพรรค พท.ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค นพ.ชลน่านได้อ่านคำแถลงการณ์ของพรรคตอนหนึ่งระบุว่า โดยกติกาประชาธิปไตย และโดยสัญญาประชาคมที่พรรคได้เคยแถลงต่อพี่น้องประชาชนไว้ พรรคขอแสดงความยินดี และยอมรับที่พรรคก้าวไกลเสนอตัวเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเห็นด้วยที่พรรค ก.ก.จะเชิญพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลตามที่หัวหน้าพรรค ก.ก.ได้แถลงไว้ พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่าไม่มีแนวความคิดจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรค ก.ก. พรรคเห็นว่าในการจัดตั้งรัฐบาล ประเด็นในการหารือและกระบวนการต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของพรรค ก.ก.เป็นฝ่ายดำเนินการ            

ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ กล่าวว่า ได้ฟังคำแถลงจากนายพิธาและได้คุยโทรศัพท์แล้ว แต่ยังไม่ได้คุยรายละเอียดใดๆ แค่แสดงความยินดีต่อกัน ซึ่งก็สนับสนุนพรรค ก.ก.ที่ได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนในเชิงรายละเอียด นโยบาย และข้อตกลงต่างๆ จะส่งตัวแทนไปร่วมพูดคุยผ่าน กก.บห.พิจารณา ส่วนการโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่นั้น เมื่อพรรค ก.ก.ได้คะแนนอันดับ 1 เราเคารพเสียงของประชาชน

เมื่อถามถึงท่าทีต่อมาตรา 112 น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เรามีจุดยืนที่มั่นคงว่าไม่สนับสนุนให้ยกเลิก แต่พูดคุยในสภาได้ ส่วนเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่มีน้องติดคุก เราพร้อมพูดคุย ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังไม่ได้พูดคุยอะไร เป็นการคุยแบบเช็กมู้ดกันเท่านั้น ส่วนรายละเอียดหรือเงื่อนไขการเข้าร่วมของพรรค พท.นั้นมีในใจบ้าง แต่ต้องขอคุยกันในพรรค พท.ก่อนเพื่อให้เห็นตรงกัน

ย้ำแม้วยังกลับ ก.ค.

 “เมื่อเช้าเราพูดคุยกัน 3-4 นาที คุณพิธาเป็นคนโทร.มา เราต่างแสดงความยินดีซึ่งกันและกัน ส่วนรายละเอียดต่างๆ ในการเข้าร่วมรัฐบาลจะพูดคุยกันอีกครั้ง" น.ส.แพทองธารกล่าวและว่า การเลือกตั้งก็เหมือนกีฬา มีผู้แพ้ผู้ชนะ และผู้ที่แพ้หรืออันดับ 2 ก็ต้องผิดหวังบ้าง ซึ่งเราคิดไว้ว่าจะเป็นอันดับ 1 แต่เราก็ยอมรับ เพราะเป็นน้ำใจนักกีฬา เมื่อพรรคก้าวไกลได้อันดับ 1 เราแสดงความยินดีด้วย แล้วเราก็เชียร์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อประเทศชาติ ที่จะไปต่อได้ ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของการเมือง ทุกคนต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

เมื่อถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะยังกลับประเทศไทยในเดือน ก.ค.หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ได้เรียนชัดเจนไปตั้งแต่แรกว่าการกลับมาของนายทักษิณไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค ถ้านายทักษิณยังไม่ประกาศเลื่อนวันก็ยังคงเป็นวันเดิม คือเดือน ก.ค. แต่จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอย่างไร ถ้านายทักษิณได้ออกมาพูดก็ตามนั้น

ส่วน นพ.ชลน่านกล่าวถึงระยะเวลาจัดตั้งรัฐบาลว่า เป็นหน้าที่ดำเนินการของพรรคแกนนำ เรายินดีและพร้อมเป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น ส่วนจำนวน 309 เสียงนั้นถือว่าเข้มแข็ง แต่การจะโหวตนายกฯ ได้หรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามกฎหมาย คือต้องไปเลือกในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป เราจำเป็นต้องอาศัยเสียงดังกล่าว

เมื่อถามว่า พรรค ภท.จะเป็นอีกหนึ่งพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของพรรคแกนนำดำเนินการ เราไม่ก้าวล่วง และเมื่อถามถึงเงื่อนไขของพรรค พท.ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค ก.ก. นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรายังไม่สรุปจบว่าต้องใช้เวลาเท่าไร ในส่วนของพรรคต้องฟังแกนนำว่าจะกำหนดประเด็นข้อหารืออย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีใครได้เห็นเอ็มโอยูของพรรค ก.ก. แต่ก็หวังว่าจะจบด้วยดี มุ่งหวังให้เป็นไปตามความต้องการของพี่น้องประชาชน

ถามว่า หากพรรค ก.ก.ไม่สามารถทำภารกิจจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ มีโอกาสที่จะถูกโดดเดี่ยวหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า อย่าไปคาดการณ์อย่างนั้น ภารกิจขนาดนี้ ถ้าเรายินดีจะช่วยเขาหรือสนับสนุน เขาต้องทำภาระหน้าที่ให้ถึงที่สุด ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นไม่ควรไปคิดตรงนั้น ต้องทำภารกิจเบื้องต้นให้สำเร็จให้ได้

ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ขอบคุณพรรคก้าวไกลที่เชิญร่วมรัฐบาล ยินดีที่ร่วมรัฐบาลที่มีอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย และมีนโยบายที่ตรงกันในหลายด้าน เชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนร่วมกันต่อไป"

‘ธนกร’ คาดพี่ตู่วางมือ

ด้านความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคต่างๆ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรค รทสช. วันนี้สวมชุดข้าราชการสีกากีเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ ในขณะบรรยากาศพรรคยังคงเงียบเหงา โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงกรณีพรรค รทสช.ไม่ได้เป็นรัฐบาล แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะทำงานต่อหรือไม่ว่า คิดว่าท่านอาจต้องพอแล้ว คิดว่าท่านก็ทำเพื่อประเทศชาติมาทั้งชีวิตแล้ว และวันนี้ท่านก็ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ 7-8 ปีที่เป็นนายกฯ เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศก็รู้ว่าท่านนายกฯ ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศมามากมาย และไม่มีเรื่องเสียหายหรือเรื่องคอร์รัปชันกับตัวท่านเลย และเชื่อว่าอย่างน้อย พล.อ.ประยุทธ์หรือลุงตู่จะยังอยู่ในใจคนไทยไปอีกยาวนาน

“วันนี้ผมให้กำลังใจท่านดีกว่า ไม่ได้รู้สึกว่าเราพ่ายแพ้แล้วจะเป็นอะไร การเมืองก็เป็นอย่างนี้ เราก็ทำหน้าที่อย่างเห็นได้ในการช่วยเหลือประชาชน แต่การเมืองมันเปลี่ยน และคิดว่าในอนาคตถ้าพรรคการเมืองจะทำการเมืองก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน การเมืองแบบเก่ามากเกินไปก็ไปยาก มันจะต้องผสมผสานระหว่างคนทุกรุ่นเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนใหม่” นายธนกรกล่าว

นายวราเทพ รัตนากร กรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. กล่าวว่า พรรคจะมีการหารือกันในวันที่ 16 พ.ค.นี้  โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคยังไม่ได้ให้แนวทางอะไร คงให้เวลาแต่ละคนไปวิเคราะห์ในพื้นที่ตัวเอง

เมื่อถามว่า ที่พรรค ก.ก.ออกมาแถลงจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านเดิมเร็วเกินไปหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ปกติหลังผลคะแนนออกต้องมีท่าทีของพรรคที่เป็นแกนหลักที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ถือว่าเร็วเกินไป แต่ด้วยกติกาที่เป็นการเลือกนายกฯ รูปแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งตรงนี้มีสัดส่วนของ ส.ว.ด้วย

“เข้าใจว่าคนอยากเห็นรัฐบาลเร็วๆ ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุดที่จะดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนมีอยู่แล้ว ถ้าเขาสามารถพูดคุยกันได้ก็ชัดเจน แต่ถ้ายังไม่ได้ก็มีเวลาอยู่ เพราะกฎหมายให้เวลาพอสมควร 60 วัน และอยู่ที่แต่ละพื้นที่ด้วยว่าจะมีการร้องเรียนกันหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะของการรับรองเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อครบ 95% ถึงจะเปิดสภาได้ แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน” นายวราเทพระบุ 

ภท.ปัดข่าวร่วมรัฐบาลใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กล่าวถึงกระแสข่าวไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค ก.ก.ว่า ไม่รู้แกนนำคนไหน เท่าที่ตรวจสอบไม่มีใครให้ข่าวเรื่องดังกล่าว ในขณะที่บรรยากาศที่พรรค ภท.นั้นยังคงเงียบเหงา รวมทั้งนายอนุทินยังได้งดการไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2566 ด้วย

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แบบแลนด์สไลด์อย่างท่วมท้นทั่ว กทม.และทั่วประเทศ ขอให้พรรคก้าวไกล เดินหน้าทำงานตามที่สัญญาไว้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมืองโดยรวมต่อไป

ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรค ชทพ.กล่าวถึงกรณีพรรค ก.ก.จะจับมือกับพรรคฝ่ายค้านเดิมจัดตั้งรัฐบาลว่า สามารถทำได้ เพราะเฉพาะพรรคก้าวไกลรวมกับพรรคเพื่อไทยก็ได้ ส.ส.เกือบ 300 เสียงแล้ว ทั้งนี้ยืนยันมาตลอดว่าพรรคไม่ได้จ้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น หากจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านสามารถทำได้ และไม่น่าจะเกิดเดดล็อกการเมือง

สำหรับท่าทีของสมาชิกวุฒิสภานั้น นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯ ว่า ได้กล่าวคำปฏิญาณตนตอนเข้ารับหน้าที่เป็น ส.ว.ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งพรรคก้าวไกลและนายพิธาได้เคยประกาศในการเลิกมาตรา 112 ซึ่งกระทบกระเทือนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ด้อยค่าสถาบัน ที่เรารับไม่ได้

 “ผมไม่เห็นชอบ แม้เขาจะรวมเสียง ส.ส.มาได้เท่าไหร่ก็ตาม จะเป็น 309 เสียงอย่างที่แถลงไว้ หรือจะไปถึง 376 เสียงก็แล้วแต่ ซึ่งหากได้ถึง 376 ก็ไม่ต้องมาพึ่ง ส.ว. แต่หากได้มาสัก 309 เสียงก็ต้องถาม ส.ว. ซึ่งส่วนตัวถ้าเสนอชื่อเป็นนายพิธา ผมไม่รับ จะลงมติไม่เห็นชอบ เพราะผมจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและคำปฏิญาณ" นายจเด็จกล่าว

ส.ว.ตั้งท่ายี้พรรคแก้ ม.112

เมื่อถามว่า หากนายพิธาบอกว่าจะไม่เอาเรื่องแก้ 112 มาเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา นายจเด็จกล่าวว่า ถ้าแบบนั้นค่อยว่ากันอีกที แต่เขาจะกลืนคำพูดกลับกลอกถึงขนาดนั้นหรือ ถ้าจะมาบอกว่าไม่ได้ยกเลิกแต่จะมาปฏิรูป ดูเหมือนจะสับสนคำว่าปฏิรูปกับคำว่าล้มล้างอยู่ตลอดเวลา หากนายพิธาจะมาให้เหตุผลใหม่เรื่อง 112 ก็ต้องฟังว่าให้เหตุผลอย่างไร แต่ถ้ายังเหมือนเดิมก็ลงมติไม่เห็นชอบ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวประเด็นนี้ว่า ต้องดูอีกทีในเรื่องมาตรา 112  เพราะตอนที่เขาพูดหาเสียงก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่หลังจากนี้จะยืนยันเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิก 112 อีกหรือไม่ ต้องให้เขาพูดมาให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือเรื่องของเจตนาที่จะทำอะไรกับเรื่องเหล่านี้ ก็ต้องดูความชัดเจนว่าเขาจะยืนยันเรื่องนี้หรือไม่

 “หากเขายืนยันว่าจะแก้ไข ผมก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะมันสร้างความร้าวฉานให้คนในชาติ  ก็ต้องดูเขาอีกที ว่าหลังจากที่ได้รับการเสนอชื่อจะมีเรื่องเหล่านี้อยู่หรือไม่ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะบอกหรือไม่บอก แต่ต้องดูเจตนาที่เขาจะแสดงออก จะเป็นนโยบายหรือไม่ จะมีเรื่องเหล่านี้หรือไม่" นายเสรีกล่าว

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. กล่าวว่า หากฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง จะโหวตให้ฝ่ายนั้นเป็นนายกฯ แม้จะเป็นคนพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็พร้อมโหวตให้ แต่ ส.ว.คนอื่นไม่กล้าการันตีจะคิดแบบเดียวกันหรือไม่ 

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ขณะนี้ขอรอดูการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อน ยังไม่ถึงขั้นตอนของ ส.ว. ถ้าตั้งรัฐบาลได้แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกฯ ไม่ใช่หน้าที่ ส.ว.  การที่นายพิธาระบุจะตั้งรัฐบาล 309 เสียงนั้น ต้องรอให้ถึงเวลาพิจารณาก่อน ขั้นแรก ส.ส.ต้องไปรวมให้ได้มากกว่า 250 เสียงก่อน เมื่อมาถึงขั้นตอนเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ส.ว.จะพิจารณาคุณสมบัติคนเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบื้องต้นจะต้องมีคุณสมบัติจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นหลัก ถ้าใครมีคุณสมบัติจุดนี้ ส.ว.จะพิจารณา

“กรณีนายพิธานั้น กกต.ก็กำลังพิจารณาเรื่องร้องเรียนอยู่ ต้องรอดูผลเป็นองค์ประกอบและดูหลายปัจจัย ส่วนที่ ส.ว.อาจถูกตำหนิถ้าไม่เลือกฝ่ายที่ได้คะแนนจากประชาชน  ยืนยัน ส.ว.ไม่มีธง แต่เรามองไปไกลว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เลือกใครมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน มีความขัดแย้ง มีการเดินลงเต็มถนนอีกหรือไม่ ต้องมองหลายมิติ ขอให้ถึงเวลานั้นก่อนแล้ว ส.ว.จะตัดสินใจเพื่อบ้านเมือง”

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า แม้พรรค ก.ก.มีเสียงมาอันดับ 1 แต่ไม่ได้หมายความว่ามีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภา แต่มารยาททางการเมืองใครได้เสียงอันดับ 1 มักให้พรรคนั้นเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลก่อน พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ก็พูดเช่นนั้น หากเป็นเช่นนี้ถือเป็นภารกิจพรรคก้าวไกลจะรวมพรรคอื่นได้เกิน 251 เสียง จนกระทั่งถึง 376 หรือไม่ ก็ไม่แน่ใจว่าคนได้เสียงอันดับ 1 จะต้องเป็นรัฐบาลเสมอ ครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยมีเสียงมาอันดับ 1 แต่ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน ทั้งนี้ต้องดูว่าพรรคก้าวไกลจะไปตกลงเรื่องนโยบาย และบุคคลที่เป็นนายกฯ กับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ ถ้าพรรคก้าวไกลสามารถประสานพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่นๆ อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ก็แทบจะขาดลอย ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.แม้แต่เสียงเดียว

“อย่ามาคิดว่า ส.ว.จะโหวตให้ใครหรือไม่ เท่าที่จับตาดูเห็นว่ามี ส.ว.หลายคนประกาศชัดเจน จะไม่ดูที่เสียงข้างมากอันดับ 1 อย่างเดียว จะต้องดูคนเป็นแคนดิเดตนายกฯ นโยบายพรรคการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบการพิจารณาเลือกนายกฯ ด้วย” นายวันชัยระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง